17 เมษายน 2566

แมลงกัด

 แมลงกัด

แผลแมลงกัด ลักษณะจะเป็นตุ่ม (papule) ส่วนมากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 เซนติเมตร ตุ่มจะแยกเดี่ยว ไม่ค่อยรวมกัน ยกเว้นโดนกัดหลายจุดใกล้กัน และมีลักษณะสำคัญอีกประการคือ มีจุดตรงกลาง จุดที่ถูกกัด (central necrosis) แต่ถ้าเป็นแมลงต่อย (sting) จะมีเหล็กไนหรือเข็มพิษตรงกลาง
โดยทั่วไปแมลงกัด มักจะไม่มีอันตรายใดนอกจากเจ็บและคัน มีแค่บางส่วนและน้อยจริง ๆ ที่จะเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง ผื่นขยายขนาด ลุกลามเป็นลมพิษ มีตาบวมหน้าบวม หายใจขัด และหากรุนแรงจะมีระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว ในกรณีนี้ต้องรีบพาไปโรงพยาบาล เพื่อฉีดสเตียรอยด์และยาแก้แพ้ หรือต้องกู้ชีวิตเลย
แต่โดยทั่วไป อาการไม่รุนแรง แล้วเราดูแลรักษาอย่างไร
ต้องบอกว่าการรักษาคือการรักษาตามอาการเพื่อลดอาการ (symptomatic treatment) หากไม่ได้รบกวนตัวคนไข้มาก ก็ไม่จำเป็นต้องจัดการอะไร แผลหายเองได้ครับ แต่ถ้ารบกวนชีวิต เรามียาอะไรบ้าง
1.ยากินแก้แพ้ (oral antihistamine) ใช่ครับ ฟังไม่ผิด ยากินแก้แพ้ โดยยาที่ได้รับการศึกษามากที่สุดคือ ยาแก้แพ้กลุ่มที่สอง (second generation antihistamine) เช่น cetirizine ที่ลดอาการได้ดี แต่ต้องกินตั้งแต่แรก ๆ โดยเร็ว แม้ว่าจะเป็นยาที่มีการศึกษามากที่สุด แต่ก็เป็นการศึกษาขนาดเล็กและไม่ได้เป็น RCTs ที่ได้มาตรฐาน คำแนะนำการใช้มาจากกลไกของยาและประสบการณ์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่าหลักฐานเชิงประจักษ์
2.ยาทาสเตียรอยด์ ลดอาการได้พอควร ยาที่ศึกษามากคือสเตียรอยด์ความแรงต่ำเช่น hydrocortisone cream โดยไม่แนะนำใช้หากสงสัยแผลติดเชื้อหรือมีแผลจากการเกา ระดับหลักฐานไม่หนักแน่น มาจากประสบการณ์ทางคลินิกและคำแนะนำผู้เชี่ยวชาญ
3.ยาทาแก้แพ้ ยาต้านฮิสตามีนแบบทา มีคำแนะนำใช้บ้าง หลักฐานอ่อนเช่นกัน
4.ยาทาเฉพาะที่เช่น คาลาไมน์ ,ยาสมุนไพรแบบทา, ยาหม่อง มีคำแนะนำใช้บ้างแต่ก็ไม่หนักแน่นอีกเช่นกัน ของไทยมียาหม่อง,ไพล, สเลดพังพอน, พลู, หอมแดง หรือน้ำมันยูคาลิปตัส
สรุปว่าการใช้ยาต่าง ๆ ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนหนักแน่น และคำแนะนำการใช้ก็เป็นประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แล้วแต่อาการ และจะใช้ตัวใดก็ขึ้นกับการตอบสนองของแต่ละบุคคล
อีกหนึ่งการรักษาคือการใช้กลไกเชิงกล เช่นประคบอุ่น หรือประคบเย็น การประคบจะกระตุ้นกลไกควบคุมความเจ็บปวดที่ตัวรับความรู้สึกที่แตกต่างกัน และจะไปบดบังอาการเจ็บคันจากการถูกแมลงกัด และสามารถลดกลไกการอักเสบได้บางส่วน แต่ผลการรักษาก็เป็นประสบการณ์ทางคลินิกของแต่ละท่านเช่นกัน

15 เมษายน 2566

ความเท็จในโลกออนไลน์ ดื่มน้ำเย็นแล้วหลอดเลือดจะแตก

 จริงหรือไม่ ?

