26 กุมภาพันธ์ 2567

การป้องกันโรค การตรวจจับโรคในระยะต้น การคัดกรองมะเร็งพันธุกรรม

 เราหลงลืมอะไรกันไปไหม : การป้องกันโรค การตรวจจับโรคในระยะต้น

ผู้ป่วยสุภาพสตรี รูปร่างท้วม (ดัชนีมวลกาย 28) อายุ 60 ปี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานควบคุมได้ดี ยังไม่มีบุตร มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ เป็นพัก ร่วมกับมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ ไอจามแล้วปัสสาวะเล็ดบ่อย มีอาการแบบนี้มาสามเดือน เมื่อสัปดาห์ก่อนมีอาการปัสสาวะไม่ออก ขัด ไปตรวจที่คลินิกได้กินยาฆ่าเชื้ออาการดีขึ้น วันนี้ท้องผูก เกิดความสงสัยมาตรวจ
ตรวจร่างกายพบว่าท้องบวม ๆ เคาะไม่พบน้ำในท้อง ตับม้ามไม่โต ไม่มีก้อนที่ใด ตรวจทางทวารหนักไม่พบก้อนที่ปลายนิ้วแต่สัมผัสก้อนอะไรบางอย่างได้นอกลำไส้
ส่งตรวจทางสูตินรีเวชพบว่ามดลูกปกติ ไม่มีก้อน มดลูกไม่หย่อน …ซึ่งไม่ได้อธิบายอาการเลย คงต้องสืบค้นอวัยวะแถว ๆ อุ้งเชิงกรานต่อ กระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้
ผลเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์พบก้อนเนื้อลำไส้ส่วน sigmoid มีจุดที่ผนังช่องท้องและน้ำในท้อง ต่อมน้ำเหลืองในท้องโตหลายจุด
ผลชิ้นเนื้อพบเป็น adenocarcinoma หรือมะเร็งลำไส้ระยะลุกลาม
😣😣 ประวัติเพิ่มเติม ผู้ป่วยมีพี่น้องรวมตัวเองด้วยสามคน พี่สาวป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้เสียชีวิตเมื่อสามปีก่อน ตอนนั้นพี่สาวอายุ 60 ปี 😣😣
จะเห็นว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมีประวัติครอบครัวใกล้ชิด (first degree relatives) เป็นมะเร็งลำไส้ ตอนที่พี่สาวเป็นมะเร็งนั้น ผู้ป่วยอายุ 56 ปี ร่างกายปกติดี และไม่ได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งแต่อย่างใด
คุณเห็นโอกาสที่หายไปไหมครับ
ปกติแล้วเราจะคัดกรองมะเร็งลำไส้ตั้งแต่อายุ 50 ปี โดยการตรวจอุจจาระประจำปี การตรวจยีน หรือจะส่องกล้องหรือจะถ่ายภาพเอ็กซเรย์ก็ตาม และหากว่าผู้ป่วยมีญาติพี่น้อง โดยเฉพาะลำดับ พ่อเม่-พี่น้องท้องเดียวกัน-ลูก เราจะเพิ่มความสำคัญในการคัดกรองกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องทำ และอาจต้องทำเร็วกว่าอายุ 50 ปี (โดยทั่วไปนับอายุคนที่เป็นมะเร็งลบด้วยสิบ) และวิธีที่ใช้ควรเป็นการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
เพราะหากเจอระยะต้น อาจจะแค่ตัดออกก็หาย ไม่ต้องให้ยามุ่งเป้า ไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง
คุณภาพชีวิตของการผ่าตัดระยะแรก ดีกว่าต้องผ่าตัดให้ยาเมื่อเจอโรคที่มีผลแทรกซ้อน
ปัจจุบันส่องกล้องตรวจราคาถูกกว่าโทรศัพท์เรือธงเสียอีก แถมทำทุก 10 ปี เรายังผ่อนโทรศัพท์กันทุกปีสองปี ในราคาเครื่องกว่าสองหมื่น ดังนั้นถ้ามีข้อบ่งชี้การส่องกล้องก็ควรทำนะครับ
และฝากถึงคุณหมอและทีมดูแล หากพบมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม น่าจะต้องแนะนำครอบครัวเครือญาติเข้ารับการตรวจ และส่งตรวจตามที่ญาติผู้ป่วยมีสิทธิการรักษา อาจจะไม่ทำให้ญาติคนนั้นเสียโอกาสการรักษาเร็ว แถมยังเพิ่มโอกาสการมีชีวิตอย่างมีความสุขหากรักษาเร็วอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น