เรื่องเล่าจากคลินิก : ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก แต่ต้องปรับกันทุกคน
มีผู้ป่วยรายหนึ่งเข้ามาปรึกษาแนะนำเรื่องอาการป่วย เป็นสุภาพบุรุษอายุ 50 ปี ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ประมาณสองสัปดาห์ก่อน ตอนนั้นสลบ ตรวจพบเลือดออกในสมองบริเวณไม่ใหญ่นักที่สองด้านซ้ายและในเยื่อหุ้มสมอง ติดตามอาการดูแล้วไม่ต้องผ่าตัด แต่ยังมีอาการอ่อนแรงและเบลอ จึงเจ้ามาขอรับคำแนะนำ
ดูเรื่องราวก็ไม่ได้แปลกแต่อย่างใด แต่เรามาฟังประวัติกันต่อไปนะครับ
ผู้ป่วยรายนี้เคยเข้ามารับการปรึกษาที่คลินิกผมแล้วหนึ่งครั้งเมื่อประมาณสิบเดือนก่อน เนื่องจากมีอาการเบลอ ๆ เพลีย ๆ นี้เช่นกัน ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคทางอารมณ์ (ทางจิตเวช) ได้รับยาต้านซึมเศร้า ยารักษาโรคจิตเภท และยากันชัก พร้อม ๆ กันหลายขนานและปริมาณสูง สอบถามว่าได้รับยาขนาดเดิมนี้ต่อเนื่องกันมาหกเดือนแล้ว
หมอชราหน้าหนุ่ม : ผมก็ไม่เชี่ยวชาญเรื่องการปรับยาจิตเวชนะครับ แต่คิดว่าหากเริ่มมีผลจากยา คือเริ่มมีอาการเบลอ คิดอ่านช้า ตอบสนองช้า ก็ต้องมาปรับยา ชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียจากยา ผมจะออกจดหมายเพื่อให้คุณไปปรับยากับคุณหมอท่านเดิมนะครับ โดยบอกเล่าอาการที่ผมคิดว่าอาจเป็นผลข้างเคียงจากยาให้คุณไปปรับยา
คนไข้ : ครับ ถ้ามีเวลาจะไปปรับยา
สำหรับผมคิดว่าการปรับยาและการ trade-off ผลการรักษากับผลข้างเคียงของยาคือปัจจัยสำคัญ เรารู้กันทุกคนว่า ยารักษาทางจิตเวชจะส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ การรับรู้ หรือพูดง่าย ๆ คือ การทำงานของสมองส่วนที่ยังดีอยู่ก็กระทบเช่นกัน
และผู้ป่วยรายนี้เป็นกำลังหลักของครอบครัว เป็นคนเดียวในบ้านที่สามารถขับขี่ยานพาหนะได้ดี และจำเป็นต้องขับขี่เพื่อการดำรงชีวิต นั่นคือ อาจเกิดผลข้างเคียงจนอันตรายหากได้รับการที่ทำให้ซึมและเบลอ … แต่คุณจะทำอย่างไรล่ะ มันก็สำคัญไม่แพ้โรคทางอารมณ์ที่เป็นอยู่
ประมาณหกเดือนก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่อาการไม่รุนแรงแค่ฟกช้ำ มีแผลเล็กน้อย เข้ามาทำแผลที่คลินิก ตอนนั้นผู้ป่วยนำจดหมายไปยื่นกับทางหน่วยงานที่รักษาที่เดิม ผู้ป่วยได้รับยาเดิม ปริมาณและขนาดเดิม ทางหน่วยงานเดิมแจ้งว่า ตอนนี้ควบคุมอาการได้ดีอยากให้ใช้ยาขนาดนี้ไปก่อน และบอกผู้ป่วยว่า อย่าขับรถ เพราะตัวยาทำให้ซึม
แต่ปากท้องก็สำคัญ ผู้ป่วยก็อยากหายจากอาการที่เป็น ยังไม่มีงานใหม่ที่ปลอดภัยกว่านี้ และค่าใช้จ่ายก็ยังต้องมีต่อไป ดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้มาลงทุนยังเดินหน้าไม่หยุดยั้ง แม้จะเจ็บจากอุบัติเหตุก็ต้องทำงานต่อไป
กลับมาที่วันนี้ ผู้ป่วยนำยามาให้ดู นอกเหนือจากยาที่ใช้หลังประสบอุบัติเหตุ ยาทางจิตเวชเดิมยังเป็นขนาดเดิม และญาติคนไข้เล่าให้ฟังว่า เขาพยายามเต็มที่ แต่ก็ยังตัดสินใจและเฉียบคมไม่มากนัก อุบัติเหตุครั้งนี้ ทำให้ต้องพักฟื้นเกือบสองสัปดาห์ เขาอยากให้ผมเขียนจดหมายส่งตัวเพื่อไปปรับยาให้อีกครั้ง
… มันจุกอกเหมือนกัน
คุณหมอและทีมก็อยากรักษาให้สภาพโรคดีขึ้น เพื่อกลับสู่ชีวิตประจำวัน
คนไข้ก็อยากรักษาเพื่อไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว
ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุแบบนี้เลย
เคยมีคำกล่าวว่า ในการรักษาโรคใด นอกว่าหมอและผู้ป่วยจะต้องรักษาโรคที่เกิด ยังจะต้องรักษาโรคที่เกิดจากการรักษาอีกด้วย ถ้าระบบการรักษาเราดีกว่านี้ เวลาและบุคลากรเรามากกว่านี้ ดีกว่านี้
เราคงได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการรักษากับชีวิตประจำวันของเขา
เราคงได้ปรับการรักษาโดยรักษาที่ตัวคนมากกว่าตัวโรค
เราคงได้อาชีพที่ปลอดภัยกับแต่ละคน โดยไม่ยากเกินไป
เราคงมีบุคลากรทางการแพทย์หลายคนมาช่วยให้ความเห็น
เราคงได้มีบุคลากรทางการแพทย์ครบและมากกว่านี้ในการรักษา
เราคงได้ "คุณภาพชีวิต" มากกว่า "อัตราการรักษาโรคหาย" หรือ "การเข้าถึงการรักษาของประชากร"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น