12 ตุลาคม 2567

บันทึกประสบการณ์ : เมื่อข้าพเจ้าเป็นนิวมอเนีย … บทที่ 4

 บันทึกประสบการณ์ : เมื่อข้าพเจ้าเป็นนิวมอเนีย … บทที่ 4

ย้อนอ่านบทที่ 3 ได้ที่นี่
การรักษาโรคติดเชื้อมีองค์ประกอบสามอย่าง ปัจจัยของผู้ติดเชื้อว่าแข็งแรงไหม ภูมิคุ้มกันดีไหม ปัจจัยสิ่งแวดล้อมว่าเอื้อต่อการติดเชื้อมากเพียงใด สุดท้ายคือตัวเชื้อเองว่ารุนแรงเลวร้ายหรือไม่ อดีตเรามุ่งเน้นแต่การฆ่าตัวเชื้อ แต่เมื่อวันนี้เชื้อดื้อยากันหมด แนวทางรักษาในอนาคตจะเน้นไปที่การปรับภูมิคุ้มกันหรือเสริมพลังภูมิคุ้มกัน และการปรับสภาพแวดล้อมในตัวให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการติดเชิ้อ
ปัญหาเชื้อดื้อยาเกือบทั้งหมด เกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของพวกเรา
เชื้อแบคทีเรียที่พบจากกล้อง เป็นเชื้อแบคทีเรียกรัมบวก ติดสีม่วงเข้ม ตัวกลมคล้ายถั่วเขียวอยู่กันเป็นคู่ตุนาหงัน ภาษาทางวิทยาศาสตร์เราเรียกว่า diplococci ผมรู้จักนี่นา Streptococcus pneumoniae เชื้อก่อโรคปอดอักเสบที่พบมากสุดในผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันปกติ นึกสบายใจว่าเรายังอยู่ในกลุ่มคนส่วนใหญ่
ข้อมูลการดื้อยาของเชื้อกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้น แต่มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง กลุ่มมีโรคประจำตัวรุนแรง ผมคิดเข้าข้างตัวเองว่าตัวเองนั้น ไม่น่าจะบกพร่องด้านภูมิคุ้มกัน วัคซีนก็ไม่ขาด โอกาสจะเป็นเชื้อดื้อยาและรุนแรง จึงมีน้อยมาก ตัดสินใจใช้ยารักษาแบบ…ผู้ป่วยนอก
เมื่อผู้ป่วยรายใดเป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อ จะมีระบบคะแนนคิดความรุนแรงและแบ่งการรักษาเป็นรุนแรงในโรงพยาบาล กับไม่รุนแรงแบบไปกลับ ที่สามารถใช้ยากินได้
ผมก็เหมือนกับผู้คนทั่วไป ไม่อยากนอนโรงพยาบาล แต่ว่าผมก็มีปัจจัยที่เหนือว่าคนทั่วไปที่แอบได้เปรียบ คือ ผมสามารถติดตามอาการตัวเองได้ สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันที จึงเลือกรักษาที่บ้าน ทำกาแฟกิน ต้มจืดไข่น้ำ นั่งอ่านหนังสือ ผมชอบมากกว่านอนแกร่วอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลแน่
ยากิน cefditoren และ clarithromycin เป็นยาสองชนิดตามแนวทางการรักษาที่ผมเลือกใช้ ที่ผมเห็นว่าหากอยู่ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดด้านตัวยา การใช้ยา amoxicilin ร่วมกับ erythromycin หรือ roxithromycin ที่แพร่หลายและหาง่ายมาก ก็ใช้ได้เช่นกัน ผมไม่มีปัญหาการดูดซึมยา ไม่มีโรคประจำตัวใด จึงเลือกใช้ยาได้ตามสบาย ยาชุดนี้สบายมากขึ้นเพราะกินยาแค่เช้าเย็นพร้อมกัน สบายชีวิตมาก
