14 มิถุนายน 2566

โรคหืดในหญิงตั้งครรภ์

 คนหืดเกิดท้อง และ คนท้องเกิดหืด

ล่าสุดใน JAMA เช้านี้มีรีวิวและข้อคิดของการจัดการโรคหืดในคนท้อง มีอะไรบ้างที่เราน่ารู้ (ผมหยิบ GINA ล่าสุดมาผสมด้วย เพราะ JAMA ก็อ้าง GINA)
1. คนท้องมีโอกาสโรคกำเริบได้มาก จากฮอร์โมนและการติดเชื้อ ดังนั้น ไม่ควรหยุดการรักษา ไม่ควรขาดยา ไม่แนะนำปรับยาลดลงในช่วงท้อง การลดยาแล้วกำเริบอันตรายต่อเด็ก
2.ถ้าเป็นหืดอยู่แล้ว แนะนำคุมโรคให้ดีก่อนท้อง และเมื่อท้อง "ใช้ยาเดิมต่อเนื่องได้" ข้อมูลอันตรายต่อเด็กมีน้อยมาก ยกเว้น biologic agents เช่น omalizumab
3.ถ้าจะวินิจฉัยหืดในคนท้อง ใช้ประวัติ ตรวจร่างกาย การวัดสมรรถภาพปอดได้ เกณฑ์เหมือนคนปกติ แต่ไม่แนะนำทำ methacholine challenge test
4.การติดตามโรค อาจติดตามบ่อยขึ้น เพราะมีโอกาสเหนื่อยและกำเริบ ใช้การติดตามตามปกติได้ ยกเว้นการวัด FeNO ที่ไม่มีค่าอ้างอิงในคนท้อง
5.สามารถใช้ formoterol-based คือยาขยายหลอดลมตัวนี้ออกฤทธิ์ยาวนาน และออกฤทธิ์เร็ว ใช้เป็น on-demand ได้ด้วย จะผสมกับสเตียรอยด์สูดพ่นตัวไหนก็ได้ (ประเทศเรามีทั้ง budesonide และ fluticasone) ถ้าควบคุมไม่ได้จะเพิ่มยาพ่นขยายหลอดลมออกฤทธิ์สั้นร่วมด้วยได้
6.ช่วงจะคลอดอาจใช้ยาสูดพ่นแบบออกฤทธิ์สั้นได้ ในกรณีกำเริบ หรือกันว่าจะกำเริบในห้องคลอดห้องผ่าตัด และระวังภาวะน้ำตาลต่ำในทารกด้วย
7.คลอดธรรมชาติได้ ผ่าคลอดก็ได้
8.ถ้ากำเริบระหว่างตั้งครรภ์หรือช่วงคลอด ให้การรักษาเหมือนคนปกติที่ไม่ตั้งครรภ์ ใช้ยาฉีดสเตียรอยด์ได้ แต่ถ้าจะใช้แมกนีเซียม ต้องระวังมาก ๆ
9.อันตรายจากการไม่รักษาหรือหยุดรักษา มีมากกว่าอันตรายจากยา อย่างเทียบกันไม่ได้
10.อ่านข้อ 9 และข้อ 1 อีกครั้ง สำคัญมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น