22 กันยายน 2567

เกาะอีสเตอร์ และยา rapamycin

 วันอาทิตย์แบบนี้ ก็ถึงเวลาชงกาแฟร้อนเข้ม ๆ มากินคู่กับครัวซองต์เนยอุ่น นั่งบนโซฟาแสนนุ่ม แล้วไปเที่ยวกับลุงหมอทัวร์แอนด์ทราเวลครับ

ปี 1492 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินทางไปทางตะวันตกและไปเจอดินแดนอเมริกา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโลกใหม่ หลังจากการสิ้นสุดของยุคมืด
โคลัมบัสไปเจอคนท้องถิ่นที่คิดว่าเป็นคนเอเชีย แต่ความจริงแล้วเป็นคนพื้นเมืองของทวีปอเมริกา ตอนนั้นโคลัมบัสเจอหมู่เกาะแถบบาฮามาสและโดมินิกัน ซึ่งเวลานั้นทวีปอเมริกาเหนือและใต้มีอารยธรรมมาอย่างยาวนานแล้ว
ตามแนวเทือกเขาแอนดีส เป็นที่อยู่ของชาวอินคา เจ้าของอารยธรรมโบราณที่เรายังไม่เข้าใจมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งการนับเวลา การทำปฏิทิน การสร้างพิรามิดบนเขาสูง พื้นที่ยาวจรดเหนือใต้กินอาณาบริเวณประเทศเปรูและชิลีในปัจจุบัน
ที่ดินแดนแห่งนี้ ชาวอินคาได้ค้นพบหลายอย่าง แต่ก็มีความลับอีกหลายอย่างที่รอการค้นพบ
การค้นพบตัวยาเพนิซิลินที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง เป็นการค้นพบที่เปลี่ยนโลกทางการแพทย์ ทำให้ ‘เทรนด์’ การคิดค้นยาปฏิชีวนะจากเชื้อราธรรมชาติ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง มีการออกเสาะแสวงหาตัวอย่างเชื้อราทั่วโลกเพื่อค้นหายาปฏิชีวนะชนิดใหม่
และดินแดนที่มีความนิยมอีกจุดคือ อเมริกาใต้นี่เอง ด้วยเหตุที่สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ยังไม่มีการค้นพบ และเดินทางได้สะดวกกว่าแอฟริกา ที่นี่เราพบเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่มีผลการยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียด้วยกัน
การค้นหาเป็นไปแบบสุ่ม แต่หลายที่ก็ค้นตามข้อสังเกต หนึ่งในข้อสังเกตคือ มีชาวพื้นเมืองที่เกาะหนึ่ง มีโรคบาดทะยักน้อยกว่าเกาะอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ชาวเกาะที่นี่เดินเท้าเปล่า กลุ่มหมู่เกาะต่าง ๆ นี้จะมีโรคบาดทะยักอยู่มาก ยกเว้นที่นี่
ดินแดนภายใต้การดูแลของประเทศชิลี เกาะมหัศจรรย์ที่พวกเราทุกคนรู้จักดี แต่ว่ารู้จักเพราะสิ่งก่อสร้างลึกลับบนเกาะนี้ นี่คือเกาะอีสเตอร์ แห่งทะเลใต้
เกาะอีสเตอร์ มีรูปสลักมนุษย์หัวโตตัวเล็ก รูปปั้นขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตามทุ่งหญ้าของเกาะและตั้งตระหง่านท้าทายนักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ รูปสลักโมอาย ที่เรารู้จักกันดี