ภาพการส่งต่อข้อมูลในโซเชียลออนไลน์ ที่แฟนเพจของเราส่งมาให้ดู แจ้งว่ามีคนส่งต่อกันมากและเชื่อกันมากทีเดียว เราลองมาถอดความแกะเทปแล้ววิเคราะห์กันนะครับ
1.เราจะเผชิญความร้อน 40-50 องศาเซลเซียสหรือไม่ แม้มีการรายงานค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา แต่นั่นคือค่าดัชนี ส่วนอุณหภูมิจริงหรือความรู้สึกจริงอาจแตกต่างออกไปขึ้นกับ ลม ความชื้น หรือแม้แต่คุณไปนั่งแช่ในห้างทั้งวัน
2.ถ้าร้อนมากแล้วแช่น้ำทันที ต่อให้เป็นน้ำเย็นมาก ตัวเราก็ไม่มีส่วนใดระเบิดหรอกนะครับ หลอดเลือดฝอยที่ผิวหนังจะตอบสนองต่อความร้อนโดยขยายตัวเพื่อระบายความร้อน ส่วนอากาศเย็นก็หดตัวเพื่อสงวนความร้อน ตามระบบประสาทร่างกายสั่งและฮอร์โมนใกล้เคียง ใช้การตอบสนองเป็นหลักนาที
3.ร่างกายมีระบบปรับอุณหภูมิมากมาย เพื่อรักษาอุณหภูมิกายให้อยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส (เราเป็นสัตว์เลือดอุ่น) ไม่ใช่เหล็กร้อนเผาไฟที่เอาไปจุ่มน้ำแล้วจะรุนแรงแบบนั้น นอกเหลือจากนี้ น้ำในเซลล์และนอกเซลล์ อันประกอบอยู่ในร่างกายมากกว่า 60% คือตัวปรับอุณหภูมิที่ดีมาก (buffer system)
4.ตามองไม่เห็นเฉียบพลัน ไม่มีกลไกใดเกี่ยวข้องกับเท้าจุ่มน้ำเลย คุณเอาเท้าจุ่มน้ำแข็ง หลอดเลือดที่สมองและลูกตาก็ปกติ ยิ่งหลอดเลือดในกะโหลกนะ มีระบบป้องกันสารเคมี อุณหภูมิ เชื้อโรค และไหลเวียนสำรองอีกด้วย จะเกิดขึ้นได้กรณีเดียวคือหลอดเลือดที่ดวงตาฉีกขาดหรืออุดตันจังหวะเดียวกับเท้าจุ่มน้ำเป๊ะเลย
5.น้ำจะเย็นแค่ไหน ดื่มเข้าไปร่างกายก็จะปรับให้เข้ากับอุณหภูมิกายอยู่ดี ดังนั้นอุณหภูมิภายนอกจะเท่าไร ไม่มีส่วนใดเกี่ยวกับ อุณหภูมิน้ำที่ดื่มเข้าไปอยู่ดี เหมือนกับคุณอยู่ขั้วโลก ฉี่ออกมาก็อุ่นเหมือนกัน เพราะมันคืออุณหภูมิกาย
6.ถ้าร้อนมาก หรือไข้สูง หรือลมแดด หรือ hyperthermia วิธีการรักษาคือ ทำให้เย็นอย่างรวดเร็วที่สุด เช่นพ่นละอองฝอยน้ำ อาบน้ำ เช็ดตัว ไม่จำเป็นใด ๆ ที่จะต้องปรับอุณหภูมิกายให้ลดลงก่อน และถามว่าคุณจะปรับอย่างไร คุณไปบังคับมันไม่ได้ มันคือระบบประสาทอัตโนมัติ และอยู่ที่ร้อนแค่ไหน อุณหภูมิกายก็ 37 ครับ
7.ดื่มน้ำเย็นทันที ไม่มีทางให้หลอดเลือดหดถึงขนาดตีบจนเกิดอัมพาตได้ เย็นมากสุดก็ที่กระเพาะ จะข้ามเข้าหลอดเลือดสมองได้อย่างไร อัมพาตเกิดจากการตีบตันเฉียบพลัน ร้อยละ 99.9% เกิดจากการอุดตันด้วยก้อนไขมัน ลิ่มเลือด
ถามว่าน้ำเย็นจะทำให้หลอดเลือดแดงตีบเฉพาะเส้นนั้นนี้ได้อย่างไร เพราะอัมพาตคือ เสียการทำงานของสมองตามพื้นที่ที่หลอดเลือดนั้นรับผิดชอบนะครับ
8.ขากรรไกรเกร็งค้าง ไม่ใช่อัมพาต อาจเป็นข้อต่อล็อก อาจเป็นบาดทะยัก อาจเกิดจากกระดูกขากรรไกรหัก แต่ไม่ใช่อัมพาต อัมพาตจะมีอาการหน้าเบี้ยว เคี้ยวไม่สะดวก พูดไม่ชัด
9.อุณหภูมิภายนอกสูง ก็ให้ดื่มน้ำมาก ๆ อุณหภูมิภายในสูง เช่นไข้ ก็ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ห้าม "ปล่อยให้ร่างกายร้อนต่อไป" นะครับ
10.มันไปเกี่ยวอะไรกับ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อีกอย่าง ไม่มีประเทศไหนข้างต้นโดนคลื่นความร้อนเลย ตอนนี้ที่น่ากังวลคือพายุฤดูร้อน โอกาสที่ประเทศแถบนี้จะมีคลื่นความร้อนน้อยมาก เพราะเป็นประเทศที่เป็นหมู่เกาะ ฝนตกเกือบทั้งปี ลมมรสุมพัดกันให้ฮึ่ม ๆ
11.เชื่อได้อันเดียว เวลาดื่มน้ำให้ค่อย ๆ ดื่ม เพราะเดี๋ยวมันจะสำลักครับ
เจอแบบนี้อย่าส่งต่อเลยครับ
May be an image of text that says 'ให้เตรียมรับมือกับอุณหภูมิ 40-50 องศา ควรดื่มน้ำสะอาด ดื่มช้าๆ หลีกเลี่ยงน้ำ เย็น น้ำแข็ง ขณะนี้ มาเลียเซีย อินโดนีเซีย งคโปรกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน อะไรควรท อะไรไม่ควรทำ 1. หมอบอกว หากร้อนถึง 40 องศา ไม่ ควรดื่มน้ำเย็นต่อไป เพราะหลอดเลือด เล็กอาจปริหรือระเมิดได้ เพื่อนของหมอ คนหนึ่งมาจากข้างนอก ้อนจนเหงื่อ แตก รีบล้างเท้าด้วยน้ำ ย็น ผลคือตาม องไม่เห็นต้องรีบเรียกรถพยาบาล 2. หากร้อนถึง 38 องศา ก็ปล่อยร่างกาย ร้อนไป อย่าดื่มน้ำเย็น ให้ดื่มน้ำร้อน หรือน้ำอุ่น ค่อย ดื่ม อย่ารีบรวนล้างขา นล้างขา ล้างมีอหรือส่วนที่ถูกแดดเผา ควรรอสัก 30 นาทีค่อยอาบน้ำ 3. ชายคนหุ่งร้อนมากรีบอาบน้ำ อาบ เสร็จขากรไกรแข็ง เป็นสโตรคไปเลย **ข้อควรระวัง** ในหน้าร้อนหรือยาม คุณอ่อนเพลีย หลีกเลี่ยงดื่มน้ำเย็นทันที เพราะมันจะทำให้หลอดเลือดหดเล็ก แล้วเป็นสโตรค (สอนลูกหลานด้วย)'
See insights and ads
Boost post
All reactions:
1.3K

