06 เมษายน 2567

ตับวายจากการดื่มเหล้า

 เหล้า ตอนกินก็ยังดี แต่ตอนป่วย..อาจไม่ได้กลับบ้าน

ผู้ป่วยสุภาพบุรุษวัยกลางคน เข้ารับการรักษาด้วยภาวะตับวายเฉียบพลัน ตัวเหลือง สับสน อาการรุนแรงจนสุดท้ายพาอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวไปหมด สูญเสียค่ารักษาพยาบาลในห้องไอซียูเกือบล้านบาท โดยผู้รับผิดชอบคือ คนใกล้ชิดที่คอยเตือนให้หยุดเหล้ามาตลอด และคนที่เศร้าเสียใจคือพวกเขาอีกเช่นกัน
มีเรื่องที่อยากฝากบอกจากการถามประวัติของผู้ป่วย ดังนี้
1.ผู้ป่วยดื่มเบียร์บ้าง เหล้าบ้าง ปริมาณไม่มาก ประมาณสัปดาห์ละห้าวัน ต่อเนื่องกันประมาณ 8 ปี … คิดเป็นปริมาณคือประมาณ 45 กรัมแอลกอฮอล์ต่อวัน ก็เยอะนะแต่อาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนของโรคตับจากแอลกอฮอล์ และ ณ เวลานั้น คนใกล้ชิดเริ่มเตือนว่าดื่มมากไปแล้ว ผู้ป่วยบอกว่าก็ดื่มเป็นปกติ ไม่เยอะและตัวเองยังแข็งแรงดี จึงดื่มต่อไป
2.ผู้ป่วยดื่มหนักมากในช่วงห้าปีหลัง คือ ดื่มเหล้าขาวและเหล้าสี วันละ 'หนึ่งขวดกลม' ต่อเนื่องกัน อันนี้ต้องถามย้ำหลายครั้ง เพราะเยอะมาก … คิดเป็นปริมาณคือ 240 กรัมแอลกอฮอล์ต่อวันต่อเนื่องกัน และ ณ เวลานั้น คนใกล้ชิดก็เริ่มเตือนมากขึ้น ขู่ บังคับ ให้ดื่มลดลง แต่ผู้ป่วยก็ไม่ฟัง และดื่มต่อไป
3.ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ส่งผลต่อโรคตับอักเสบจากเหล้าที่ชัดเจนตามเกณฑ์คือ 60-80 กรัมแอลกอฮอล์ต่อวัน ต่อเนื่องกัน 20 ปี สำหรับผู้ป่วยรายนี้ก็น่าจะถึงเกณฑ์ ไม่ได้หมายความว่า ดื่มน้อยกว่านี้จะไม่เป็นนะครับ ดื่มน้อยกว่านี้ก็มีผลเช่นกัน ยิ่งคนที่เป็นโรคตับเรื้อรังอื่น ๆ ตัวเลขที่ส่งผลน่าจะต่ำกว่านี้
4.ห้าปีหลังมานี้ คนใกล้ชิดให้ประวัติว่าผู้ป่วยเครียดหลายเรื่อง ปัญหาครอบครัว ปัญหาหนี้สิน ปัญหาที่ทำงาน จึงเลือกดื่มเหล้าเพื่อลืมปัญหา … แต่ความเป็นจริงคือปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข และยิ่งมากขึ้นอีกเพราะตัวผู้ป่วยมีสมรรถนะในการทำงาน การแก้ปัญหาที่ลดลง จากแอลกอฮอล์
แม้จะมีตัวเลขว่า การดื่มแอลกอฮอล์ที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ คือไม่เกินหนึ่งดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับสุภาพสตรี และไม่เกินสองดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับสุภาพบุรุษ แต่ไม่ได้หมายความว่าดื่มตามนี้แล้วจะไม่มีผล มันมีผลนะครับ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับแต่ละบุคคล
เหมือนกับบุหรี่ คือ ตอนที่ใช้เหล้าหรือบุหรี่ จะยังไม่มีความผิดปกติทางร่างกาย แต่เมื่อเกิดโรคจากเหล้าและบุหรี่ คนไข้ทุกคนจะนึกเสียใจ เสียดาย 'รู้อย่างนี้ เลิกเสียตั้งแต่ตอนนั้น'
และสิ่งที่ผู้ติดเหล้าและบุหรี่คิดว่า 'มันก็เป็นผลเสียแต่ตัวฉัน ไม่ได้กระทบกับใคร' ความเป็นจริงแล้ว มันส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพของตัวเอง เสียงถอนหายใจและแววตาเศร้าจากญาติผู้ป่วยทุกคนที่ผมรักษาโรคกลุ่มนี้มา บ่งบอกได้อย่างดีถึงผลกระทบ 'ในทุกมิติ' ของการใช้สารเสพติดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น