17 กุมภาพันธ์ 2566

คัดกรองโรคเริม จำเป็นไหม

เจาะประเด็นที่น่ารู้กับคำแนะนำการคัดกรองโรคเริม Herpes Simplex type 2


เมื่อ 15 กพ. ที่ผ่านมา USPSTF หน่วยงานป้องกันโรคและสุขภาพของอเมริกา แนะนำซ้ำอีกครั้งจากที่เคยแนะนำมาแล้วว่า "ไม่แนะนำ" คัดกรองการติดเชื้อโรคเริม (HSV 2) ที่เกือบทั้งหมดเกิดที่อวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก การคัดกรองที่ไม่แนะนำนั้นคือ การตรวจแอนติบอดีของการติดเชื้อ


โรคเริมที่อวัยวะเพศ มีความสำคัญคือ หากเกิดโรคในคนภูมิคุ้มกันบกพร่องก็อันตราย, สามารถติดต่อถึงคู่นอนได้ และหากกำเริบในสุภาพสตรีก่อนคลอด อาจติดถึงเด็กทารก (neonatal herpes) ที่อันตรายมาก


แล้วอย่างนี้คัดกรองให้รู้จะไม่ดีหรือ ?


1.วิธีการคัดกรองที่ง่าย ๆ และสะดวก ยังไม่ไวและไม่จำเพาะเพียงพอ ตรวจเสร็จก็ไม่จบ ต้องไปตรวจเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความไวด้วยวิธีที่ซับซ้อนและแพงกว่า… แต่ประเด็นสำคัญกว่าคือ ถึงใช้วิธีที่แม่นยำมาก ตรวจพบว่าเคยติด แล้วจะทำอะไรต่อไหม


2.การติดเชื้อ HSV 2 ติดแล้วอยู่ตลอดไป บางช่วงกำเริบ แต่ส่วนมากแฝงในตัว ช่วงเวลาแฝงในตัวไม่มีอาการ (อาจตรวจเลือดเจอได้) ไม่ต้องรักษา การคัดกรองจึงไม่เกิดประโยชน์ เรียกว่า รู้ว่าติดแต่ไม่มีอาการก็ไม่เปลี่ยนแปลงการรักษา


3.ช่วงที่มีอาการ อาการจะชัด มีตุ่มมีแผล เราให้ยาเพื่อลดอาการ ลดการกระจายเชื้อ แล้วกลับเข้าสู่ระยะสงบ ไม่หายขาด เห็นว่าเราให้ยาเมื่อมีอาการ ไม่ได้ใช้ผลเลือด ดังนั้นการตรวจก็ไม่เกิดประโยชน์มากนัก 


4.ในหญิงตั้งครรภ์ หากกำเริบขึ้น (ย้ำ..กำเริบจะมีอาการ มีตุ่มมีแผล) เราจะเปลี่ยนเป็นการผ่าคลอด เพื่อลดโอกาสที่ทารกจะสัมผัสเชื้อในขณะคลอด และให้ยารักษามารดา  ส่วนที่ตรวจเลือดพบเคยติดเชื้อหรือมีประวัติติดเชื้อและหายแล้ว อันนี้เราไม่ให้ยานะครับ


จากเหตุผลทั้งหมด การรู้ว่าเคยติดเชื้อจากการตรวจเลือด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต การรักษาหรือการป้องกันมากเท่าไร จึงไม่แนะนำให้คัดกรอง HSV 2 ด้วยวิธีการตรวจเลือดครับ


ในประเทศไทยไม่น่าจะมีกรณีนี้มากนัก แต่มันจะสอนเราว่า การคัดกรองใด ๆ ไม่ว่าวิธีจะแม่นยำเพียงใด ให้คิดต่อไปเสมอว่า หากผลออกมาจะทำอะไรต่อไปและมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด จึงทำการตรวจคัดกรองนั้นนะครับ (ยกเว้นอยากรู้ อันนี้ห้ามไม่ได้)


ส่วนใครต้องการข้อมูลครบถ้วน อ่านฟรีครับ

US Preventive Services Task Force. Serologic Screening for Genital Herpes Infection: US Preventive Services Task Force Reaffirmation Recommendation Statement. JAMA. 2023;329(6):502–507. doi:10.1001/jama.2023.0057



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น