การออกแรง ออกกำลังกาย ในช่วงอากาศร้อนจัด

 การออกแรง ออกกำลังกาย ในช่วงอากาศร้อนจัดแบบนี้ (รวมไปถึงการเล่นสงกรานต์)

การดื่มน้ำบ่อย ๆ สำคัญมากนะครับ เพราะเราไม่ได้เสียน้ำจากแสงแดด จากอุณหภูมิ ความชื้น เท่านั้น
การใช้กล้ามเนื้อกลางแดด จะต้องใช้พลังงานมากมาก พร้อมเสียน้ำมหาศาล ทางเหงื่อ ทางลมหายใจ ประมาณการณ์ว่า 800-1200 มิลลิลิตรต่อวัน หากออกแรงนาน ยิ่งเสียน้ำมาก
น้ำอะไร...น้ำเปล่านี่แหละครับ ดื่มบ่อย ๆ ดื่มเลยนะ ไม่จิบ จิบน้ำไว้ใช้ตอนเบลอหรือลมแดด เพราะต้องระวังสำลัก
อย่าลืมสวมเสื้อผ้าป้องกันแสงแดด ใส่แว่นกันแดด หมวก ร่ม ช่วยลดความร้อนและอันตรายจากรังสียูวีขนาดแรงกล้านี้ด้วย
แม้แต่ซ้อมไดรว์ในสนามมีร่ม ก็ไม่เว้น

13 เมษายน 2566

อาหารไฟเบอร์ ช่วยการขับถ่าย มีจริงไหม ?

 อาหารไฟเบอร์ ช่วยการขับถ่าย มีจริงไหม ?

มีจริงครับ และหากจะช่วยการขับถ่าย ต้องใช้เส้นใยชนิดไม่ละลายน้ำ (insoluble fiber) จะทำให้อุจจาระจับตัวกันเป็นก้อน มีมวลให้บีบไล่ มีแรงดันหูรูดมากพอ
นอกจากเส้ยใยไม่ละลายน้ำแล้ว ยังต้องดื่มน้ำมากพอ และขยับตัวมากพอด้วยครับ จึงจะถ่ายคล่อง
ในผู้สูงวัยต้องทบทวนยาที่ทำให้ท้องผูกเพิ่มอีกอย่าง
ส่วนชนิดอาหารที่มีปริมาณเส้นใยไม่ละลายน้ำสัดส่วนสูง ยกตัวอย่างดังนี้ครับ
ถั่วแดง ถั่วเขียว แบบต้มสุก
งาดำ ข้าวกล้อง
กระเฉดสุก คะน้าสุก ถั่วฝักยาวดิบ บร็อคโคลี ผักโขม
ฝรั่ง อาโวคาโด กล้วย
แต่ว่า กินในสัดส่วนปกตินะครับ อย่าโหมกินมาก เพราะคิดว่ายิ่งมากยิ่งถ่ายคล่อง เพราะมากเกินไปอาจเกิดท้องอืด และอาจจะอ้วนขึ้น เพราะหลายชนิดแม้เส้นใยสูง และพลังงานก็สูงเช่นกันครับ

