01 พฤษภาคม 2565

อ่านซ้ำ : หนังสือเล่มเก่า แต่เล่าเรื่องใหม่

 อ่านซ้ำ : หนังสือเล่มเก่า แต่เล่าเรื่องใหม่

หนังสือหนึ่งเล่มคุณอ่านกี่ครั้งกัน ถ้าไม่ใช่คู่มือหรือตำรา ถ้าไม่ใช่นิยายเล่มโปรด ส่วนมากก็ครั้งเดียวใช่ไหมครับ บางคนอ่านยังไม่ทันจบด้วยซ้ำไป แต่ก่อนผมก็เป็นแบบนี้นะ ตะลุยดะ อ่านหมด อ่านเร็ว อาจจะเป็นเพราะมีทักษะการอ่านมานาน ทำให้รู้เรื่องและเข้าใจได้เร็ว แต่ในปีนี้ผมตั้งใจจะเคี้ยวกลืนและย่อยหนังสือให้มากขึ้น จึงคิดจะ "อ่านซ้ำ"
ทำแล้วได้อะไรมากขึ้นไหม
เข้าใจมากขึ้น : ต้องยอมรับว่าการที่เราจะเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนอยากสื่อมาหาเรา ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ในครั้งเดียว ถึงแม้บางเล่มจะอ่านรอบเดียว แต่อาจต้องอ่านหน้านี้ ประโยคนี้หลายรอบ เวลาเราอ่านรอบแรก เราจะเข้าใจความคิดรวบยอดของผู้อ่าน ซึ่งอาจจะต่างจากความคิดของเรามาก เมื่อมาอ่านรอบสองหรือมากกว่านั้น เราจะเริ่มเข้าใจความคิดของผู้เขียนมากขึ้น
หนังสือสไตล์นี้เช่นหนังสือ จิตวิทยาพัฒนาตัวเอง หนังสือเชิงวิพากษ์ต่าง ๆ ยกตัวอย่างของผมเองคือ 21 lessons for the 21st century ของยูวาล โนอา แฮร์รารี่ ผู้แต่ง Sapiens ยอมรับว่าตอนแรกงงมากครับ พอเข้าในได้ว่าผู้เขียนพยายามอธิบายเหตุผลของสิ่งที่เกิดในปัจจุบัน ว่าเชื่อมโยงกับความคิดเราในอดีตอย่างไร และจะคิดอย่างไรต่อในอนาคต
แต่พออ่านรอบสอง เรียกว่าสนุกมาก เพราะเรามองเห็นภาพรวมการคิดของแฮร์รารี่แล้ว เมื่ออ่านซ้ำ ในกรอบความคิดที่เรามีแล้ว จึงเข้าใจตามเขาและได้ไอเดียดี ๆ มากมายครับ
ซึมลึกมากขึ้น : ประสบการณ์ ความรู้ ชีวิต จะทำให้มุมมองการอ่านของเราล้ำลึก มีแง่คิด มีความหมายที่แตกต่างจากการอ่านครั้งก่อน ที่ประสบการณ์ความรู้เราไม่มากเท่านี้ เรื่องเดิม บทเดิม แต่เข้าใจมากขึ้น มุมมองแตกต่าง ผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด
หนังสือกลุ่มนี้เป็นได้ทั้งความเรียง เรื่องสั้นหรือ นวนิยาย ตัวอย่างของผมคือ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในวัยรุ่นอ่านสามก๊ก เพราะมันคืออะไร ทำไมใคร ๆ ก็แนะนำ ก็จบนะ ได้รู้เรื่องราวการทำสงคราม การรบ พอโตขึ้นมาอ่านครั้งที่สองด้วยความรู้ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์จีน ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า อ๋อ ทำไมจึงเกิดแบบนั้น เช่น ทำไมโจโฉจึงกริ่งเกรงซุนกวนที่ผาแดง เพราะภูมิศาสตร์และความชำนาญของทัพเรือซุนกวน ที่ติดทะเลมีมากกว่าทัพบกของโจโฉ ยิ่งมาบวกกับกลศึกของขงเบ้ง ทำให้โจโฉพ่ายแพ้
พออ่านรอบสาม คราวนี้เริ่มมีมุมมองการเมือง เริ่มคิดว่าโจโฉก็ไม่ได้ร้ายอย่างที่คิด การปกครองและรวบรวมแผ่นดินไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มสนุกกับกลศึกต่าง ๆ ที่หลอกล่อได้สุดเด็ดเผ็ดมัน ซึ่งมาอ่านในวัยกลางคนค่อยมาทางปลายคนแล้วครับ
