11 ธันวาคม 2565

Antioxidant กับ ความเสี่ยงโรคหัวใจ

 Antioxidant กับ ความเสี่ยงโรคหัวใจ

วารสาร Journal of the American College of Cardiology ลงการศึกษาเรื่องที่น่าสนใจอันหนึ่งที่มีความหมายระหว่างบรรทัดมากมาย เรามาดูภาพแบบประชาชนทั่วไปนะครับ (วารสารฉบับเต็มซื้อได้ที่เว็บไซต์ และบทวิจารณ์ต่าง ๆ ในหลาย ๆ ที่)
เราเห็นภาพนี้แสดงให้เห็นว่าแอนตี้ออกซิแดนท์ ในสารอาหาร micronutrient หมายถึงสารอาหารที่ไม่ได้ให้พลังงานหลัก เราต้องการในปริมาณไม่มาก แต่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่นวิตามิน เกลือแร่ โปรตีนช่วยการทำงานต่าง ๆ
สารนี้บางส่วนมีสมบัติแอนติออกซิแดนท์ ตามสมบัติทางชีวเคมี ที่เราเชื่อว่าลดอาการและโรคหลายชนิด ตารางนี้มาจากการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยแบบ RCT คือการทดลองในคน ว่าแต่ละสารมีสมบัติอย่างไร ลูกศรขึ้นคือ เพิ่มความเสี่ยง ลูกศรลงคือลดความเสี่ยง วงกลมคือ เท่า ๆ เดิม
ส่วนสีในช่องคือระดับความหนักแน่นของหลักฐาน สีฟ้ามาจากงานวิจัยคุณภาพดี สีเขียวก็รองลงมา สีดำคือคุณภาพไม่ดีนัก ส่วนสีม่วงคือหนักแน่นน้อยมาก การที่ต้องมีหลายระดับเพื่อแสดงว่าการรวบรวมนี้ไม่มีอคติ คัดมาหมดไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ไม่โน้มเอียงคัดมาแต่ที่ดี ๆ หรือผลบวกแล้วมาเหมาสรุปอย่างที่ผู้ทำวิจัยต้องการ
เรามาดูภาพรวม ส่วนมากเป็นวงกลมสีเขียว คือ ไม่ได้มีผลดีและเสีย ด้วยหลักฐานความน่าเชื่อปานกลางเท่านั้น บอกเราว่าก็อย่าไปคาดหวังว่ากินแอนติออกซิแดนท์แล้วจะดีจะช่วยอย่างมาก
ในสารอาหารที่ลดความเสี่ยง (ที่มีไม่มาก) มาจากหลักฐานที่คุณภาพหลักฐานไม่ดีนัก อาหารที่เพิ่มความเสี่ยงก็มาจากหลักฐานที่ไม่ดีนักเช่นกัน ตรงนี้ต้องเข้าใจว่างานวิจัยเรื่องอาหารต่อสุขภาพ มันจะมีตัวแปรปรวนมากมาย โดยเฉพาะการตอบสนองแต่ละบุคคลที่อาจจะมีปัจจัยพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง ,โรคร่วมของแต่ละคน ,การรักษาอื่น ๆ
การศึกษานี้บอกเราว่าสารอาหารพวกนี้มันก็มีประโยชน์นะ (ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วแหละ) และเราก็จะเพิ่มประโยชน์ของสารอาหารพวกนี้ไปอีกข้อ เติมจากที่เราเรียนมา คือ ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจด้วย ..ย้ำ..ลดความเสี่ยง ไม่ใช่ลดโรคหัวใจ
เอาล่ะ ... สิ่งที่เราได้ในฐานะประชาชนคือ การกินอาหารหลากหลายโดยรวมที่มีสารอาหาร micronutrient ครบถ้วน มีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ไม่ได้มีสารอาหารตัวใดเพิ่มหรือลดปัจจัยเสี่ยงอย่างชัดเจนสุดทาง
การเสริมสารอาหารเพียงชนิดเดียว แม้จะเลือกเอาที่ลดความเสี่ยงชัด ๆ ยกตัวอย่างเช่น โฟลิก มีหลักฐานชั้นดีว่าลด LDL แต่ผลอันอื่นก็ไม่ได้หนักแน่นนัก และผลของการลด LDL เราจะแปลผลไปถึงลดอัตราตายหรือลดโรคหัวใจไม่ได้ แปลได้แค่ว่า ลด LDL ที่เราเรียกผลแบบนี้ว่า surrogate สำหรับงานวิจัย
Surrogate คือ ผลตรงกลางที่ยังไม่ใช่ผลปลายทาง เช่นการลด LDL ของโฟลิก ยังไม่ได้แปลว่าโรคหัวใจจะลดลงจากโฟลิก เพราะงานวิจัยเขาไม่ได้วัดผล "โรคหัวใจที่ลดลง" วัดแค่ "LDL" ที่ลดลง ซึ่งโรคหัวใจอาจจะไม่ลดลงก็ได้ เพราะไม่ได้ไปคุมปัจจัยอื่นด้วยนี่นา
เราอาจลองเทียบกับยาลดไขมัน ที่ไม่ได้วัดผลแค่ลดไขมัน แต่ยังมีวิธีการวัดผลลดอัตราตายจากโรคหัวใจโดยตรงในงานวิจัยนั้น ๆ อย่างชัดเจน ไม่ได้เกิดจากการตีความเหาะเหินเกินลงกา
จากบทวิจารณ์หลาย ๆ ผู้เชี่ยวชาญ (ต้องฟังพวกเขาสักหน่อยนะครับ) ก็สรุปว่า การศึกษานี้สอดคล้องและอธิบานแนวทางอาหารเพื่อสุขภาพหัวใจ "ที่เคยมีเดิมอยู่แล้ว" เช่นอาหารเมดิเตอเรเนียน เช่นอาหารที่มีผักผลไม้สูง อาหารที่ลดไขมันอิ่มตัว ที่เราแนะนำมาสักพักแล้ว
และสนับสนุนการใช้อาหารที่สารอาหารครบถ้วนตามแนวทางโรคหัวใจในปัจจุบันครับ
An P, Wan S, Luo Y, et al. Micronutrient Supplementation to Reduce Cardiovascular Risk. J Am Coll Cardiol. 2022 Dec, 80 (24) 2269–2285.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น