12 เมษายน 2566

prediabetes เรื่องนี้น่าสนใจดี

 prediabetes เรื่องนี้น่าสนใจดี

1. prediabetes คือ ภาวะที่ค่าน้ำตาลในเลือดของคุณสูงแต่ยังไม่ถึงเกณฑ์เบาหวาน คือ ค่าน้ำตาลหลังอดอาหาร 100-125 หรือค่าน้ำตาลสะสม HbA1c 5.7-6.4% หรือทดสอบดื่มกลูโคส 75 กรัมแล้วเจาะเลือดที่สองชั่วโมงหลังดื่มได้ 140-199
2. สำคัญอย่างไร ก็เพราะมีโอกาสเกิดเบาหวานในอนาคตได้สูงกว่าคนปรกติ ได้ตั้งแต่ 3 ปีแรก ไม่ว่าจะสูงกว่าปกติ 6-20% หรือมากกว่าคนปกติ 6 เท่า ก็แล้วแต่การศึกษา แต่สรุปว่าโอกาสเกิดเบาหวานสูงมากขึ้นและต้องเฝ้าระวัง
3. สำคัญมากขึ้นคือ ภาวะ prediabetes ก็ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนปกติ นี่ขนาดยังไม่เป็นเบาหวานนะ นั่นคือแม้จะเจอ prediabetes คุณก็ควรเริ่มปรับชีวิตได้เแล้ว
4. สำคัญระดับสูงสุดคือ การปรับชีวิตทำแบบผู้ป่วยเบาหวาน จะช่วยลดโอกาสจากที่ prediabetes กลายไปเป็นเบาหวานร่างสมบูรณ์ได้ด้วย ทำให้ prediabetes หายได้ และความเสี่ยงโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ก็ลดลง
5. งั้นต้องคัดกรองทุกคนไหม อันนี้มีความเห็นต่างกันไป ADA บอกทำทุกคนที่อายุมากกว่า 35 แต่หน่วยงาน USPSTF บอกว่าไม่ใช่แค่ 35 แต่ต้องมีปัจจัยเสี่ยงอื่นด้วย คือ น้ำหนักเกิน มีประวัติครอบครัวเบาหวาน หรือเคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยถ้าคัดกรองแล้วปรกติก็ทำซ้ำทุก 3 ปี
6. แล้วถ้าคัดกรองแล้วพบว่าเป็น prediabetes แล้วจะทำอย่างไรดี นอกเหนือจากควรปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานเต็มขั้น คือทำตัวเหมือนเป็นเบาหวานนั่นแหละ แล้วควรคัดกรองต่อเนื่องทุกปี เพราะโอกาสพัฒนาไปเป็นเบาหวานจะสูงมาก
7. ใช้ยาได้ไหม ลดโอกาสเป็นเบาหวานไหม อันนี้น่าคิด เพราะมีการศึกษาใช้ยา metformin ตั้งแต่เริ่ม prediabetes เลย พบว่าผลแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดลดลง โอกาสพัฒนาไปเป็นเบาหวานเต็มขั้นลดลง แต่ว่าต้องคิดถึงผลข้างเคียงในระยะยาวของยา และที่สำคัญ พลังของยาไม่แรงเท่าการปรับชีวิต และไม่ยั่งยืนยาวนานเท่าการปรับชีวิตด้วย อันนี้มีหลักฐานยืนยัน
8. ยาอื่นก็มีการศึกษาในภาวะ prediabetes ก็มีการศึกษาเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดและลดเบาหวาน เช่น thiazolidinediones, GLP1a แต่ขนาดการศึกษาไม่มากและผลยังไม่ดีพอที่จะมาสรุปเป็นยาป้องกันได้
9. สรุปว่าการปฏิบัติตัวเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง กินไม่มากเกิน ลดน้ำตาลส่วนเกิน ลดไขมันอิ่มตัว ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เลิกบุหรี่ พักผ่อนเพียงพอ ยังสามารถป้องกันและรักษาโรคได้ดีเสมอ ทำเถอะครับ
10. ข้อมูลมาจาก JAMA วันนี้ อ่านเพิ่มได้ฟรีครับ และสวัสดีปีใหม่ไทย เดินทางปลอดภัย ดื่มไม่ขับ ยิ้มแย้มตลอดการเดินทางนะครับ

