02 กรกฎาคม 2566

ความรู้จากราชวิทยาลัย ฯ : การประเมินโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนผ่าตัด : อ.นิธิมา รัตนสิทธิ์

 ความรู้จากราชวิทยาลัย ฯ : การประเมินโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนผ่าตัด 1 : อ.นิธิมา รัตนสิทธิ์

การเข้ารับการผ่าตัดที่ไม่ใช่โรคหัวใจและหลอดเลือด จะมีหัวข้อการประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจที่อาจจะเกิดในขณะผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคอยู่แล้วหรือมีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ (ผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดจะต้องประเมินละเอียดอยู่แล้ว) และหากมีความเสี่ยงที่ปรับแก้ได้ ก็จะมีมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงนั้น
ความเสี่ยงจะถูกประเมินสองมิติ คือ มิติของการผ่าตัดว่าเป็นการผ่าตัดที่เสี่ยงมากน้อยเพียงใด อีกมิติคือมิติของตัวคนไข้ว่าได้รับการจัดกลุ่มว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงแบบใด ความเสี่ยงทั้งสองมิติจะได้รับการประเมินเป็นความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงสูง โดยกลุ่มที่จะต้องใส่ใจมากคือ การผ่าตัดที่เสี่ยงการเกิดโรคหัวใจสูง ร่วมกับ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจสูง
ในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่ำ คืออายุน้อยกว่า 65 และไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ อันนี้จะปลอดภัยสูงครับ เข้ารับการผ่าตัดได้ แต่ถ้ากรณีเป็นการผ่าตัดเสี่ยงสูงอาจตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือตรวจ hs-cTn ไว้เป็นพื้นฐานเอาไว้ติดตามและวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันหลังผ่าตัดเท่านั้น
ในกรณีอายุมากกว่า 65 ปีหรือมีความเสี่ยงโรคหัวใจ อีกกรณีคือเป็นโรคหัวใจแล้วไม่ว่าอายุเท่าไร กลุ่มนี้หากจะเข้ารับการผ่าตัดที่เป็นการผ่าตัดที่เสี่ยงระดับปานกลางขึ้นไป จะได้รับการประเมินโรคหัวใจเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเลือด การประเมิน fuctional capacity เช่นการตรวจร่างกาย การเดินสายพาน การตรวจคลื่นเสียงหัวใจ เพื่อประเมินและจัดการลดความเสี่ยงก่อนผ่าตัด และหากเป็นผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วและยังต้องผ่าตัดเสี่ยงสูง จะได้รับการประเมินจากอายุรแพทย์โรคหัวใจและใช้อุปกรณ์ที่ประเมินเชิงลึกมากขึ้นเช่น การทำ MRI, การให้ยากระตุ้นหัวใจแล้ววัดการทำงานหัวใจ
แล้วการผ่าตัดอะไรล่ะที่เรียกว่าเสี่ยงสูง ก็จะมีการผ่าตัดหลอดเลือดแดง มีการผ่าตัดช่องท้องขนาดใหญ่ เช่น ตัดต่อตับอ่อน-ลำไส้, ตัดเนื้อตับ, การตัดกระเพาะปัสสาวะ การผ่าตัดทรวงอกขนาดใหญ่เช่นการตัดปอด การตัดหลอดอาหาร การผ่าตัดปลูกถ่ายปอดหรือตับ
การผ่าตัดที่เสี่ยงต่ำเช่น ผ่าตัดเต้านม ทำฟัน ศัลยกรรมตกแต่ง กลุ่มนี้อาจไม่ต้องประเมินความเสี่ยงเลยครับ เพราะโอกาสต่ำมาก (ยกเว้นมีเงื่อนไขบางอย่างเช่น เป็นโรคหัวใจเดิม กินยากันเลือดแข็ง)
สุดท้ายแล้วประเมินเพื่ออะไร เพื่อจัดการก่อนผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงครับ เพื่อจัดการให้เรียบร้อยก่อนผ่า จัดตามลำดับเร่งด่วนการผ่าตัด และเฝ้าระวังหลังผ่าตัดครับ จัดลำดับดังนี้
หากฉุกเฉินรอไม่ได้ อย่างไรก็ผ่าตัดครับ แต่หากรอได้เช่น time-sensitive คือ การเลื่อนผ่าตัดจะส่งผลต่อการดำเนินโรคเช่นผ่าตัดมะเร็งแต่พอรอได้ หรือผ่าตัดเร็วแต่ไม่ฉุกเฉิน จะรอประเมิน (แต่ต้องประเมินโดยเร็ว) รีบจัดการความเสี่ยงแล้วเข้าผ่าตัด แต่ถ้ารอได้ระดับ elective เช่น ไส้เลื่อน, ตัดถุงน้ำดี อันนี้ประเมินและจัดการให้เรียบร้อย รักษาโรคเดิมให้ดีก่อนได้ ภายในเวลาประมาณหนึ่งปี
จบส่วนที่ 1/2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น