17 กรกฎาคม 2565

ประวัติโรค Alzheimer's disease

 ไปได้พาเที่ยวนานแล้ว ไปเที่ยวกันนะครับ

ผมขอพาย้อนเวลากลับไปยุคปลายศตวรรษที่สิบเก้า ยุคแห่งผลผลิตของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ในยุคสมัยที่มหาอำนาจในโลกใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาขยายอำนาจแก่ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ออตโตมัน ออสเตรีย-ฮังการี ในเวลานั้นทุกคนรู้แล้วว่าหากต้องการจะก้าวหน้าต้องมีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดี
ในช่วงนั้น มหาวิทยาลัยดัง นักคิดนักเขียน ทฤษฎีต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ได้รับการคิดค้น พิสูจน์และนำไปใช้ ชาติใดครอบครองเทคโนโลยี ชาตินั้นครองโลก
ในขณะที่ชาติมหาอำนาจเดิมยังคงเดินหน้าล่าอาณานิคม สูบทรัพยากรต่างแดนมาปรนเปรอประเทศตน มีอีกหนึ่งชาติที่ก่อร่างสร้างตัวมาอย่างเงียบ ๆ .. เยอรมัน
หลังจากสงครามฝรั่งเศสและปรัสเซียในช่วงปี 1870 จบด้วยชัยชนะของปรัสเซีย ทำให้ชนชาติที่พูดภาษาเยอรมัน เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความก้าวหน้า หากไม่ปฏิวัติตัวเอง อาจถูกรุกรานอีกรอบ จอมพล ออตโต ฟอน บิสมาร์ค จึงได้ทำการรวบรวมชาติเยอรมันให้เป็นปึกแผ่น ทั้งอำนาจทางการเมือง ทางการทหาร อำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง และที่สำคัญอำนาจทางความรู้
ใครที่ติดตามประวัติศาสตร์โลก จะพบว่าในช่วงปี 1870-1910 เป็นช่วงปีที่มีนักคิดนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่สร้างชื่อมากมาย เยอรมันกลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิทยาศาสตร์ของโลก แม็กซ์ พลังค์, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ออตโต ฮาห์น มารวมตัวกันที่นี่ เบอร์ลิน, นูเรมเบิร์ก, แฟรงค์เฟิร์ต, มิวนิค คือ แหล่งสุมหัวของครีมของโลก นั่นรวมถึงวิชาแพทย์ด้วย
ที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ปี 1901 โลกได้รู้จักกับสุภาพสตรีคนหนึ่ง ออกุสต์ ดีทเออร์
ออกุสต์เป็นแม่ลูกสี่ เป็นแม่บ้านผู้ขยันขันแข็ง แต่อยู่ ๆ เธอก็เริ่มมีอาการหลงลืม เธอเริ่มลืมว่ากินอาหารอะไรไป เริ่มจำชื่อคนไม่ได้ ต่อมาเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ไม่ทำงานบ้าน เริ่มลืมวิธีเขียน และเริ่มลืมการใช้งานของในชีวิตประจำวัน เพื่อนบ้านเห็นเธอเดินลากที่นอนไปมาในสวนหน้าบ้านบ่อย ๆ
ครอบครัวเธอพาเธอไปรักษา คาร์ล…สามีที่รักยิ่งเป็นห่วงมาก จึงพาเธอเข้ารักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแฟรงค์เฟิร์ต ตอนนั้นเธออายุเพียง 51 ปี