11 เมษายน 2566

Bristol Stool รู้จักการแบ่งความเหลวแข็งของ "อึ" กันเถอะ

 Bristol Stool รู้จักการแบ่งความเหลวแข็งของ "อึ" กันเถอะ

เวลาเราพูดถึงว่าอุจจาระแข็งหรือเหลว ลักษณะเป็นแบบไหน ต่างคนก็ต่างบรรยาย ไม่มีลักษณะที่กล่าวถึงแบบสากล ใช้ในการศึกษาวิจัยได้ตรงกัน
ปี 1997 เคน ฮีตัน กับ สตีเฟ่น ลิวอิส สองนักวิจัยจากภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงเรียนแพทย์บริสตอล ได้ตีพิมพ์งานวิจัยหาความสัมพันธ์ของการถ่ายอุจจาระกับลักษณะอุจจาระ ในวารสาร scandinavian journal of gastroenterology
ลักษณะอุจจาระที่หนึ่งและสอง สัมพันธ์กับโรคท้องผูก
ลักษณะอุจจาระที่สามและสี่ คืออุจจาระปรกติ
ลักษณะอุจจาระแบบที่ห้า คือ ขาดเส้นใย ไม่มีเส้นใยมากพอที่อุจจาระจะจับตัวเป็นก้อน
ลักษณะที่หกและเจ็ด คือ ถ่ายเหลว โดนเฉพาะแบบที่เจ็ดคือ เกิดจากการอักเสบของลำไส้
เราใช้ลักษณะแบบนี้เป็นสากลในการสื่อสารและวิจัย เรียกว่า Bristol Stool Scale
จากภาพ ลองดูอึของเรานะครับ ว่าเป็นแบบใด
May be an image of text that says 'Bristol Stool Chart Type1 Separate hard lumps, like nuts (hard to pass) Type2 Sausage-shape but lumpy Type3 Like a sausage but with cracks on the surface Type4 Like a sausage or snake, smooth and soft Type 5 Soft blobs with clear-cut edges Type 6 Fluffy pieces with ragged edges, a mushy stool Type7 Watery, no solid pieces. Entirely Liquid'
See insights and ads
Boost post
All reactions:
279