มีความสุขเหมือนเดิม : การย้อนกลับมาอ่านซ้ำ ทำให้เราหวนคิดถึงเรื่องราวที่เคยสร้างสุขในเราในอดีต หรือแม้แต่วันเวลาเก่า ๆ ขณะที่เราอ่านหนังสือ อดีตที่เคยอ่านวันนั้นมันผุดขึ้นมา ทำให้เรายิ้มและมีความสุข ดื่มด่ำกับความสุขเดิมที่เสพไม่รู้เบื่อ
หนังสือที่ให้ความรู้สึกนี้ได้ ส่วนมากจะเป็นกลุ่มบันเทิงเริงรมย์ครับ พลนิกรกิมหงวน ยังขับรถเที่ยวเตร่ในกรุงเทพเสมอในใจของผม อ่านทีไรก็ยิ้ม จินตนาการถึงการแข่งรถบนถนนสุขุมวิทได้เสมอ (ตอน จอมกะล่อน ชุดวัยหนุ่ม) อ่านมานีมานะปิติชูใจ ภาพเพื่อน ๆ วัยเด็ก คุณครูประถม กระโดดเล่นต้องเต ผุดขึ้นมาเลยครับ หรือแม้แต่ แก้วขนเหล็ก ของ ตรี อภิรุม วัยเด็กอ่านแล้วระทึกทุกครั้งเวลาได้ยินเสียงตอนกลางคืน ตอนนี้อ่านทีไรก็ใจสั่นทุกที
นอกจากได้อารมณ์ ความสนุกแล้ว คุณค่าทางจิตใจ ความผูกพันกับเรื่องราว ยุคสมัยและผู้คน ก็ยังบรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนั้น แทรกตัวระหว่างหน้ากระดาษและระหว่างบรรทัด รอให้เรามาเปิดเสมอ
ทรงคุณค่ามากขึ้น : ปรับนิสัยตัวเองจากการอ่านตะลุย มาเป็นค่อย ๆ ละเลียดอารมณ์ ทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าของมัน ทั้งในรูปตัวเงินราคาหนังสือหรือค่าอันประเมินเป็นตัวเงินไม่ได้ และความมหัศจรรย์ของหนังสือคือ คุณค่าจะเพิ่มตามการอ่านนั่นเอง
หนังสือทุกประเภทมีสมบัติแบบนี้ครับ แต่อาจจะเน้นในกลุ่มวรรณกรรม วรรณกรรมไทยที่ผมอวดได้ว่าอ่านจบแล้วซ้ำ ยิ่งอิ่มเอมในอารมณ์คือ พระอภัยมณี ครับอ่านแต่ละครั้งยิ่งทึ่งในอัจฉริยะของสุนทรภู่ ที่ละเมียดละไม หวานซึ้ง เศร้าหมอง รุกเร้าอารมณ์ ครบมิติ ส่วนหนังสือแปลหรือภาษาอังกฤษ มีหลายเล่มมากครับ เล่มที่ประทับใจมากคือ out of africa ของ แคร์เร็น บริกเซ่น ทั้งอ่านแปลไทยของคุณสุริยฉัตร และต้นฉบับ เรียกว่าอิ่มเอมในห้วงลึกแห่งตัวอักษรจริง ๆ
ผมคิดว่ามันช่วยกล่อมเกลาจิตใจได้นะครับ ทำให้สงบ คิดอะไรต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เหมือนการดับความวุ่นวายและสร้างสติ สมาธิ รูปแบบหนึ่งเลย ใครยังไม่เคยลองแนะนำ Walden เป็นเล่มแรกนะครับ (มีแปลไทย แปลดีด้วย)
หนังสือในห้องสมุดขนาดย่อมของผม เกือบทุกเล่มที่เก็บได้ผ่านการอ่านซ้ำมาแล้วทั้งสิ้น (เล่มไหนไม่ไปกับเรา เราก็ขายครับ ฮา) ไม่ว่าจะเป็นตำรา นิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรม ความรู้ ประวัติศาสตร์ บันทึกความทรงจำ บางเล่มซ้ำทั้งเล่ม บางเล่มซ้ำแค่บางส่วน ใครที่ติดตามเรื่องราวการอ่านและสนับสนุนให้แฟนเพจเราอ่านหนังสือ น่าจะพอทราบรายชื่อหนังสือที่ผมอ่านซ้ำและพูดถึงบ่อย ๆ ผมขอยกตัวอย่าง รายชื่อส่วนตัวแล้วกันนะครับ ที่อ่านซ้ำมากกว่าสองรอบ
