04 กันยายน 2566

Platelet-Rich Plasma กับการศึกษาโรคเข่าเสื่อม

 Platelet-Rich Plasma กับการศึกษาโรคเข่าเสื่อม

ทำไมต้อง platelet-rich เข้าข้อเข่า : เพราะเราเชื่อว่าใน PRP จะมีสารกระตุ้นการเจริญเนื้อเยื่อหลายชนิด (growth factor) เช่น VEGF, IGF สามารถใช้ได้ดีกว่า hyaluronic ที่สังเคราะห์ขึ้น และเราก็จะใช้พลาสมาของผู้ป่วยเอง เพื่อจะหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่าง ๆ และตัดปัญหาไม่สามารถหาเลือดคนอื่นได้
การศึกษาก่อนหน้านี้ : เป็นการศึกษาแบบรวบรวมผู้ป่วยแล้วมาวิเคราะห์ หรือศึกษาแบบติดตามไปข้างหน้าก็จริงแต่ไม่ได้เป็นการทดลอง จึงมีความโน้มเอียงและตัวแปรปรวนเยอะ ลองมาดูการศึกษาแบบ RCTs ที่ควบคุมได้ดีบ้าง
1.การศึกษาทดลองลงใน BMC Musculoskeletal Disorders ปี 2021 ทำในบราซิล ศึกษาในคนที่เข่าเสื่อมตามเกณฑ์การวินิจฉัยที่ไม่เคยได้รับการฉีดยาเข้าข้อใด ๆ 62 คน อายุเฉลี่ย 62 ปี นำมาแบ่งกลุ่มละ 20 คน เทียบการฉีด PRP และการฉีด plasma และยาหลอก กระบวนการทั้งหมดได้รับการ blinded เพื่อหลีกเลี่ยงอคติ และทำทุกอย่างให้เหมือนกันมากที่สุด ฉีดสองครั้งห่างกันสองสัปดาห์ แล้ววัดผลที่หกเดือน มีทั้งผลการลดปวด ผลคะแนนต่าง ๆ ที่บ่งชี้พยาธิสภาพของกระดูกและน้ำในข้อ
ผลปรากฏว่าเริ่มคะแนนปวด 6/10 ทั้งสามวิธีลดปวดได้ลงมาที่ประมาณ 3/10 พอ ๆ กัน ต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ รวมทั้งผลคะแนนอื่น ๆ ด้วย ถามว่าแล้วอันไหนลดปวดมากสุด คำตอบคือ 'ยาหลอก' ครับ และ PRP มีผลข้างเคียงมากกว่ายาหลอกอีกด้วย
2.การศึกษา RESTORE ลงใน JAMA ปี 2021ทำในออสเตรเลีย ศึกษาผู้ป่วยเข่าเสื่อมตามเกณฑ์การวินิจฉัย 288 ราย อายุประมาณ 50 ปี และมีภาพรังสีเข่าเสื่อม เพราะการศึกษานี้เจตนาวัดผลทางรังสีของกระดูกอ่อนข้อเข่า แบ่งฉีดยาหลอกและแบ่งฉีด PRP อย่างละครึ่ง โดยฉีดสัปดาห์ละครั้ง จำนวนสามสัปดาห์แล้ววัดผลทั้งอาการและการเปลี่ยนแปลงข้อเข่าที่สามเดือน
ผลพบว่าการปวดทั้งสองกลุ่มลดลงประมาณ 2/10 คะแนนและต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ และวัดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนรองเข่าก็พบว่าเสื่อมลงเท่า ๆ กัน แทบไม่ต่างกัน ผลข้างเคียงจากการรักษาทั้งสองกลุ่มก็ไม่ต่างกัน
3.ในแง่การรวบรวมข้อมูลแบบ meta analysis และ systematic review ในช่วงปี 2015-2020 ที่ผ่านมา แต่ละงานวิจัยจะรวบรวมข้อมูลได้ประมาณ 20-30 การทดลอง ที่ขนาดการศึกษาไม่ใหญ่มากนัก และมีความแปรปรวนต่างกันระหว่างแต่ละการทดลองพอสมควร ผลพบว่า
หากเทียบกับยาหลอกนั้น PRP จะลดปวดได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ แต่ระดับประมาณ 2-3/10 ส่วนการทำงานและมิติอื่น ๆ ไม่ต่างจากยาหลอก และหากไปใช้ร่วมกับ hyaluronic acid พบว่าไม่ได้มีประโยชน์เพิ่มขึ้นและมีผลข้างเคียงมากขึ้นด้วย โดยรวมให้น้ำหนักหลักฐานระดับอ่อน และคำแนะนำการใช้งานระดับไม่สูงนัก
สรุปว่าตอนนี้ :
คำแนะนำการรักษาของ American Colleges of Rheumatology 2019 ยังไม่แนะนำฉีด PRP ในการรักษาเข่าเสื่อมและสะโพกเสื่อม
คำแนะนำของแพทย์โรคข้อยุโรป 2020 แนะนำอาจจะพิจารณาใช้เป็นยาทางเลือกในกรณียากลุ่มแรก ๆ ใช้ไม่ได้ผลโดยแนะนำใช้ลดอาการในโรคเข่าเสื่อมระยะไม่รุนแรงเท่านั้น
ส่วนตัวนะครับ คิดว่าต้องระมัดระวังกระบวนการทำ PRP ให้มีมาตรฐานและปลอดเชื้อ รวมทั้งต้องระวังว่าการฉีด PRP อาจทำให้ข้ออักเสบกำเริบเฉียบพลันจากปริมาณสารในข้อที่มีสูงเกินไป และคำนึงถึงความคุ้มค่าของการรักษาด้วยครับ
ส่วนโรคผิวหนังและการเสริมความงามชะลอวัย ก็มีคำแนะนำจาก American Academy of Dermatology ดังภาพนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น