10 เมษายน 2566

เรื่องเล่าจากคลินิก ปรึกษาเลิกเหล้า

 เรื่องเล่าจากคลินิก

สุภาพสตรีวัยประมาณ 50 ปีท่านหนึ่ง เดินมาคนเดียว เข้ามาปรึกษาในร้าน..แต่ว่าไม่ได้ปรึกษาเพื่อตัวเอง
คุณผู้หญิงเดินเข้ามาปรึกษาและสอบถาม เพราะเห็นป้ายหน้าร้านว่าที่นี่รับปรึกษาเลิกบุหรี่ จึงสอบถามว่ารับปรึกษาเลิกเหล้าด้วยไหม เธออยากมาปรึกษาเรื่องสามีติดเหล้า เคยป่วยจากเหล้าหลายครั้ง เคยคุยเรื่องเลิกเหล้ากับสามีแต่ไม่สำเร็จ ชวนมาปรึกษาแพทย์ด้วยกันก็ไม่มา
ผมสอบถามเรื่องภาวะร่างกายของสามี เท่าที่จำได้ เธอบอกว่าไม่มีเวลาไปตรวจเพราะทำงานในเวลาทำการ จะลางานก็ลำบาก จำได้แต่ว่าตอนป่วยหมอแจ้งว่าตับอ่อนอักเสบ และเคยตรวจพบค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดพันกว่า ๆ
คุยกันจนถึงปัญหากระทบกระทั่งในครอบครัว ปัญหาเรื่องหนี้สิน ปัญหาเริ่มลุกลามมาที่ลูกที่ต้องมาช่วยดูแลพ่อที่ป่วยบ่อยจนขาดเรียน เธอเข้มแข็งมาก แม้น้ำตาซึม แต่ยังมีสติและสมาธิเล่าปัญหาด้วยเสียงราบเรียบ ใจเย็น
เธอสอบถามว่า มียาอะไรที่ทำให้เลิกเหล้าได้ไหม หรือกินน้อยลงก็ยังดี ตอนนี้มืดแปดด้านไม่รู้จะทำอย่างไร
มันสะท้อนอะไรบ้างครับ
1.พวกเราต้องยอมรับว่าการติดสุราคือปัญหา ปัญหาที่ซับซ้อน มีขนาดความสำคัญตั้งแต่เล็กมากคือไม่มีเงินซื้อข้าว ไปจนยิ่งใหญ่คือโรคตับแข็งและมะเร็ง ปัญหาต่อผู้อื่นคือเมาแล้วขับ ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ดื่มเหล้าจะเกิดปัญหาทุกคน แต่มันก็ทำให้เกิดปัญหากับอีกหลายคน ทั้งที่ทราบปัญหาแล้วละเลย และไม่รู้ว่ามันอาจสร้างปัญหาในอนาคต
2.หลายคนที่คิดว่าดื่มเหล้าเมามายหรือมีพิษ ก็คือพิษต่อตัวเอง กินเองก็ต้องยอมรับข้อเสียเองได้ แต่ในความเป็นจริง มีคนที่ทุกข์ใจและเสียใจจากการดื่มเหล้าติดเหล้าของสมาชิกในครอบครัว ทั้งที่พูดไม่ได้ ทั้งที่พยายามเต็มที่อย่างกรณีคุณสุภาพสตรีนี้ ทั้งที่ท้อใจจนไม่อยากจะเอ่ยถึง แต่เชื่อเถอะ ยังมีคนทุกข์ใจจากการดื่มเหล้าจนติดแบบนี้อีกมาก
3.คนที่สำคัญที่สุดที่จะลดเหล้า เลิกเหล้า คือคนที่ดื่ม ต้องมีความคิดริเริ่มที่จะเลิกลดก่อน อย่างในกรณีนี้ โอกาสสำเร็จน้อยมาก เพราะสามีเธอไม่ได้อยากจะเลิก ได้ยาช่วยเลิกเหล้าก็จะไม่กิน การรักษาต่าง ๆ ก็สูญเปล่ามาก
4.ขอบอกว่า ระบบการเข้าถึงการเลิกเหล้า ไม่ง่ายเลยครับ ร้อยละแปดสิบเก้าสิบจะอยู่ที่แผนกจิตเวชศาสตร์ ที่ผู้ติดเหล้าทุกคนจะคิดว่าเขาไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวช (จริง ๆ แล้วก็มีส่วนเป็นโรคอยู่นะ) การรักษาที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือของครอบครัวสูงมาก การบริการใกล้บ้านแทบไม่มี (ทางไกลไม่ต้องพูดถึงเลย) ยารักษาการติดเหล้าโดยตรงก็ไม่มี การเข้ารับการบำบัดสารเสพติดก็ยากที่จะเบิกจ่ายได้ด้วย
5.ตรงข้ามกับข้อสี่ คือ เหล้าหาง่ายกว่ากระบวนการและยาเลิกเหล้า
สิ่งที่ทำได้ สิ่งที่ช่วยสุภาพสตรีท่านนี้ได้ คือ ให้คำแนะนำว่าเริ่มพาสามีมาตรวจโรคจากเหล้า แล้วค่อย ๆ ปรับสภาพจิตใจ พูดคุยทีละขั้นตอนเริ่มจากรักษาโรค ลดความเสี่ยง ลดเหล้า เมื่อเห็นรูปธรรมแล้วจึงหยุดเหล้า
เปิดช่องทางให้ติดต่อเพื่อลดความเครียดของคนในครอบครัวที่ต้องเผชิญกับผู้ติดเหล้า หากคุณภรรยาท้อแท้ เครียดมาก ใครจะช่วยสามีและครอบครัวเขาอีกล่ะ
ยากกว่าการรักษาผู้ป่วยวิกฤตที่แก้ไขกลไกการเกิดโรค แต่นี่ต้องปรับ mindset ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ที่สำคัญคือ ตัวผู้รักษาเอง ก็ต้องเข้มแข็งเช่นกัน

08 เมษายน 2566

แพ้ยาเพนิซิลิน ท่านก็มีโอกาสแพ้ยากินต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

 ประกาศ

ถ้าท่านได้รับการประเมินว่าแพ้ยาเพนิซิลิน ท่านก็มีโอกาสแพ้ยากินต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย
เพราะมันคือลูกหลานสายตรงของเพนิซิลิน
cloxacillin
amoxicillin
amoxicillin/clavlanic acid
amplicillin/sultamicillin
มีคนไข้ที่แพ้เพนิซิลิน มีบัตรบันทึกว่าผื่นขึ้น แต่ลูกหลานซื้ออะม็อกซี่ซิลินมาให้ เพราะไอเจ็บคอ
หนึ่ง .. ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ
สอง .. ยาฆ่าเชื้อนี้ก็กลุ่มเดียวกับเพนิซิลิน
ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา โดยเฉพาะหากท่านเคยแพ้ยา

07 เมษายน 2566

Basal cell carcinoma ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา

 สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวรายงานว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เข้ารับการรักษามะเร็ง

