27 ธันวาคม 2565

หัวใจอ่อนแรง (cardiomyopathy)

 หัวใจอ่อนแรง (cardiomyopathy)

เมื่อเปิดคลินิกส่วนตัว ปัญหาที่พบส่วนมากจะกลายเป็น อาการสำคัญ ของคนไข้ แตกต่างจากที่ผ่านมาที่จะได้รับปรึกษา ปัญหาของโรคหรือปรึกษาการรักษา
วันนี้เจอมีคนไข้มาปรึกษาผลการตรวจไขมัน เมื่อผมถามว่า มีโรคประจำตัวไหม คนไข้ตอบว่า 'หลายปีก่อน หมอบอกว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง'
ในหัวผมคิดทันทีว่าคือ cardiomyopathy กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะเกิดจาก
- กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (ischemic cardiomyopathy)
- กล้ามเนื้อหัวใจหนามากจนทำงานผิดปกติ (hypertrophic cardiomyopathy)
- กล้ามเนื้อหัวใจไม่ยืดหยุ่น (restrictive cardiomyopathy)
- กล้ามเนื้อไม่ทำงานจนหัวใจขยายขนาด ไม่ว่าจากเหตุใด (dilated cardiomyopathy)
อันเป็นการแบ่งคร่าว ๆ เพื่อซักประวัติหาเหตุและสืบค้นต่อ
กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงก็จะมีอาการของหัวใจล้มเหลว เช่น เหนื่อยง่าย เหนื่อยเวลาออกแรง นอนราบไม่ได้ ตื่นมาต้องนั่งหลับ เหนื่อยเวลานอนตะแคง ขาบวม เป็นลม หน้ามืด
พอผู้ป่วยให้ประวัติว่า มีอาการตกใจง่าย เวลามีเรื่องกลุ้มใจก็จะใจหวิว ๆ ไม่เคยมีอาการหัวใจล้มเหลวเลย
(เวลาใครมาทำให้ตกใจ ก็จะตกใจง่าย…เอ่อ..คือ มันมีตกใจยากด้วยหรือครับ)
มันก็เป็นเรื่องสิครับ เพื่อที่จะยืนยันว่าเป็นโรคหัวใจอ่อนแรงจริงไหม ทำให้ต้องตรวจเพิ่มเยอะเลย ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ยาลดไขมันเพื่อป้องกันโรค ถ้าเป็นโรคหัวใจแล้วก็คงต้องคิดป้องกันการเกิดซ้ำ วิธีการคิดให้ยา statin จะต่างออกไปจากการป้องกันก่อนเกิดโรค
สรุปว่า ไม่มีโรคหัวใจใด ๆ
อยากจะบอกว่าคำวินิจฉัยในทำนอง ใจอ่อน ตกใจง่าย หัวใจอ่อนแรง หัวใจอ่อนแอ หัวใจไม่ดี มันอาจสร้างความสับสนในอนาคตได้
สำหรับหมอ : ให้บอกเลยว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ชนิดไหน อย่าบอกคนไข้ว่า ใจอ่อน ยิ่งรายนี้มีคำว่า กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (คนไข้อาจจะสับสนคำต่าง ๆ) ทำให้คนที่ดูแลต่อสับสนไปอีก ต้องตรวจอีกมากมาย
สำหรับคนไข้ : ถามหมอเลย เป็นโรคอะไร จำชื่อไทย จำไม่ได้อัดเสียง จดไว้ ส่วนชื่ออังกฤษ จำได้ก็ดี จำไม่ได้ก็ให้หมอเขียนให้ เก็บไว้ชายพก ไปหาหมอที่ไหนก็ควักออกมาโชว์ได้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น