05 ตุลาคม 2566

กรดไหลย้อน

เรื่องน่ารู้กับกรดไหลย้อน


1.อาการที่สัมพันธ์กับโรคกรดไหลย้อน ที่เด่นชัดกว่าอาการอื่น คือ อาการแสบแน่นกลางอก (ไม่ใช่แสบท้องนะครับ) อีกอย่างคือ อาเจียนหรือเรอเปรี้ยว สองอาการนี้นับว่ามีโอกาสเป็นกรดไหลย้อนสูง แต่ต้องซักประวัติอื่นด้วยนะเพื่อแยกโรค 


2.โรคกรดไหลย้อน อาจมีอาการอื่น ๆ ที่นอกหลอดอาหารได้ เช่น ไอ เสียงแหบ แต่ส่วนใหญ่คนทร่มีอาการนอกหลอดอาหาร มักจะมีอาการตามข้อหนึ่งอยู่แล้ว


3.กรดไหลย้อน วินิจฉัยโดยใช้ประวัติเป็นหลัก การสืบค้นอื่น ๆ ไม่ว่าการส่องกล้อง การวัดค่าความเป็นกรดในหลอดอาหาร การตรวจการบีบตัวหลอดอาหาร ใช้ในกรณีบางกรณีที่มีอาการเตือน หรือยากต่อการวินิจฉัย ไม่ตอบสนองต่อการรักษา


4.เป็นที่ยอมรับโดยสากล (และในไทย) ว่าหากมีอาการเหมือนกรดไหลย้อน และไม่มีอาการอื่นของโรคอื่น ไม่ใช่โรคหัวใจ และเมื่อให้ยาลดกรดขนาดมาตรฐานเป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วอาการดีขึ้น สามารถวินิจฉัยกรดไหลย้อนได้


5.เมื่อเป็นกรดไหลย้อน การรักษาที่ต้องทำเสมอคือการปฏิบัติตัว ดังนี้ ถ้าน้ำหนักเกินให้ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเพิ่มก็ให้ลดน้ำหนัก (ไม่ต้องเกิน แค่เพิ่มแล้วเป็นกรดไหลย้อนก็ต้องลด) นอนยกหัวสูง เลิกบุหรี่ เลิกเหล้า และอย่ากินอาหารอย่างน้อยสองชั่วโมงก่อนนอน


6. ยาหลักในกรดไหลย้อนคือยาลดกรด proton pump inhibitor ในขนาดมาตรฐาน เวลา 4-8 สัปดาห์ และหากไม่ตอบสนองจะเลือกเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า (เรื่องของการกำจัดยาในทางพันธุกรรม)  หรือใช้ยาตัวอื่น ก่อนจะไปส่องกล้องก็ได้ อย่าลืมกินยาให้ถูกวิธี คือ กินก่อนอาหาร และย้ำเรื่องระยะเวลา ต้องนานพอควร


7.ยาอื่น ๆ แค่ช่วยเสริมการรักษาเท่านั้น


8.ในผู้ป่วยบางราย อาจพิจารณาใช้ยาควบคุมการทำงานระบบประสาททางเดินอาหารช่วยลดอาการได้ ยาที่มีข้อมูลคือ ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRI แต่ต้องใช้ร่วมกับ PPI ในข้อ 6 ด้วย


9.สุดท้ายถ้าอาการดีขึ้น ปรับชีวิตได้ อาจใช้ยาเมื่อมีอาการ (on demand) ได้เช่นกัน


10.ทำตามทั้งหมดแล้ว ถ้าไม่ดีขึ้น จะเหลือคนไข้อีกไม่เยอะที่ต้องรักษาเฉพาะราย เช่น การใช้ยา PCAB, การใช้ยาอื่น, การผ่าตัดรักษา ส่วนมากที่ไม่หาย เพราะยังทำตามการรักษาไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น