แต่ทำไมเป็นข่าวเล็ก ไม่ตื่นเต้นเลย
รายงานข่าวนั้นคือท่านประธานาธิบดีเข้ารับการรักษามะเร็งผิวหนังชนิด basal cell carcinoma และตอนนี้การรักษาเสร็จสิ้นแล้ว ปลอดภัยดี กลับมาทำงานได้ปรกติ เรามารู้จักมะเร็งผิวหนังชนิด basal cell กัน
ชื่อก็บอกแล้วว่า มาจากเซลล์ชั้น base ของผิวหนัง การที่เราจะรู้ว่ามันมาจากไหนก็ต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจใช่ไหมครับ การวินิจฉัยคือการตัดชิ้นเนื้อซึ่งไม่ค่อยพลาดเท่าไร ทั้งการดูด้วยตา การย้อมสี แต่ปัญหาของการวินิจฉัยที่สำคัญคือ วินิจฉัยล่าช้า เพราะปล่อยให้ก้อนโตขึ้นลุกลาม คิดว่าไม่น่าเป็นอะไร โดยเฉพาะคิดว่าเป็นไฝ
มะเร็ง basal cell เป็นมะเร็งที่พบมากในฝั่งคนผิวขาว ส่วนคนไทยนั้นข้อมูลปี 2013-2015 จากสถาบันโรคผิวหนัง พบอยู่ที่ประมาณ 3.8 ต่อแสนคนปี และพบมากในผู้ที่อายุเกิน 60 ปี อัตรานี้น้อยกว่าอเมริกาเป็นสิบเท่า (แต่ส่วนหนึ่งเพราะเราวินิจฉัยน้อยด้วยนะครับ)
Basal cell carcinoma เป็นที่ทราบและพิสูจน์ชัดเจนว่ามีปัจจัยการก่อโรคที่สำคัญอันหนึ่งคือ แสงแดด แสงยูวี โรคจึงมักพบในพื้นที่ผิวหนังส่วนที่สัมผัสแสงแดดครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งนาน ๆ โดนแดดทั้งวัน จะต้องเป็นมะเร็งนะครับ
ปัจจุบันเราเริ่มพบว่าเชื้อชาติ และยีนก่อนโรคน่าจะมีผลสำคัญด้วย ว่าใครโดนแดดแล้วจะเกิดมะเร็งมากกว่า แต่เนื่องจากยีนนั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์เป็น pathogenic gene หรือยีนก่อโรค ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงจึงจำเป็น สำหรับคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งบ่อย ๆ โดนแดดนาน ๆ การสวมเสื้อป้องกัน การทาครีมกันแดด จึงมีความสำคัญครับ
ท่านประธานาธิบดีรักษาหายง่ายดาย เพราะเขาดำรงตำแหน่งหมายเลขหนึ่งของสหรัฐหรือเปล่า ก็ไม่นะครับ เพราะโรคนี้การพยากรณ์มันดีมากต่างหาก หากรักษาโดยการผ่าตัดตั้งแต่ต้น ขนาดเล็กและยังไม่ลุกลาม ผมก็มีข้อสังเกตไฝฝ้าราคีในตัวง่าย ๆ ให้มาสังเกตกัน หากผิดปกติแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านให้ช่วยดูให้ครับ
1.แผลผิวหนังที่ไม่หายเสียที มีน้ำเหลืองซึม มีเลือดซึมตลอด
2.สีผิวหนังที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะแดงขึ้น แดงเรื่อ คล้ำลง เหมือนมีไฝขึ้น โดยเฉพาะหากมีอาการ คัน เจ็บ หรือขนาดโตขึ้น น่าจะลองไปให้คุณหมอตรวจ
3.พื้นที่เปลี่ยนไป นูนขึ้น เป็นก้อน หรือยุบลง เมื่อเทียบกับพื้นที่โดยรอบ ยิ่งถ้าสีเปลี่ยน ยิ่งน่าสงสัย
4.มีลักษณะของแผลเป็น โดยที่ไม่เคยมีแผลบริเวณนั้นมาก่อน
สำหรับคนที่ไปเจอตอนก้อนใหญ่แล้ว การรักษาอาจจะซับซ้อนทั้งการผ่าตัด การจี้ความเย็น การให้ยา hedgehog pathway inhibitor แต่ไม่ค่อยพบโรคมะเร็งชนิดนี้ลุกลามไปบริเวณข้างเคียงหรือแพร่กระจายไปอวัยวะต่าง ๆ ครับ
ท่านประธานาธิบดีเข้ารับการรักษาและหายดี กลับมาทำงานได้ตามปรกติแล้วครับ
อ่านฟรี
Di Nardo, L., Pellegrini, C., Di Stefani, A. et al. Molecular alterations in basal cell carcinoma subtypes. Sci Rep 11, 13206 (2021). https://doi.org/10.1038/s41598-021-92592-3
Tiyawatanaroj A, Sudtikoonaseth P, Chayangsu O. Basal cell carcinoma trends in Thailand: A 10-year retrospective study of demographic, clinical and histopathological features. Dermatol Reports. 2021 Dec 30;14(1):9413. doi: 10.4081/dr.2022.9413. PMID: 35371421; PMCID: PMC8969878.
Chattinnakorn S. Basal Cell Carcinoma of the Skin. SRIMEDJ [Internet]. 2015 Feb. 28 [cited 2023 Apr. 7];29(6):574-80. Available from: https://li01.tci-thaijo.org/.../SRIMEDJ/article/view/31592

