12 มิถุนายน 2566

Isoniazid ก็ตรวจยีนได้

 Isoniazid ก็ตรวจยีนได้นะ

ยา isoniazid เป็นยาสำคัญในการรักษาวัณโรค และหากดื้อยา isoniazid จะทำให้เกิดปัญหาวัณโรคดื้อยาได้มาก ตามสูตรยารักษาวัณโรคในผู้ใหญ่ จะใช้ยา isoniazid ขนาด 5 mg/kg/d ทั่ว ๆ ไปก็สามเม็ดต่อวัน แต่ว่ายา isoniazid ก็เป็นยาที่ทำให้เกิดตับอักเสบจากยาได้มากทีเดียว หากเกิดตับอักเสบจากยา จะต้องหยุดยาและใส่ยาใหม่ทีละตัว
ความรู้เกี่ยวกับยีน N-acetyltransferase-2 สามารถนำมาช่วยปรับยาได้ครับ มันยังไงล่ะ
การจัดการยา isoniazid ในร่างกายต้องอาศัยเอนไซม์ NAT2 นี้เพื่อขจัดยาออกจากร่างกายทางตับ หากเอนไซม์นี้ทำงานบกพร่อง สารพิษจากยาจะคั่งจนเป็นพิษต่อตับ ในทางตรงข้ามหากเอนไซม์นี้ทำงานดีมากก็จะต้องใช้ยาขนาดสูงขึ้น เพื่อได้ขนาดรักษา
เอนไซม์ NAT2 ถูกควบคุมจากยีน NAT2 ซึ่งเราสามารถส่งตรวจได้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็มีชุดตรวจ ถ้าเราตรวจยีนนี้ซึ่งมีสภาพเป็น polymorphisms (หลายรูปแบบฟอร์ม) จะสามารถจัดกลุ่มได้ออกเป็น 4 กลุ่มเรียงตามความสามารถในการทำงานกำจัดพิษยา rapid acetylator, intermediate acetylator, slow acetylator และ ultra-slow acetylator
หากเรามีปัญหาตับอักเสบจากยา isoniazid เราสามารถตรวจยีนนี้เพื่อระบุขนาดยาที่ใช้ และเป็นคำแนะนำที่ควรตรวจยีน เพื่อปรับยาและหลีกเลี่ยงการเกิดตับอักเสบได้ เช่น หากออกมาเป็น intermediate acetylator เราสามารถใช้ยา 200-300 มิลลิกรัมต่อวันได้ แต่ถ้าออกมาเป็น slow acetylators จะใช้ยาเพียง 100-150 มิลลิกรัมต่อวัน
สำหรับการตรวจก่อนให้ยาเพื่อระบุขนาดยาที่ใช้เริ่มรักษา มีการศึกษาน่าสนใจลงใน pharmacogenomics 14 มิย.2012 โดยเทียบการใช้ยา isoniazid ขนาดมาตรฐานเท่ากัน 5 mg/kg/d เทียบกับกลุ่มที่ใช้ขนาดยาตามชนิด acetylators ตามยีนนั้น พบว่า ผลการรักษาวัณโรคไม่ต่างกัน แต่ไม่พบตับอักเสบจากยาในกลุ่มที่ปรับยาโดยใช้การตรวจยีนก่อนให้ยาเลย
ในประเทศไทยมีการศึกษาระดับยา isoniazid ในกลุ่ม acetylators แบบต่าง ๆ ก็พบความจริงแบบเดียวกันว่า slow acetylators มีระดับยาในเลือดสูงกว่าในเวลาที่เท่ากัน และข้อมูลประเทศเราพบ intermediate acetylator มากที่สุด
อนาคตอาจจะมีการตรวจ NAT2 gene polymorphisms ก่อนการให้ยาก็ได้นะครับ … precision pharmacogenomics กำลังมาแรงมาก ใครสนใจสาขานี้รับรองรุ่งแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น