19 มกราคม 2566

warfarin กับอาหาร

 คิดว่าหลายท่านคงรู้จักยา warfarin ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เราใช้ในกรณีลิ่มเลือดดำอุดตัน ป้องกันอัมพาตจากหัวใจเต้นพลิ้ว และอีกหลายโรคเลือดแข็งตัวเกินปกติ ยานี้ต้องการการปรับยาตลอด เพื่อให้ค่า INR ได้ระดับที่ต้องการ

เหตุที่ปรับยายาก เพราะตัวยามีการออกฤทธิ์หลายตำแหน่ง ทำให้ผลรวมการทำงานคาดเดายาก ตัวยาต้องผ่านกลไกมากมายกว่าจะถึงตำแหน่งออกฤทธิ์ ปัจจุบันเราพบว่าเอนไซม์และยีนบางตัวส่งผลต่อจุดนี้ ยามีปฏิริยากับอาหารและยามากมาย ตรงนี้ที่จะมาเล่าให้ฟัง
เราอาจจะเคยได้ยินว่ากินยา warfarin แล้วอย่ากินผักเยอะ อย่ากินผลไม้มาก อย่ากินอาหารเสริม เพราะจะไปตีกันกันยา ระดับยาจะไม่คงที่ แล้วจริง ๆ เป็นแบบนั้นหรือไม่ มีบทความชิ้นหนึ่งจากอาจารย์เภสัช ม.นเรศวร ให้ข้อคิดและหลักฐานบางอย่างเอาไว้ น่าสนใจครับ ข้อมูลเรื่องปฏิกิริยาระหว่างอาหารและ warfarin ที่เรารู้กันเช่น น้ำทับทิม แปะก้วย คาโมไมล์ ที่ทำให้การออกฤทธิ์ของ warfarin ผิดปกตินั้น ส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) มาจากรายงานผู้ป่วยที่กินยาคู่กับสารอาหารนั้น แล้วเกิดผลข้างเคียง ซึ่ง
1. รายงานผู้ป่วย หรือ กรณีศึกษา จะมาจากผู้ป่วยหนึ่งรายหรือไม่กี่ราย ไม่ได้มีการควบคุมปัจจัยอื่น และไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับคนอื่น ๆ ได้เลย ดังนั้นข้อมูลเรื่องปฏิกิริยาจากการศึกษาเหล่านี้ ใช้เป็นข้อระวัง ข้อคิด แต่จะไปบอกว่ากิน warfarin แล้วต้องห้ามโน่น ห้ามนี่ จากการศึกษาหลักฐานอ่อน คงไม่ได้ครับ
2. ปฏิกิริยาที่ว่า ที่ทำให้ warfarin ทำงานเยอะหรือทำงานน้อย ตัวชี้วัดอาจไม่ใช่ผลการรักษา แต่ตัวชี้วัดอาจเป็นค่าการแข็งตัวเลือดที่ผิดปกติ ตัวชี้วัดอาจเป็นระดับยาในเลือดที่เปลี่ยนไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การรักษามีประสิทธิผลลดลงหรือผลเสียมากขึ้น ดังนั้นจะไปห้ามทุกคน โดยอาศัยหลักฐานที่ตัวชี้วัดต่างกัน และไม่ใช่ตัวชี้วัดทางคลินิก ต้องระวังดี ๆ นะครับ
3. การศึกษาหลายอย่างศึกษาสารสกัดจากอาหาร ทำปฏิกิริยากับยา ในหลอดทดลอง เช่นเติมสารสกัดนี้ลงไป แล้วเลือดคนที่ได้ยา warfarin เกิดไม่แข็งตัวเลย จะไปห้ามการใช้อาหารนั้น ก็อาจไม่ตรงจุด เพราะในร่างกายคน ปฏิกิริยาอาจไม่เป็นไปตามนั้น หรือมีปฏิกิริยาอื่นมาควบคุมให้ปกติก็ได้
4. เอาล่ะ ถึงแม้ว่ามีการศึกษาที่ดีว่าอาหารนี้อาจมีปฏิกิริยากับ warfarin จนเกิดผลกับการรักษาจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นอาหารนี้ 'ในทุกรูปแบบ' เช่นการศึกษาที่ใช้สารสกัดจากอาหาร จะไปแปลผลว่า ถ้ากินอาหารตามธรรมชาติแบบไม่สกัด จะเกิดผลเสียเหมือนกัน แบบนี้ไม่ได้อีก
ยกตัวอย่างมา 4 ข้อ ในวารสารฉบับเต็มมีข้อมูลมากกว่านี้ และมีสรุปหลักฐานข้อมูลอาหารที่ส่งผลอีกมากมาย อาหารที่มีหลักฐานมากและหลักฐานค่อนข้างดีมีเพียง บร็อคโคลี่และแครนเบอรี่ (ซึ่งเมืองไทยเราก็ไม่ได้กินประจำอยู่แล้ว)
สุดท้ายหากใช้ warfarin ก็จะต้องเข้ารับการประเมินค่า INR และปรับยาตลอด ต้องเข้ารับการประเมินอาหารที่กินประจำและยาที่ใช้ประจำเสมอ เพื่อประสิทธิผลการรักษาและลดโอกาสเลือดออกไม่พึงประสงค์ และใครอยากจะเปลี่ยนใจไปใช้ยาต้านการแข็งตัวเลือดกลุ่มออกฤทธิ์ตรงจุด (NOACs) ที่ไม่ต้องปรับยาตามค่า INR ก็ยังต้องคิดถึงปฏิกิริยาระหว่างยาที่มีมากไม่แพ้ warfarin เช่นกันครับ
อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่ (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่แล้ว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น