05 เมษายน 2566

เรื่องเล่าจากคลินิก ไทรอยด์เป็นพิษหรือไม่

 เรื่องเล่าจากคลินิก

ไม่คิดว่าการเปิดร้านเอง จะทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย และเล่าเรื่องต่าง ๆ ได้สนิทใจมากขึ้น
ไม่นานมานี้มีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง เข้ามาปรึกษาเรื่องปัญหาไทรอยด์ สุภาพสตรีท่านนี้อายุประมาณ 20 ปลาย ๆ ทำงานอาชีพอิสระรายวัน
หลายปีก่อน เธอตัดสินใจซื้อยาลดน้ำหนักทางออนไลน์ เป็นยาชุด โดยที่น้ำหนักเธอก็ไม่ได้เยอะมาก หลังจากกินไปได้สักสองสัปดาห์ เธอเริ่มรู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น หวิว น้ำหนักลด เหงื่อออกมาก
เธอจึงหยุดยาไปตรวจที่โรงพยาบาล และได้รับการวินิจฉัยไทรอยด์เป็นพิษ รับยาต้านไทรอยด์มากินอยู่ปีกว่า ๆ จนหมอให้หยุดยา
ตอนนี้เธอรู้สึกหวิว ๆ กลัวว่าจะเป็นซ้ำ จึงมารับการตรวจ
ผมถามว่า ได้บอกคุณหมอไหมว่ากินยาลดน้ำหนัก เธอบอกว่า ไม่ได้บอก เพราะไม่คิดว่าเกิดจากยา และพอผลออกมาว่าไทรอยด์เป็นพิษ เธอก็คิดว่าไม่ได้เกิดจากยาแน่
แล้วคุณหมอได้ถามประวัติเรื่องยาไหม เธอบอกว่าคุณหมอไม่ได้ถามเรื่องยาแต่อย่างใด
ผมขอสันนิษฐานจากประสบการณ์และอายุ สุภาพสตรีท่านนี้ได้รับฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อใช้ลดน้ำหนักแน่นอน และคุณหมอก็ตรวจเจอไทรอยด์เป็นพิษจากยาที่กิน
ระยะเวลากว่าปีที่ต้องรักษา ต้นทุนชีวิตหนึ่งปี ค่ารักษาพยาบาล โอกาสเกิดผลแทรกซ้อน ที่อาจเกิดกับคนไข้และคุณหมอ คือสิ่งที่ต้องคิดนอกเหนือจากการวินิจฉัยและการรักษา
….สิ่งที่ผมเห็น…
ความเข้าใจเรื่องการควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก วิธีการที่ใช้ และผลเสียจากการใช้ยาที่ไม่ได้รับการควบคุมรับรอง … ประเด็นตรงนี้ผู้คนทั่วไปยังเข้าใจผิดอีกมาก
ความสมบูรณ์เรื่องประวัติการใช้ยา อันนี้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมอและคนไข้ คนไข้ส่วนมากไม่ทราบว่ายาจะมีผลเสียใดบ้าง หลายคนไม่ได้มีเจตนาปกปิด แต่ไม่รู้และคิดไม่ถึงจริง ๆ (ต้องจำลองตัวเองเป็นผู้ป่วยในขณะเวลานั้นด้วยนะ การมองย้อนหลังทำให้เราได้เปรียบ)
หมอเองก็อาจจะมีเวลาน้อยลง การซักประวัติยาที่เคยใช้เคยได้ก็อาจไม่ทัน การที่มีเวลาตรวจน้อย ทำให้การมองรอบด้านทำได้น้อยลงมาก
การควบคุมการใช้ยาจากผู้มีอำนาจ ยังทำได้ไม่เข้มงวด กรณีแบบนี้มีให้เห็นบ่อย ๆ ไม่เคยหมดไป การรณรงค์เรื่องความรู้การใช้ยาตามสื่อต่าง ๆ มีเป็นพัก ๆ ตามกระแสนิยมเท่านั้น
ช่องว่างมากมายระหว่างผู้ป่วยกับหมอ ประชาชนกับสาธารณสุข อาจเป็นช่องว่างที่ไม่ใช่ระยะทาง แต่คือ โอกาสเข้าถึง เวลาที่มีให้กัน การสื่อสารที่ผิดพลาด
ทำให้แม้แต่คนในเมืองก็ยัง "เข้าไม่ถึง" การบริการมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข
ยังมีเรื่องเล่าอีกเยอะเลย เวลาได้รักษาคนไข้แบบคุยด้วยกัน เดินไปด้วยกัน และคิดเหมือนเขาคือคนที่เรารักและเอาใจใส่ มันเปิดใจได้ ทั้งใจคนไข้และใจหมอ
มีความสุขจริงครับ
May be an image of 5 people
See insights and ads
Boost post
All reactions:
678