30 ตุลาคม 2566

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง สำหรับผู้สูงวัย

 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง สำหรับผู้สูงวัย

เราอาจจะเคยเห็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้สูงวัยเกิน 65 ปี ว่าสามารถใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (60 micrograms of hemagglutinin) แทนที่ขนาดมาตรฐานปกติ (15 micrograms of hemagglutinin) เรามาพิจารณากัน
คำแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคอเมริกา แนะนำใช้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ในคนที่อายุเกิน 65 ปีเท่านั้น ในประเทศไทยก็อนุมัติให้ใช้เช่นกัน โดยอ้างอิงเอกสารจาก new england journal of medicine และวันนี้ผมจะมาอธิบายสั้น ๆ ว่ามีอะไรในการศึกษา รวมทั้งพ่วงอีกสองการศึกษาที่น่าเชื่อถือมาด้วย เราไปดูกันเลย
สำหรับการศึกษาแรกที่ใช้อ้างอิง มาจาก NEJM สิงหาคม 2014 เขาทำการศึกษาในผู้อายุเกิน 65 ปีเท่านั้น 32000 คน แบ่งเป็นได้รับวัคซีน 'สามสายพันธุ์' ขนาดมาตรฐานเทียบกับขนาดสูง ฉีดต่อเนื่องกันสองปี แล้ววัดผลว่ามีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไม่โดยการใช้อาการและผลตรวจยืนยัน พบว่าเกิดโรคในวัคซีนขนาดสูง 1.4% เทียบกับขนาดมาตรฐาน 1.9% คิดเป็น 'สัดส่วนที่ลดลง' คือ 24% เทียบกับวัคซีนมาตรฐาน แต่ถ้าคิด absolute risk reduction เท่ากับ 0.5% เท่านั้น (NNT = 200) โดยระดับภูมิคุ้มกันที่ 28 วันนั้นกลุ่มวัคซีนขนาดสูงจะเพิ่มมากกว่า ผลข้างเคียงน้อยนั้นวัคซีนขนาดสูงมีน้อยกว่าเล็กน้อย ( ต่างกัน 8%) การศึกษานี้สนับสนุนโดยบริษัทวัคซีนขนาดสูง
การศึกษาทดลองอันที่สองลงใน JAMA เมื่อ ธันวาคม 2020 เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันโรคปอดและโรคหัวใจ (ผลแทรกซ้อนสำคัญของไข้หวัดใหญ่) ระหว่างวัคซีนขนาดสูงสามสายพันธุ์ และ วัคซีนขนาดปกติสี่สายพันธุ์ (ย้ำนะ อ่านดี ๆ) โดยนำผู้ป่วยที่เคยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวาย และมีความเสี่ยงอันตรายอย่างน้อยหนึ่งข้อ หนึ่งในนั้นคืออายุมากกว่า 60 นั่นหมายความว่ามีคนอายุน้อยกว่า 65 มาเข้าการศึกษานี้ด้วย โดยแบ่งกลุ่มละ 2630 รายเท่ากัน แบ่งวัคซีนขนาดสูงและปกติ จำนวน 3 ปี แล้ววัดผลคือ อัตราตายหรือการเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคปอดและหัวใจ พบว่า กลุ่มวัคซีนขนาดสูงเกิดเหตุ 45 ต่อร้อยคนปี วัคซีนปกติ 42 ต่อร้อยคนปี เมื่อเทียบสัดส่วนกันพบว่า "แตกต่างกันแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ" แต่ว่าผลการศึกษานี้เกิดเมื่อคณะกรรมการได้ยุติการศึกษาก่อนจบ (ตั้งใจที่ 9300 ราย) เนื่องจากผลการอัตราการเกิดโรคมันมากกว่าที่กำหนดแล้ว ไม่ปลอดภัยต่อผู้เข้าศึกษาหากจะทำต่อไป แต่ก็สรุปว่าวัคซีนขนาดสูงมีประโยชน์ในกลุ่มเสี่ยง 'มีแนวโน้ม' ได้ประโยชน์มากกว่าขนาดมาตรฐาน
การศึกษาที่สามลงใน clinical infectious disease ตุลาคม 2023 นี้เอง เป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลัง หลังจากที่มีการใช้วัคซีนขนาดสูงแล้ว โดยเก็บข้อมูลคนที่อายุมากกว่า 65 ปี จากสามฤดูกาลระบาดต่อเนื่องกัน จำนวนประมาณ 44000 ราย จากฐานข้อมูลสุขภาพของอเมริกา พบว่าไม่ได้ฉีดวัคซีน 52% (น่าตกใจมาก) ได้วัคซีนขนาดสูง 33.8% และวัคซีนขนาดปกติ 14.2% ติดตามผลดูว่าหากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้วไม่ว่าจะนอนโรงพยาบาลหรือไม่ก็ตาม จะมีอัตราการเสียชีวิตที่ 30 วันเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละฤดูระบาดจะได้ผลต่างกันเล็กน้อย แต่ผลโดยรวมในสามฤดูระบาดออกมาว่า เมื่อเทียบกับการไม่รับวัคซีนนั้น การฉีดวัคซีนไม่ว่าขนาดใด ลดอัตราการเสียชีวิตลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งสิ้น แต่หากเทียบอัตราการเสียชีวิตระหว่างวัคซีนขนาดสูงกับขนาดต่ำ พบว่าวัคซีนขนาดสูงสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่าก็จริงแต่ขนาดไม่มากและ "ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ" ไม่ว่าจะคิดเกลี่ยตัวแปรใด ๆ ผลก็ออกมาแบบเดียวกัน
จากสามการศึกษาก็จะเห็นผลของวัคซีนขนาดสูงในผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ที่ชัดเจนในแง่การป้องกันโรคแทรกและลดอัตราตายและยิ่งชัดหากมีโรคร่วม ในแง่ระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มก็มากกว่าวัคซีนมาตรฐาน
….แต่….
ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนขนาดมาตรฐานมันไม่ดีแต่อย่างใด ผมจึงสรุปว่า ในผู้สูงวัยอายุเกิน 65 ปี คุณควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีทุกปี จะเป็นขนาดมาตรฐานหรือขนาดสูงก็ได้ ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงไม่ต่างกันเท่าไร ใครอยากได้การปกป้องที่ดีขึ้นก็เลือกฉีดแบบขนาดสูงได้ แลกมากับราคาที่สูงขึ้นประมาณสี่เท่าตัว อันนี้แล้วแต่ความต้องการครับ ส่วนวัคซีนฟรีที่ทางรัฐบาลให้ยังเป็นวัคซีนขนาดมาตรฐานซึ่งใช้ได้ดีมาก ยังใช้ได้ต่อไป
May be an image of 3 people

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น