15 กันยายน 2566

Target HTN ยาลดความดันตัวใหม่ lorundostat

 Target HTN ยาลดความดันตัวใหม่ ..ลงใน JAMA มายำให้ฟังแบบง่าย ๆ

1. ความดันโลหิตสูงมีปัจจัยการเกิดโรคมากมาย และมีระบบฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องอย่างมากคือ ระบบ renin-angiotensin-aldoterone จากไตด้านนอกสุดที่คอยควบคุมความดัน เมื่อเรายับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเหล่านี้ ความดันจะลดลง เช่น ยาต้าน renin ที่ชื่อ aliskiren, ยายับยั้งการสร้าง angiotensin เช่น enalapril, ยายับยั้งการทำงานของ angiotensin เช่น losartan
2. ส่วนฮอร์โมน aldoterone นอกจากลดความดันแล้ว ยังมีผลกับการควบคุมเกลือแร่ที่ท่อไต และส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเพศ ทำให้เราใช้ยานี้ได้ไม่ถนัดนัก จะใช้รักษาความดันในขนาดสูงก็เจอผลข้างเคียง เต้านมโต โปตัสเซียมสูง จึงมีข้อจำกัดมากในการรักษาความดันโลหิต แต่จะไปรักษาโรคหัวใจล้มเหลวเสียมาก ยาตัวนี้เช่น spironolactone หรือตัวใหม่กว่าคือ finerenone
3. ปัจจุบันเรามาสนใจผู้ป่วยกลุ่มความดันโลหิตสูงที่รักษายาก ใช้ยาหลายตัว แต่คุมไม่ได้ ซึ่งส่วนมากจะไม่ได้ใช้ยาต้าน aldosterone หรือใช้ไม่ได้เพราะมีผลข้างเคียง มาปรับแต่งการรักษาโดยสนใจยับยั้งการทำงานของระบบฮอร์โมน aldoterone โดยที่จะทำอย่างไรไม่ให้ส่งผลต่ออวัยวะอื่น
4. จึงมีการสร้างยาที่มาควบคุมระบบนี้ใหม่ เป็นยาที่ยับยั้งการสร้างฮอน์โมน aldoterone ในระดับเอนไซม์การสร้างเรียกว่า selective aldosterone synthetes inhibitor ที่จะไปยับยั้งการสร้างแบบเฉพาะ ไม่ไปยุ่งกับการสร้างฮอร์โมนตัวอื่นเลยจึงแทบไม่เกิดผลข้างเคียง ในอดีตเราเคยมีความพยายามสร้าง แต่ยังหาวิธียับยั้งตัวเอนไซม์แบบแม่นยำไม่ได้ ตอนนี้ทำได้แล้ว ไม่ใช่แค่ยับยั้งการจับฮอร์โมนกับตัวรับฮอร์โมนที่เซลล์ (ที่ทำให้เกิดผลข้างเคียง) แต่หยุดการสร้างเลย ยาที่ออกมาคือ lorundostat, baxdrostat การศึกษานี้ออกแบบมาตอบคำถามว่า lorundostat มันลดความดันได้จริงไหม
5. งานวิจัยแบบทดลองและควบคุมตัวแปร จากเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่กินยาลดความดันตามมาตรฐานการรักษาอย่างน้อยสองชนิด ขนาดยาได้ตามแนวทาง ควบคุมพฤติกรรม แต่ยังควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ นำมาเพิ่มให้ยา lorundostat เทียบกับยาหลอก โดยวัดผลความดันที่ลดลงที่ 8 สัปดาห์หลังเริ่มยา และวัดผลที่ขนาดยาต่าง ๆ ว่ามีผลอย่างไรด้วย รวมทั้งติดตามผลข้างเคียงที่สำคัญคือโปตัสเซียมในเลือดสูง
6. จุดสำคัญของการศึกษานี้คือ เพราะเราตั้งใจจะลดการทำงานของระบบฮอร์โมน aldosterone ยาจึงอาจจะได้ผลเฉพาะคนที่มีการทำงานของ aldosterone เกินปรกติหรือไม่ ผู้วิจัยจึงคิดแยกว่าในกลุ่มคนที่มีการทำงานของฮอร์โมน aldosterone ปกติและเกินปกติ (มีการลดลงของฮอร์โมน renin) ยาจะมีผลแตกต่างกันไหม จะใช้ได้กับทุกคนที่คุมความดันไม่ได้หรือเฉพาะคนที่มีการทำงานของ aldosterone มากกว่าปกติกันแน่
7. ผลปรากฏว่า ในกลุ่มที่มีการทำงานของ aldosterone สูง การใช้ยา lorundostat ในขนาด 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง และ 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง ลดความดันลงได้ประมาณ 11 มิลลิเมตรปรอทและต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนขนาดยาน้อยกว่านี้ความดันก็ลดลงแต่ไม่มีนัยสำคัญ ส่วนกลุ่มที่การทำงานของ aldosterone ไม่สูงซึ่งมีแค่ 37 ราย พบว่าการใช้ยา lorundostat ขนาด 100 มิลลิกรัมต่อวันลดความดันได้ 11 มิลลิเมตรปรอทเช่นกัน และต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ เรียกว่าไม่ว่าการทำงานของ aldosterone จะมากหรือปกติ ยานี้ก็ลดความดันได้ทั้งนั้น
8. ข้อสังเกตคือ กลุ่มตัวอย่างที่มาศึกษานี้น้อยมาก เรียกว่า ทำเป็นตัวอย่างให้ดูว่าแนวคิดนี้มันใช้ได้นะ และวัดผลเพียงความดันโลหิตที่ลดลง ยังต้องอาศัยการศึกษาที่ขนาดใหญ่กว่านี้ ติดตามนานกว่านี้ และมีความหลากหลายของกลุ่มประชากรมากกว่านี้ การจะนำยาไปใช้ยังต้องทำการศึกษาที่วัดผลมากกว่านี้โดยเฉพาะเรื่องการลดอันตรายจากโรคความดันโลหิตสูง ที่ไม่ใช่แค่ทำให้ตัวเลขความดันลดลง
9. สำหรับผลข้างเคียงที่กังวลกัน เนื่องจากยาทำให้ฮอร์โมน aldosterone ลดลง น่าจะมีผลต่อระดับโปตัสเซียมในเลือดที่สูงขึ้น พบว่าเกิดเกลือแร่โปตัสเซียมสูง (6 mmol/L) แต่ว่าไม่ต้องรักษา อีกประการคือกังวลว่ายาจะไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล (โครงสร้างเอนไซม์ใช้สร้างมันคล้ายกัน) แม้ว่าจะออกแบบมาเฉพาะเป๊ะดังข้อ 4 เลยสุ่มตัวอย่างมาทดสอบการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลก็พบว่าปกติดี
10.ในอนาคตอาจจะมียาลดความดันกลุ่ม selective aldosterone synthetes inhibitor (อย่างแน่นอน) แต่คงต้องรอการศึกษาที่ขนาดใหญ่และหวังผลทางคลินิกมากกว่านี้ เพราะเราแทบไม่มียาลดความดันใหม่ ๆ ออกมาเลยในยุคหลังนี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น