ความรู้ทางการแพทย์ในเวลานั้นเรารู้จักโรคสมองเสื่อม (demantia) กันพอสมควรแล้ว โรคแห่งความเสื่อมของสมองนี้รู้จักกันมาตั้งแต่ยุคฮิปโปเครตีส มีการบรรยายโรคนี้มากมาย แต่ก็ได้เพียงบรรยายและทำใจว่ามันคือความเสื่อม ไม่ได้มีการศึกษาลงลึก
คนที่บรรยายโรคนี้เช่น โทมัส วิลลีส ผู้ค้นพบระบบเลือดในสมองที่วนเป็นวงกลมเพื่อลดการขาดเลือด (circle of Willis) ที่บอกว่าน่าจะเกิดจากการขาดเลือด (vascular demantia)
หรืออีกคนที่เราคุ้นชื่อกันคือ ออตโต ฟอน บินสเวงเกอร์ ซึ่งเกิดในยุคสมัยปี1900 นี้ก็กำลังศึกษาโรคสมองเสื่อม และเชื่อว่าเกิดจากการขาดเลือดที่สมอง แต่บินสเวงเกอร์ ได้ผ่าสมองพิสูจน์ด้วยว่า มีรอยขาดเลือดเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ โพรงสมอง เราจึงได้เรียกชื่อโรคหลอดเลือดสมองเล็ก ๆ อุดตันนี้ว่า Binswanger's disease
แต่ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเกือบทั้งหมดเกิดในผู้สูงวัย ชื่อในตอนนั้นคือ senile demantia แทบยังไม่พบสมองเสื่อมในคนอายุน้อย จึงเรียกรวม ๆ ไปก่อนว่า pre-senile demantia
ออกุสต์เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อไม่มีคนรู้จักมากนัก ไม่มีงานวิจัย ก็ย่อมไม่มีทางแก้ไข ออกุสต์พักอาศัยในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแฟรงค์เฟิร์ต เข้า ๆ ออก ๆ มาเกือบห้าปี จนคาร์ล สามีของเธอเริ่มประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษา เพราะเป็นโรคที่ต้องค้นหามากมาย ต้องเชิญหลายคนมาให้ความเห็น การเดินทางยุคนั้นคือเรือและรถไฟไอน้ำ แน่นอนไม่ง่าย ไม่เร็ว และราคาไม่ถูก
แต่มีคุณหมอนักวิจัยท่านหนึ่งที่เพิ่งมาอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชแฟรงค์เฟิร์ต คุณหมอสนใจอาการของออกุสต์มาก ด้วยความที่ศึกษาโรคจิตเวชและโรคระบบประสาทวิทยาอยู่แล้ว จึงอยากให้คนไข้อยู่รักษาต่อ เพื่อรักษาและศึกษา โดยจะช่วยเงินค่ารักษาและหากองทุนเพื่อการวิจัยมาช่วย แลกกับการได้ทำประวัติและคำสัญญาว่าจะให้คุณหมอได้ทำการผ่าตัดสมองพิสูจน์โรค หากเธอเสียชีวิตลง คุณหมอใฝ่เรียนท่านนั้นชื่อ เอลอยส์ อัลซ์ไฮม์เมอร์
คุณหมออัลซ์ไฮม์เมอร์ กำลังเป็นดาวรุ่งทางประสาทวิทยา เขาทำงานร่วมกับออตโต ฟอน บินส์เวงเกอร์ในการศึกษาเรื่องสมองเสื่อม และได้รับการตื๊อให้ไปสอนในสถาบันการแพทย์ที่มิวนิคบ่อย ๆ เพราะคุณหมอเอาเคสนี้ไปเป็นกรณีศึกษากับ เอมิล เครเพอลิน บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์และประสาทจิตเวช ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสาขาวิชาจิตเวชที่มิวนิค
ในปี 1903 คุณหมออัลซ์ไฮม์เมอร์ ย้ายไปมิวนิค แต่ก็ยังเทียวมาดูแลรักษาออกุสต์บ่อย ๆ แต่อาการของออกุสต์ไม่ดีขึ้น เริ่มหลงลืมตัวเอง ไม่สนใจการกิน ไม่สนใจตัวเอง จนสุดท้ายเธอเสียชีวิตเพราะปอดอักเสบติดเชื้อและติดเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือดในปี 1906 อายุตอนนั้น 55 ปี นับว่าอายุน้อยมากสำหรับโรคสมองเสื่อม และตามคำสัญญา สมองเธอได้รับการผ่าพิสูจน์ทันทีโดยคุณหมออัลซ์ไฮม์เมอร์
