01 มีนาคม 2566

การตรวจ sleep test ที่บ้าน

 การตรวจ sleep test ที่บ้าน

หากสงสัยโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ การตรวจวินิจฉัยที่ถือเป็นมาตรฐานคือ overnight polysomnography ที่วัดค่าต่าง ๆ มากมายทั้งคลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ การไหลของอากาศ การขยับทรวงอก แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคของการตรวจคือ ต้องไปนอนตรวจที่แล็บอย่างน้อยหนึ่งคืน ประเด็นแค่นี้ก็เป็นอุปสรรคมากมายต่อการตรวจรักษาแล้ว
เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไป เราได้พัฒนาการตรวจการนอนหลับได้หลายแบบ แบบแรกคือตรวจเต็มพิกัดภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ การทดสอบแบบที่สองจะเหมือนวิธีแรก แต่ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแล คือสามารถตรวจพร้อมกันหลายคนผ่านระบบทางไกล มีคนคอยดูที่หน้าจอรวมแค่คนเดียว ก็สะดวกขึ้น
การตรวจแบบที่สามและสี่ จะตรวจเก็บข้อมูลน้อยลงและสามารถใช้อุปกรณ์แบบง่ายกว่า ไปทำที่บ้านและเอาบันทึกมาแปลผล หรือปัจจุบันหลายที่สามารถดูผลทันทีเรียลไทม์ ผ่านระบบเทเลเมดิซีนได้เลย ทำให้สะดวก ผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจและสามารถกระจายการตรวจได้กว้างมากขึ้น เรียกว่าปิด painpoint ของการตรวจเต็มรูปแบบได้ดีทีเดียว การตรวจแบบที่สามจะตรวจไม่เกิน 7 สัญญาณ ส่วนการตรวจแบบที่สี่จะตรวจเพียง 1-3 สัญญาณ ซึ่งแน่นอนว่าความจำเพาะของการวินิจฉัยจะลดลง และไม่สามารถวิเคราะห์รูปแบบความผิดปกติของการนอนหลับได้สมบูรณ์ ที่สำคัญคือไม่มีสัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมองที่จะบอกความผิดปกติรูปแบบของการนอน แต่ว่าเพียงพอในการวินิจฉัยและตัดสินใจรักษา
การตรวจแบบที่ห้าจะใช้สัญญาณจากหลอดเลือดแดงมาแปรเป็นสัญญาณอื่น ๆ ในการวินิจฉัยเรียกว่า peripheral arterial tonometry (PAT) สะดวกที่สุด ไม่ต้องมีสายรัดใด แต่มีความไวและความจำเพาะจำกัดที่สุด และมีความแปรปรวนได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
สำหรับการตรวจแบบที่สามและสี่ ปัจจุบันนิยมใช้ตรวจที่บ้าน มีความไวในการวินิจฉัย 82-94% ความจำเพาะในการวินิจฉัย 82-100% ขึ้นกับเกณฑ์ที่เราใช้วินิจฉัย ความถูกต้องแม่นยำของการใช้อุปกรณ์ บางทีเลื่อนหลุด ค่าก็เปลี่ยนมากมาย หากเราเลือกทำในผู้ป่วยที่สงสัยจะเป็นโรค (high pretest probability) จะสามารถวินิจฉัยโรคด้วยความแม่นยำมากขึ้น จึงไม่แนะนำให้ทำเพื่อคัดกรองในคนที่ไม่มีอาการหรือไม่สงสัย เพราะอาจเกิดผลบวกปลอมได้มากครับ
ส่วนการตรวจแบบ PAT ที่น่าจะสะดวกที่สุดในปัจจุบัน อาศัยข้อมูลจากจากหลอดเลือดและแรงลมหายใจมาคำนวณข้อมูลนั้น มีการทำ mata-analysis หลายชิ้นงาน แต่ว่างานวิจัยที่เอามาทำนั้น มีความแปรปรวนมาก คุณภาพงานวิจัยอยู่ในระดับปานกลาง ก็พบว่าหากใช้เกณฑ์การวินิจฉัยมาตรฐาน AHI มากกว่า 5 มีความไว 96% แต่ความจำเพาะเพียง 45-50% จะมีคนไข้ได้รับการวินิจฉัยมากขึ้นซึ่งอาจต้องไปทำการตรวจการนอนหลับมาตรฐานยืนยันอีกรอบ แต่ถ้าปรับเกณฑ์การวินิจฉัยเป็นค่า AHI ที่เกิน 30 ความไวจะลดลงเหลือ 80% แต่ความจำเพาะจะขยับสูงขึ้นเป็น 90% ก็จะมีคนที่ป่วยแต่หลุดการทดสอบมากขึ้น หมายถึงต้องเลือกผู้ป่วยและต้องแปลผลอย่างระมัดระวังนะครับ
ก่อนจะเลือกการทดสอบใด ต้องทราบข้อดี ข้อจำกัด การแปลผล และการนำผลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น