11 กุมภาพันธ์ 2566

การรักษาความดันโลหิตสูงด้วยวิธีลดกระแสประสาทที่ไปควบคุมไต renal denervation

 การรักษาความดันโลหิตสูงด้วยวิธีลดกระแสประสาทที่ไปควบคุมไต renal denervation

เป็นที่ถกเถียงและมีการศึกษามากมายถึงการรักษาด้วยวิธีนี้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ สมาคมโรคความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีนี้ ผมอ่านแล้วมีข้อคิดสำหรับคนไข้โรคความดันหลายคนที่อาจจะคิดว่าเจอแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว แต่ช้าก่อน ลองอ่านมุมมองสำคัญดูก่อน ส่วนคุณหมอที่สนใจ ผมแนบอ้างอิงไว้ด้านล่าง อ่านฟรี
คำแนะนำระดับควรทำ แต่มาจากหลักฐานที่ไม่หนักแน่น คือ ในผู้ป่วยที่เป็น refractory hypertension หมายถึงได้รับการรักษาแนะนำการปฏิบัติตัวแล้ว และได้รับยาลดความดันในขนาดเหมาะสมถึง 5 กลุ่มยา หนึ่งในนั้นจะต้องมียาขับปัสสาวะอยู่ด้วย ได้ครบ 5 ตัวห้ากลุ่มก๋ยังคุมความดันโลหิตไม่ได้
และก่อนจะทำ อย่าลืมหาสาเหตุอื่น ๆ ของความดันโลหิตสูง ขนาดยา ตรวจสอบความสม่ำเสมอการกินยา สิ่งอื่นที่อาจทำให้ความดันขึ้นด้วยเสมอ
คิดครบและจัดการครบ จึงพิจารณาทำหัตถการ renal denervation ซึ่งจะสำเร็จได้และผลข้างเคียงน้อย ต้องอยู่กับสถานที่ที่มีประสบการณ์การทำหัตถการที่มากพอควรด้วย
กระบวนการ จะใส่สายสวนหลอดเลือดแดงจากขาหนีบ ไต่ไปที่หลอดเลือดแดง renal artery แล้วใส่ขดลวดเกลียวไปถ่างหลอดเลือด เพื่อให้หัวโพรบที่จะปล่อยคลื่นวิทยุอยู่ติดผนังหลอดเลือด แล้วปล่อยคลื่นวิทยุมาทำลายเส้นประสาท sympathetic ที่พันรอบหลอดเลือด ค่อย ๆ ทำลายวนรอบผนังไปเรื่อย ๆ (สิทธิบัตรของเครื่องมือที่ชื่อ simplicity)
คลื่นวิทยุที่ได้รับความนิยมมากคือ 91.5 ฮอตเวฟ เรดิโอ
อีกกรณีแต่ระดับคำแนะนำต่ำกว่า คือ เป็น resistant hypertension และเสี่ยงมากหากปล่อยให้ความดันสูงต่อไป หรือ ใช้ยาไม่ได้ ก็อาจจะพิจารณาทำ คำว่า resistant ก็คิดเหมือน refractory แต่ว่ากำหนดยาเพียงสามกลุ่มเท่านั้น และหนึ่งในนั้นเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน
เป็นอีกทางเลือกที่ไม่ได้ทำง่ายนัก และมีคนที่จะทำไม่มาก ราคาสูงด้วย มีเพียงไม่กี่คนที่เหมาะสมเข้ารับการรักษา แต่ส่วนใหญ่ที่รักษาแล้วล้มเหลวคือ…
ไม่กินยา ไม่ปฏิบัติตัวเคร่งครัด และรักษาไม่ต่อเนื่องครับ
อ่านฟรีนะ
Roubsanthisuk, W., Kunanon, S., Chattranukulchai, P. et al. 2022 Renal denervation therapy for the treatment of hypertension: a statement from the Thai Hypertension Society. Hypertens Res (2023). https://doi.org/10.1038/s41440-022-01133-6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น