สิ่งที่คุณหมอพบเมื่อเทียบกับสมองคนปกติในวัย 55 ปี ช่างแตกต่าง คุณหมอพบว่าเนื้อสมองส่วนคอร์เท็กซ์ที่รับผิดชอบความคิดชั้นสูงของมนุษย์ เกิดฝ่อบางลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนงานภาษา การตัดสินใจ นอกจากนี้ยังพบคราบโปรตีน (plague) ที่สะสมตัวมากมายผิดปกติ ทั้งในเซลล์สมอง ทั้งในเซลล์และพื้นที่รอบสมอง ซึ่งจะพบคราบโปรตีนแบบนี้ในคนอายุมาก ๆ ที่สมองเสื่อมรุนแรง แต่นี่กลับพบในคนอายุน้อย อัลซ์ไฮม์เมอร์เชื่อว่า นี่คือสาเหตุสำคัญของโรคนี้ pre-senile demantia
***ปัจจุบันเราพิสูจน์แล้วว่ามันคือ โปรตีนเบต้าอะมิลอยด์ ที่ควบคุมโดยยีน APOE4 ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค***
เมื่องานนี้ได้รับการเผยแพร่ และด้วยความที่อัลซ์ไฮม์เมอร์มาอยู่ที่มิวนิค จึงมีกรณีศึกษาและผู้ป่วยส่งมาปรึกษามากมาย ต้องขอขอบคุณเอมิล เครเพอลิน ที่ส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง หาเงินทุน หาเครือข่ายและช่วยตีพิมพ์อีกด้วย จนคุณหมออัลซ์ไฮม์เมอร์ได้ศึกษาและผ่าพิสูจน์สมองอีกกว่าสิบสมอง ที่มีอาการแบบนี้ จนสามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า beta-amyloid นี่แหละคือเหตุของ pre-senile demantia และหากเราสามารถลดการสะสมที่เกิดเร็วกว่าอายุนี้ เราน่าจะป้องกันและลดการเกิดโรคได้
ที่งานประชุมจิตเวชโซนตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมัน ครั้งที่ 37 (แสดงว่าเยอรมันมีสถาบันการศึกษามากมายจนต้องประชุมเป็นโซนเลยรึนี่) ในปี 1910 งานวิจัยของอัลซ์ไฮม์เมอร์ได้ถูกตีพิมพ์และนำเสนอ มีคนให้ความสนใจโรค pre-senile demantia นี้มาก และสุดยอดคุณครู เครเพอลิน ก็ได้เรียกชื่อโรคนี้ใหม่ เพราะมันค่อนข้างเฉพาะเจาะจงแล้วว่าเกิดจากอะไร ไม่ใช่กลุ่มโรคกว้าง ๆ อีกต่อไป กลายเป็นศัพท์บัญญัติของโรคนี้ที่เรารู้จักกันตามชื่อผู้ค้นพบและวิจัย คือ Alois Alzheimer ว่า "โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)"
และนี่คือที่มาของโรคอัลไซเมอร์ โรคที่ปัจจุบันมีการรักษาที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินของโรค ถึงกับต้องมีการเขียนใหม่ในตำรา Harrison's Principle of Internal Medicine พิมพ์ครั้งที่ 21 นี้เลย
และที่สำคัญ คุณจะเขียนชื่อโรคนี้ไม่ผิดอีกต่อไป ถ้าเรียกว่า อัลซ์-ไฮม์-เมอร์ … Alz hei mer
ขอบคุณที่ติดตามการท่องเที่ยวของลุงหมอทัวร์จนจบรายการ แล้วพบกับการพาเที่ยวในครั้งต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น