06 กุมภาพันธ์ 2566

refeeding syndrome

 refeeding syndrome ...ไม่รู้จะแปลไทยอย่างไรให้เข้าใจกันดี เอาว่าอธิบายเลยแล้วกัน

ในกรณีที่คนไข้ขาดสารอาหารมานานๆ ร่างกายจะมีการปรับตัวให้ฮอร์โมนที่ใช้ในการ "สร้าง" ลดลง เพราะวัตถุดิบมันขาด เกลือแร่ต่างๆอยู่ในภาวะที่ขาดดุล แต่คงที่ เมื่อมีการให้อาหารเข้าไป โดยเฉพาะอาหารทางหลอดเลือดดำ ร่างกายได้รับวัตถุดิบมหาศาลในทันที !!!
ร่างกายเลยต้องหลั่งฮอร์โมนออกมาจัดการพลังงานเหล่านั้นทันที โดยเฉพาะ อินซูลิน เพื่อนำพลังงานเข้าเซลล์ มันไม่ได้นำพลังงานอย่างเดียว มันพาเกลือแร่ต่างๆเข้าเซลล์ด้วย โดยใช้วิตามินต่างๆเป็นตัวช่วยควบคุม เกลือแร่ที่น้อยๆแต่สมดุลก็กลายเป็นน้อยและไม่สมดุลไปในทันใด ก็จะเกิดอาการล่ะคราวนี้
ไม่ว่าจะเป็นอาการจาก แมกนีเซียมต่ำ แคลเซียมต่ำ ฟอสเฟตต่ำ โปตัสเซียมต่ำ
ที่สำคัญคือตัวที่ใช้ควบคุมการเอาพลังงานเข้าเซลล์อย่าง วิตามินต่างๆ ตอนที่ขาดอาหารก็ไม่พออยู่แล้ว พอเราใส่พลังงานแต่ลืมใส่วิตามินพวกนี้ มันก็มีไม่พอ มันก็คุมปฏิกิริยาพวกนี้ไม่อยู่
ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยรายใดขาดอาหารมานาน และโทรม เกลือแร่ต่างๆในเลือดต่ำ ต้องระวังแล้วว่าพอเราให้การรักษาทางโภชนาการแล้ว จะเกิด refeeding syndrome เราจึงควรให้เกลือแร่และวิตามิน โดยเฉพาะวิตามิน B1 ก่อนการเริ่มอาหาร แก้ไขเกลือแร่ในเลือดให้สมดุลก่อน แล้วจึงให้สารอาหาร
โดนเริ่มให้ทีละน้อย อาจเริ่มที่ 50% ขอบปริมาณพลังงานรวมทั้งหมดแล้วค่อยๆขยับเพิ่มวันละ 10-15% โดยตรวจสอบค่าเกลือแร่ในเลือดเป็นระยะ ๆ ถ้าเกลือแร่ต่ำก็ต้องชะลอการให้สารอาหารลง แก้ไขให้ดีแล้วค่อยให้ใหม่
ภาวะ refeeding จะทำให้ผู้ป่วยแย่ลง และอาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้ จากการเปลี่ยนแปลงฉับพลันของเกลือแร่ในเลือด ในแนวทางของอเมริกา 2016 ได้เน้นเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างชัดเจน พวกเราเองก็ต้องระวัง การให้อาหารทางปากก็เกิดได้นะครับ เพียงแต่โอกาสเกิดมันน้อยมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น