เกาะอีสเตอร์ เป็นเกาะที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ ตามแนววงแหวนแห่งไฟของโลกที่พาดผ่านประเทศชิลี พื้นหินและก้อนหินทั่วเกาะเป็นหินภูเขาไฟสามารถสลักหินได้ง่ายกว่า ชาวโพลีชิเชียนที่เดินเรือข้ามทะเลมาที่นี่ ได้ค้นพบหินสลักง่ายนี้แล้วสลักเป็นรูปโมอาย ที่ว่ากันว่าเป็นผู้คุ้มครองเกาะ และพบมากสุดที่เกาะใหญ่ของหมู่เกาะคือเกาะอีสเตอร์ ที่ชื่ออีสเตอร์เพราะค้นพบในวันอีสเตอร์ โดยนักสำรวจชาวเนเธอร์แลนด์ Jacob Roggeveen แต่ชื่อตามที่ชาวเกาะท้องถิ่นเรียกคือ Rapa Nui หรือเกาะราปาใหญ่
ปี 1931 สองปีให้หลังการตีพิมพ์ผลงานพบยาเพนิซิลลิน นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์ก Hans Laurits Jensen ได้ออกไปเก็บตัวอย่างดินที่เกาะอีสเตอร์แห่งนี้ แต่ถามว่าเจนเซ่นทำตามสมัยนิยมการเก็บเชื้อจากดินหรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ เพราะคุณเจนเซ่นของเราเป็นลูกชาวนา ทำการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เรียนจบและทำวิจัยที่วิทยาลัย Denmark Agricultural College ทำวิจัยพืชมามากมาย สนใจเรื่องนี้อยู่แล้วและพอดีกับกระแสการค้นพบที่กำลังมาแรง
แจนเซ่นได้นำตัวอย่างกลับมาวิจัย และพบว่าแบคทีเรีย Streptomyces hygroscopicus มีสมบัติทางเคมีเรียกว่าวงแหวน macrolide lactone ที่เราเคยรู้จักกันในยาฆ่าเชื้อกลุ่มแมคโครไลด์ เช่น erythromycin, clarithromycin หรือยาตัวแรกที่สกัดออกมาได้คือ streptomycin ตามชื่อแบคทีเรีย streptomyces นี่เอง
แต่ว่าวงแหวน macrolide lactone ของแบคทีเรียที่แจนเซ่นค้นพบ กลับมีสมบัติสำคัญในการต้านเชื้อรา แต่ยังไม่ได้พัฒนาจนใช้งานได้ เมื่อทิ้งท้ายไว้เช่นนี้ ก็ต้องมีการค้นพบต่อไป
ข่าวคราวการค้นพบได้รับการเผยแพร่และตีพิมพ์ นั่นดึงดูดนักวิจัยและนายทุนมาทำการศึกษาที่ดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้และหมู่เกาะอีสเตอร์นี้
แม้ว่าเกาะนี้เป็นเกาะมหาสมบัติแห่งการค้นพบทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ว่าวิวที่สวยงามและบรรดารูปสลักโมอาย กลับเป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยว และทางรัฐบาลชิลีวางแผนที่จะสร้างท่าเรือและท่าอากาศยานเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เมื่อถึงเวลานั้น แบคทีเรียในดินอันทรงคุณค่าอาจจะเปลี่ยนสภาพไปได้
ปี 1964 นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา Stanley Skoryna และ Georges Nogrady เดินทางมาที่นี่และเก็บรวบรวมตัวอย่างดินให้มากสุดก่อนที่สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยน เพื่อไปศึกษาที่ Ayerst Laboratory ที่มอนทรีออล
แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าจะมีแนวทางการพัฒนาอย่างไร แต่ทั้งสองคนคิดว่าคุณค่ามหาศาลนี้น่าจะมีประโยชน์ในอนาคต ที่นั่นเขาทั้งสองคนและ Surendra Neth Sehgal นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียที่มาตั้งรกรากวิจัยอยู่ที่แคนาดา