ตามรอยพระยุคลบาท (วสิษฐ์ เดชกุญชร) อันนี้อ่านทีไรก็ได้แง่คิดและเตือนสติตัวเองได้ตลอดเวลา เรียกว่าไม่เก่าตามกาล
คู่มือมนุษย์ (พุทธทาสภิกขุ) อ่านแล้วลึกซึ้งในตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ รู้ว่าตัวเราควรปล่อยวางมากขึ้นเรื่อย ๆ
ชุด Sapiens, 21 lesson, Homo Deus (ยูวาล โนอาห์ แฮร์รารี่, นำชัย ชีววิวรรธ์) อ่านแล้วทึ่งในการเขียนของผู้เขียนมาก แต่ละครั้งทำให้มีไอเดียและเข้าใจมุมมองใหม่ ๆ ได้ดี
On Writing (สตีเฟน คิง) อ่านสามรอบ !! อยากเรียนรู้วิธีเขียนแบบคิง สุดท้ายได้คติการใช้ชีวิตที่แฝงไว้ในหนังสือแทน
Walden (เดวิด ทรอโรต์) เล่มนี้อ่านตั้งแต่วัยรุ่น ตอนแรกไม่เข้าใจ ตอนนี้เข้าใจสิ่งที่เกิดในใจคนได้ดีมาก (เพื่อน ๆ ที่เรียนด้วยกันมาอาจประหลาดว่า ผมอ่าน walden)
สี่แผ่นดิน (คึกฤทธิ์ ปราโมช) สุดยอดนิยายไทย และนักเขียนไทย ที่แยบยล แฝงความรู้ คติ ศิลปวัฒนธรรม การเมือง ทุกกระบวนท่าของอาจารย์คึกฤทธิ์ อ่านแล้วฉลาดขึ้นทุกครั้ง
สามก๊ก (เจ้าพระยาพระคลัง) นี่คือหนังสือที่อ่านยากที่สุดเล่มหนึ่งในชีวิต เพราะชื่อจีนและความโยงใยของตัวละคร หลังจากได้ทำแผนผังตัวละคร แล้วอ่านซ้ำ โอ้โห นี่คือการวางหมากซ้อนแผนที่สนุกไม่รู้เบื่อจริง ๆ
รามเกียรติ์ (ผนังวัดพระแก้ว, บทละครรัชกาลที่หนึ่ง, วิเคราะห์ไทยอีกหลายเล่ม) ครั้งแรกคือหนังสงคราม ครั้งที่สองคือแฟนตาซี ครั้งที่สามคือการเมืองและประวัติศาสตร์
นิยายทุกเล่มของแดน บราวน์ อันนี้อ่านเอาสนุก อ่านกี่ทีก็สนุก อยากลืมเรื่องรอบตัว อ่านนี่เลย
หุบเขากินคน (มาลา คำจันทร์) อ่านมาตั้งแต่ประถม อันนี้ไม่ต่ำกว่า 8 รอบ ได้เรียนรู้การเขียน การผูกเรื่อง ความสนุก แถมอ่านแล้วภาพตัวเองนั่งแอบในห้องสมุด เพื่ออ่านจนจบโผล่ออกมาเลย
โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ (โรอัลด์ ดาห์ล, สาลินี คำฉันท์) อ่านเพื่อรับความทรงจำที่ดีครับ อ่านทีไร แหม กลิ่นและรสช็อกโกแลตโชยมาทีเดียว ช่างเป็นภาษาเขียนที่สุดยอดมาก
หัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน (ป.อินทรปาลิต) สนุก ตลก ลืมเวลา ได้ย้อนอดีต ผมอ่านเล่มนี้แล้วหลับตาเห็นร้านรวงแถววังบูรพา แล้วเสี่ยหงวนก็ขับรถผ่านไปตรงหน้า เห็นพลยืนซื้อปลาหมึกย่างกับนันทา และโดนนิกรล้วงกระเป๋าอยู่
ปาฏิหาริย์ร้านชำคุณนามิยะ (ฮิงาชิโนะ เคโงะ, กนกวรรณ เกตุชัยมาศ) สุดยอดนิยายที่อ่านแต่ละครั้งจะยิ่งทึ่งในความสามารถ การผูกเรื่อง และเข้าใจนักเขียนมากขึ้น ๆ สุดยอดจริง ๆ อ่านนิยาย ดูหนัง อ่านซ้ำ ซื้อให้คนอื่น เล่มนี้เลยครับ
สุดท้ายคือ ประหยัดเงินด้วย ปีนี้ใช้เวลาคัดสรรเลือกหนังสือมากขึ้น ไม่ซื้อเพราะได้เห็นได้ยินครั้งแรก ไม่ซื้อเพราะกลัวไม่เจออีก ไม่ซื้อเพราะ Readery ป้ายยา
เรามา พกหนังสือ และ 'อ่านซ้ำ' ทำ smartphone detox กันนะครับ
ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น