27 กุมภาพันธ์ 2566

ทำไมยาแก้ท้องเสีย loperamide ถึงขายเป็นแผงไม่กี่เม็ด

 ทำไมยาแก้ท้องเสีย loperamide ถึงขายเป็นแผงไม่กี่เม็ด ??

Loperamide ทำงานโดยกระตุ้นตัวรับ mu opioid โดยทำงานที่กล้ามเนื้อลำไส้ ทำให้ลำไส้ลดการบีบตัวรุนแรง โดยในขนาดรักษานั้นยาไม่ค่อยดูดซึมเข้าตัวและไม่เข้าไปออกฤทธิ์ในสมองทำให้ไม่มีอาการซึม ปกติจะใช้ยานี้ในบางกรณีเท่านั้น เพราะส่วนมากถ่ายเหลวจะเกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อ ควรให้ร่างกายกำจัดสิ่งแปลกปลอม มากกว่าจะเก็บเอาไว้เพราะลำไส้ไม่บีบตัว
ในอดีตนั้นยานี้ขายได้แบบไม่จำกัดเม็ด เพราะพิษไม่มาก ได้รับรองเป็น OTC คือซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา แต่เริ่มเกิดปัญหาพบผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการใช้ยา
ข้อมูลจากองค์การอาหารและยาจากปี 1976-2015 พบผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบรุนแรงจากยา loperamide ส่วนมากคือ ventricular arrythmia ถึง 48 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 10 ราย เกือบทั้งหมดเกิดจากการใช้ยาต่อเนื่อง และขนาดยาสูงกว่ากำหนด ยาที่ใช้ปัจจุบันขนาดเม็ดละ 2 มิลลิกรัม ใช้วันละ 1-2 เม็ด แต่ขนาดที่เป็นพิษตามการศึกษานั้นเฉลี่ยคือ 250 มิลลิกรัมต่อวัน (70-1600 มิลลิกรัม)
ทำให้องค์การอาหารและยาออกกฏให้ผู้ผลิตทำบรรจุภัณฑ์แบบบรรจุแยกเม็ด ต่อหนึ่งแผงจะต้องไม่เกิน 24 เม็ด เพื่อลดอันตรายจากยาเกินขนาด หลังจากออกกฎนี้มา ตัวเลขผู้ที่เกิดพิษจากยา loperamide ลดลงมาก แต่ก็ยังปรากฏอยู่ ล่าสุดในปี 2012 รายงานจากศูนย์พิษวิทยานิวยอร์ก ยังพบการเกิดพิษจากการใช้ยา ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่ทั้งห้ารายเกิดจากการเจตนาใช้ยาเกินขนาด เพราะตัวยากระตุ้น mu opioid receptor ทำให้มีอาการมึนเมาได้หากใช้ในขนาดสูง
มาดูปัจจุบัน loperamide ที่วางขายส่วนมากเป็นแผงแยกเม็ด เม็ดละ 2 มิลลิกรัม ปกติก็ประมาณ 4 เม็ดต่อแผง และมีคำเตือนข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่มีภาวะ QT prologation ต้องระวังในการใช้ยาตัวนี้
อ่านต่อ
1. ไม่ฟรี J. M. Marraffa, M. G. Holland, R. W. Sullivan, B. W. Morgan, J. A. Oakes, T. J. Wiegand & M. J. Hodgman (2014) Cardiac conduction disturbance after loperamide abuse, Clinical Toxicology, 52:9, 952-957, DOI: 10.3109/15563650.2014.969371
3. ฟรี Adverse event detection using the FDA post-marketing drug safety surveillance system: Cardiotoxicity associated with loperamide abuse and misuse. Swank, Kimberley A. et al. Journal of the American Pharmacists Association, Volume 57, Issue 2, S63 - S67

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น