ทั้งสามคนได้คิดค้นเกี่ยวกับแบคทีเรีย streptomyces hygroscopicus และสาร macrolode lactone ได้พัฒนาไปเป็นยากลุ่ม polyenes หรือ amphotericin ยาฆ่าเชื้อราที่ทรงพลังอย่างยิ่งที่เรารู้จักกัน
และทีมนี้ยังได้พบความลับอันหนึ่งของสารสกัดนี้ คือสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ ที่เรียกว่า antiproliferative agents โดยเฉพาะกับเซลล์ภูมิคุ้มกัน T lymphocyte ที่น่าจะมีประโยชน์ต่อไปในอนาคต
Shegal น่าจะวิจัยจนได้ผลสำเร็จ แต่อนิจจา Ayerst มีปัญหาทางการเงินและปิดตัวไป Shegal เสียใจมาก เดินทางกลับบ้านแต่ยังนำสิ่งที่ผูกผันและมีค่ามากกลับไปกับเขาด้วย คือ streptomyces hygroscopicus ตัวต้นแบบ แล้วโยนเข้าช่องแช่แข็งตู้เย็นบ้านเขาเอง นานมากจนลืม
จนปี1988 ปีที่สิ้นสุดสงครามยาวนานของอิรักอิหร่าน โซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน โลกจัดกีฬาโอลิมปิก ดูว่าสันติภาพน่าจะเกิด ที่ว่าเวลาเดียวกันบริษัทสัญชาติอเมริกาคือ Wyeths ได้เข้าควบรวมกับ Ayerst และฟื้นฟูแนวคิดที่ค้างไว้ และน่าจะทำให้บริษัทกลับมามีกำไรได้
แต่ทว่าในปี 1988 สารพัดยาได้เข้ามาครองโลกไปแล้ว โรคติดเชื้อเริ่มกลายเป็นอดีต แล้วจะทำเช่นไร ..ใช่แล้ว macrolide lactone จาก Streptomyces hygroscopicus ที่จะไปหวังผลเป็นยายับยั้งการเจริญของเซลล์ภูมิคุ้มกัน
Surendra Neth Sehgal ถูกเรียกตัวมาอีกครั้ง และแน่นอน สิ่งของที่เขาเก็บลืมไว้ในช่องแข็ง ได้ถูกขุดมาวิจัย Streptomyces hygroscopicus ตัวแรกตัวเริ่มจากเกาะอีสเตอร์ ได้ถูกนำกลับมาพัฒนาจนได้เป็นยากดภูมิคุ้มกัน ที่ชื่อว่า rapamycin หรือปัจจุบันเรียกว่า sirolimus และเรียกกลไกการยับยั้งนี้ว่า TOR (target of rapamycin) และเรียกยากลุ่มนี้ว่า mTOR inhibitor (m=mammalian)
….มียาอีกตัวที่อาจสับสนคือ tacrolimus แม้จะเป็น -limus แต่เป็นคนละกลไกกันนะครับ ตัวนี้เป็น calcineurin inhibitor..
ยากลุ่มนี้ให้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อป้องกันการต่อต้านของเซลล์ภูมิคุ้มกันเราเอง สามารถใช้ต้านปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันในกรณีใส่ขดลวดค้ำยันได้ (sirolimus-coated stent)
และมีแนวโน้มจะนำไปใช้ในโรคมะเร็งอีกหลายชนิดที่มีการทำงานผ่านกลไก mTOR และมีความพยายามจะมาทำเป็นสาร anti-aging อีกด้วย คนที่จะคิดทำก็ไม่ใช่ใครหรอก Sunrendra Neth Sehgal ตัวพ่อของ mTOR และ rapamycin นี่เอง
และชื่อ rapamycin ก็มาจากชื่อเกาะต้นกำเนิดแบคทีเรีย S.hygroscopicus นั่นคือเกาะ Rapa Nui นั่นเอง
นี่เรามาไกลกันมากเลยนะครับ ขอบคุณลูกทัวร์ทุกท่านที่อยู่กันจนจบ ไม่แอบหนีโดดไปเสียก่อน ไว้ครั้งหน้าจะพาไปเที่ยวกันอีกรอบนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น