ส่วนยาอื่น ยาละลายเสมหะ ยาลดอาการไอ ยาต้านการอักเสบ ผมไม่ใช้เลย อันนี้เป็นการรักษาส่วนตัวนะครับ เวลารักษาคนไข้ ผมจะถามคนไข้เสมอว่าต้องการไหม ให้ช่วยไหม ถ้าต้องการจึงจ่ายยา ส่วนตัวผมจะใช้ยาแค่ minimally essential คือ น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพราะคิดอยู่เสมอตามที่ครูบาอาจารย์สอนกันมาว่า เวลาที่ผู้ป่วยเจ็บป่วย จะต้องรับมือกับทุกข์สองประการ คือทุกข์จากโรค และทุกข์จากการรักษา แค่เจ้าปอดอักเสบก็ทำร้ายผมมาพอควรแล้ว ขอกินยาน้อย ๆ ใช้ชีวิตสบาย ๆ ดีกว่า
อาหารเย็นวันนั้นคือ โจ๊กสำเร็จรูปใส่ไข่สองฟอง กล้วยหอมหนึ่งลูก และกาแฟหนึ่งแก้ว อย่าตกใจว่านอนตอนไหน ร่างกายผมน่าจะไม่มีตัวรับคาเฟอีนไปเสียแล้ว หรือที่เรียกว่า ดื้อ นั่นเอง ถ้าหลับในร้านกาแฟหลังดื่มกาแฟได้ คงไม่น่ามีประโยชน์อันใดจากเมล็ดหอมระเหยกลิ่นกรุ่นนี้
อาการยังเท่าเดิม ก็แน่นอน เพิ่งกินยาไป และอีกอย่างนี่คือยาฆ่าเชื้อ ไม่ใช่ยาบรรเทาอาการ !!
วันสงบศึก : post apocalyse
แม้ว่าอาการจะดีขึ้น ไม่ได้แน่นจมูกและเสมหะเยอะเช่นวันแรก แต่อาการเหนื่อยยังคงอยู่ เจ็บหน้าอกยังคงอยู่ เสมหะไม่มากแต่เริ่มข้นเหนียว พร้อมกับเสียงที่เปลี่ยนจากการไออย่างต่อเนื่องรุนแรงมาหลายวัน สภาพร่างกายเช่นนี้ยากนักที่ผู้ป่วยที่ต้องการมารักษาจะเชื่อถือ ผมจึงลาหยุดเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย
หวนคิดถึงครั้งเคยป่วยเป็นหวัดครั้งหนึ่ง ที่ตัวเองไม่รู้ตัวเลย แต่คนที่บอกให้ทราบคือผู้ป่วย เมื่อผมคลำท้องผู้ป่วยรายหนึ่ง ก่อนที่จะได้รับคำตอบว่าเจ็บหรือไม่ ผู้ป่วยกลับชิงถามกลับมาก่อนเลยว่า คุณหมอมีไข้ตัวร้อนมากเลยนะครับ !!
การฟื้นฟูสภาพเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษามากครับ โดยทั่วไปจะให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่พอทำได้ให้เหมือนเดิม ผมเองก็ทำแบบนั้น ทำเหมือนเดิมอย่างนั้นรึ ได้เลย
กิจวัตรยามว่าง และเวลาที่ผมตึงเครียด ต้องใช้ความคิด สิ่งที่ผมเลือกใช้คือการทำงานบ้าน มันทำให้ใจสงบ คิดอะไรได้ดี จึงเริ่มลงมือ เปลี่ยนชุดเป็นชุดออกกำลังกาย ใส่หน้ากากอนามัย คาดกระเป๋าที่เอวเพื่อใส่โทรศัพท์และกระดาษทิชชู เลือกรายการเพลงที่จะใช้ ผมเป็นคนชอบฟังดนตรีแจ๊ส เลือกเพลงบรรเลงร่วมสมัยแล้วเริ่มงาน
คงไม่สามารถเล่ารายละเอียดในแต่ละงานได้ แต่ขอสรุปแบบนี้ ปัดฝุ่น กวาดพื้น เช็ดกระจก ล้างมุ้งลวด เช็ดพื้น ขัดห้องน้ำ เช็ดจาน ล้างรถ …โอ ทำมากกว่าตอนสบายดีเสียอีก เครียดก็แบบนี้ ต้องหาทางระบายออก
ทำแล้วเหนื่อยไหม เหนื่อยกว่าเดิม ทำแล้วไอไหม ไอเท่าเดิม มีไข้ไหม ไม่มี สั่งน้ำมูกขับเสมหะไหม ก็ขับตลอด สั่งออกตลอด
แล้วจะทำไปเพื่อเหตุใด
วันแห่งชัยชนะ : victory day
(โปรดติดตามตอนต่อไป บทส่งท้าย)
See insights and ads
Boost
All reactions:
211

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น