ความรู้จากงานประชุมราชวิทยาลัยสู่ประชาชน : หัวใจเต้นผิดจังหวะ : อ.ธัชพงศ์ งามอุโฆษ
1. เมื่อไรมี Atrial Fibrillation สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประเมินผู้ป่วยว่าต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดไหม เพื่อป้องกันการเกิดอัมพาตหลอดเลือดไปอุดตัน (รุนแรงเชียวนะ) ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความเสี่ยงมากพอที่การใช้ยาป้องกันอัมพาตจะเกิดประโยชน์ กลุ่มเสี่ยงต่ำมาก มีน้อยจริง ๆ นะครับ
2. *** ปัจจุบันนี้เราวินิจฉัย AF ได้มากขึ้นเพราะเราให้ความสำคัญ และมีวิธีต่าง ๆ ที่ง่ายโดยเฉพาะ wearable device แต่ทว่า การจับชีพจรโดยหมอ พยาบาล หรือสอนคนไข้ให้จับชีพจร สังเกตอัตราเร็ว ความแรง ความสม่ำเสมอ ก็สามารถตรวจจับ AF ด้วยความไวและความจำเพาะประมาณ 80% อันนี้สำคัญมากนะครับ แค่จับชีพจรเป็น อาจจะป้องกันอัมพาตได้เลย ***
3. การประเมินความเสี่ยงการเกิดอัมพาตใช้ระบบคะแนนชื่อ CHA2DS-VASc ยิ่งคะแนนสูงโอกาสเกิดอัมพาตจะสูง แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อโอกาสการเกิดอัมพาตสูงแล้ว โอกาสการเกิดเลือดออกจากการใช้ยาจะสูงตามไปด้วย (ใช้ระบบคะแนน HASBLED) ดังนั้นการตัดสินใจใช้ยา จะต้องคุยเรื่องประโยชน์และโทษกับคนไข้ให้ดี
4. โรค AF ที่มีลิ้นหัวใจไมตรัลตีบแบบรุนแรง หรือ ใส่ลิ้นหัวใจเทียม สองกลุ่มนี้ควรใช้ยาต้านการแข็งตัวเลือด warfarin นอกเหนือจากสองข้อดังกล่าว ตอนนี้คำแนะนำการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะเป็น “NOACs” หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น rivaroxaban, apixaban, edoxaban, dabigatran เพราะโอกาสเลือดออกน้อยกว่า
5. ไม่แนะนำใช้ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น aspirin, clopidogrel ในการป้องกันอัมพาตจาก AF
6. การรักษา AF ที่สำคัญและเป็นหลักคือ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจทุกอย่าง โดยเฉพาะโรคประจำตัวที่มี การควบคุม “อัตราเร็ว” ของหัวใจโดยใช้ยา ไม่ให้เร็วเกินไปจนเกิดปัญหา ยาที่ใช้บ่อยคือยาต้านเบต้า (beta blocker)
7. สำหรับการรักษาเพื่อจัดการ “จังหวะ” ของการเต้นที่เต้นพริ้วไม่เป็นจังหวะ ให้กลับมาเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ใช้เฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อาการไม่คงที่ หรือยังมีอาการทั้งที่รักษาดีแล้ว ความสำคัญคือ ต้องกินยาต้านการแข็งตัวเลือดทั้งก่อนและหลังการมาทำจังหวะให้เป็นปรกติ โดยการจัดการจังหวะ ทำได้ทั้งการใช้ยาหรือการจี้ไฟฟ้า
8. การรักษาโดยทำหัตถการไฟฟ้าหัวใจ (RF ablation) ทำเพื่อรักษาอาการเป็นหลัก ในคนไข้ที่ใช้ยาไม่ได้ผลและมักจะนิยมทำในระยะแรกของการเกิด AF ไม่ว่าจะเป็นหัวใจที่แข็งแรง หรือหัวใจที่เกิดโรคแล้ว
9. เน้นข้อสอง เรียนการจับชีพจรเพื่อหาความผิดปกติ แล้วจับชีพจรตัวเองและคนรอบข้าง เพื่อคัดกรองเข้าสู่การวินิจฉัย การรักษาเพื่อลดโอกาสการเกิดหัวใจวายในอนาคต และเพื่อพิจารณาให้ยาป้องกันอัมพาตเมื่อเสี่ยงมากพอ (เกือบทุกคน)
10. โรคนี้เป็นเพียงไม่กี่โรคที่ผู้หญิงเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เพราะคะแนนที่ถือว่าต่ำมากจนไม่ต้องกินยานั้น ผู้ชายอยู่ที่ 1 คะแนน ผู้หญิงอยู่ที่ 2 คะแนน เนื่องจากแม้ไม่มีความเสี่ยงใด การเป็นเพศหญิงจะได้คะแนนตุนในกระเป๋าแล้ว 1 คะแนนทุกครั้งไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น