10 มิถุนายน 2566

ยาต้านซึมเศร้าเพื่อลดอาการปวด

 ยาต้านซึมเศร้าเพื่อลดอาการปวด

ข่าวดังทีเดียวทั้งเว็บไซต์ทางการแพทย์และ CNN เกี่ยวกับการใช้ยาต้านซึมเศร้าในการรักษาอาการปวดเรื้อรัง
ข่าวออกมาพร้อมกันราวกับทฤษฎีสมคบคิดว่าข้อมูลที่เราใช้สนับสนุนยาต้านซึมเศร้าเพื่อรักษาอาการปวดนั้นมันอ่อนเสียเหลือเกิน ผมค้นเอกสารมาให้ด้านล่างนะครับ เอาล่ะเล่าคร่าว ๆ สั้น ๆ แล้วกัน
อาการปวดเรื้อรัง ไม่ว่าจะปวดอะไรก็ตามที จะมีกลไกและการรักษาต่างจากการปวดเฉียบพลัน การปวดเรื้อรังจะผ่านกลไกสารสื่อประสาทหลายชนิด ทั้งโดปามีน นอร์อะดรีนาลีน ซีโรโทนิน และยังมีการควบคุมการนำส่งกระแสประสาทด้วยระบบประสาทซิมพาเธติก ที่ผิดปกติไปด้วย
ทำให้การรักษาอาการปวดเรื้อรังทำได้ยาก ซับซ้อน ใช้หลายมิติในการรักษา และผลออกมาไม่ดีมากนัก สุดท้ายปลายทางปวดมากก็มีผลทางจิตใจ เครียด ซึมเศร้าได้อีก
ที่ผ่านมาพบว่ายาต้านซึมเศร้า ก็น่าจะไปควบคุมสารสื่อประสาทและการนำประสาท ทำให้การรักษาโรคปวดเรื้อรังไปในทางที่ดีขึ้น มีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยใช้ในขนาดต่ำ (ผลลดปวดใช้ยาขนาดต่ำกว่าผลลดซึมเศร้า) และยาที่ใช้ก็มีหลายกลุ่มหลายตัว ใช้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็เนิ่มใช้ยาผิดตัว ผิดขนาด ผลข้างเคียงเริ่มเกิด นักวิจัยจาก Cochrane Database เขาก็เลยเอาการศึกษาต่าง ๆ มาทบทวนวิเคราะห์อีกที
พบว่ายาที่มีผลการศึกษายาจริงเทียบยาหลอกที่มีหลักฐานระดับดี มีเพียงตัวเดียวคือ duloxetine (serotonin norepinephrine reuptake inhibitor) ว่าสามารถช่วยลดระดับการปวด ลดการใช้ยาแก้ปวด ที่ไม่ค่อยพบผลข้างเคียงเพราะใช้ยาขนาดต่ำ
ส่วนยากลุ่ม tricyclic antidepressant เช่น amitrityline (ตามที่ยกมาในการศึกษา) พบหลักฐานจากการศึกษาเปรียบเทียบไม่มากและผลการรักษาก้ำกึ่ง ส่วน ยากลุ่ม SSRI, NDRIs และ MAOI มีหลักฐานเรื่องการรักษาปวดเรื้อรังไม่มากนักและผลการรักษาก็ยังก้ำกึ่งว่าจะใช้ได้ดี
จึงเป็นที่มาของข่าว CNN, เว็บการแพทย์ ว่าเราอาจจะใช้ยาต้านซึมเศร้าเกินกว่าหลักฐานที่ปรากฏ ทั้งใช้หลายชนิด ทั้งใช้เกินขนาด และใช้ไม่ตรงกับโรค (มีรับรองใช้ใน chronic musculoskeletal pain, diabetic pain, neuropathic pain, fibromyalgia) และมีนักวิชาการหลายคนมาให้ความเห็นว่าอาจจะใช้ยาต้านซึมเศร้ามากเกินไปจนอาจมีโทษจากยาที่ชัดเจน เริ่มเพิ่มสูงกว่าประโยชน์อันไม่ชัดเจน
น่าจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอีกต่อไป สำหรับกรณีการใช้ยาที่ประโยชน์ก็พอมีบ้างและโทษของยายังไม่เกิด ว่าควรจะใช้ต่อหรือไม่ จะว่ากันตาม evidence-based จะว่ากันตามกลไกการทำงาน จะว่ากันตาม art ของการรักษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น