23 เมษายน 2565

สิ่งที่ประชาชนควรทราบเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเรื้อรัง 2564

 สิ่งที่ประชาชนควรทราบเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเรื้อรัง 2564

ดาวน์โหลดฉบับเต็มที่นี่ ฟรี http://www.thaiheart.org/CCS
1. โรคหลอดเลือดหัวใจเรื้อรัง หลักการการรักษาคือ ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค ลดโอกาสหลอดเลือดตีบเฉียบพลัน ลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก ลดอัตราการเสียชีวิตระยะยาว แตกต่างจากโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ที่มุ่งคืนสภาพหลอดเลือดและทำให้เลือดกลับมาไหลเวียนให้เร็วที่สุด
2. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง ใช้ประวัติเป็นหลักในการวินิจฉัย และเลือกตรวจพิเศษเพิ่มเติมตามความเสี่ยงของแต่ละคน ประวัติที่สำคัญคือ อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่มักจะเกิดเวลาออกแรง พักแล้วดีขึ้น หรืออมยาไนเตรทใต้ลิ้นแล้วดีขึ้น (ยาอมใต้ลิ้น ทำแค่บรรเทาอาการ ไม่ได้รักษา) ร่วมกับมีประวัติเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ เช่น สูงวัย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ หรือเคยผ่านการรักษาด้วยการเปิดขยายหลอดเลือดหัวใจมาก่อน
3. เมื่อสงสัยโรค จะมีการตรวจเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย ประกอบด้วยการตรวจเพื่อ ทดสอบการทำงานว่ามีการหัวใจขาดเลือดจริงเมื่อมีการกระตุ้น และ การทดสอบเพื่อหาตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตัน เราจะทดสอบด้วยวิธีที่ไม่รุกล้ำ ไม่อันตรายก่อน ถ้าผลการทดสอบแบบไม่รุกล้ำ ไม่สามารถตอบคำถามได้ หรือมีโอกาสที่ผู้ป่วยรายนั้นจะเกิดอาการรุนแรง เราจึงส่งตรวจแบบที่รุกล้ำและอันตราย
4. ในกรณีไม่เคยตรวจพบโรคใดมาก่อน เริ่มด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเรื้อรัง จะต้องตรวจหาโรคที่ต้องประเมินคือ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ประเมินการทำงานของไต และแยกโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการตรวจเลือด high sensitivity cardiac troponin เสมอ
5. การตรวจแบบไม่อันตราย เช่น การเดินสายพานเพื่อตรวจว่าเมื่อออกแรงแล้วมีการเปลี่ยนแปลงของอาการและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวในขณะมีหรือไม่มีอาการ การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง สามารถบอกการทำงานได้ ส่วนการตรวจหาตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบแบบไม่รุกล้ำที่นิยมคือ การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ
6. จากข้อสองและห้า สามารถให้การรักษาและติดตาม คือ
6.1 ให้ยาลดโอกาสการตีบ ยาหลักคือยาต้านเกล็ดเลือดแอสไพริน อาจให้ยาตัวอื่นแทนหรือให้ยาต้านเกล็ดเลือดสองชนิดคู่กันแล้วแต่ความเสี่ยงแต่ละคน และคนที่จำเป็นต้องได้ยากันเลือดแข็งคู่กับยาต้านเกล็ดเลือด จะได้รับการประเมินเลือดออกเป็นราย ๆ ไปครับ
6.2 ยาลดโอกาสการเกิดซ้ำด้วยการควบคุมไขมันในเลือด หลักคือยากลุ่ม statin การใช้ยาสเตตินในกรณีนี้เป็นการลดการเกิดซ้ำในกรณีเกิดเหตุแล้ว คำแนะนำคือให้กินทุกรายหากไม่มีข้อห้ามครับ
6.3 ให้ยาลดอาการเจ็บหน้าอก เช่นยาต้านเบต้า,ยาไนเตรท, ranolazine, trimetazidine ปรับเพื่อลดอาการเป็นหลัก ยามีผลข้างเคียงมากมาย ควรรับการปรับยากับคุณหมอเป็นรายไป
7. การรักษาที่สำคัญไม่แพ้การให้ยาคือ
7.1 ควบคุมโรคอันเป็นความเสี่ยงให้ดี เรื่องของการเลิกบุหรี่ คุมน้ำหนัก ออกกำลังกายและขยับร่างกายต่อเนื่อง จัดการโรคเบาหวาน ความดันโลหิต รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดการเกิดซ้ำและไม่ทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจเรื้อรังที่เป็นอยู่แล้วนั้นแย่ลง
7.2 ฟื้นฟูสภาพหัวใจ สามารถออกแรงและออกกำลังกายได้ เมื่ออาการคงที่ได้ตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาล และจะต้องมีการปรับการออกกำลังกายตลอด อย่าคิดว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเรื้อรังจะไม่สามารถทำงานหรือออกแรงได้นะครับ ในแนวทางนี้มีขั้นตอนการประเมินและออกแรงในแต่ละระยะด้วย
8. การตรวจแบบรุกล้ำคือการใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจและฉีดสี #ไม่ได้ทำทุกราย# (ต่างจากหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน) ทำเมื่อการตรวจแบบไม่รุกล้ำไม่สามารถประเมินได้แน่ชัด หรือรักษาแล้วอาการแย่ลง หรือประเมินจากการตรวจแบบไม่รุกล้ำแล้วว่าเสี่ยงสูง โดยเมื่อวางแผนจะฉีดสีแล้วก็จะวางแผนเผื่อไปเลยด้วยว่าหากเจอรอยโรคที่ควรต้องทำบอลลูนใส่ขดลวด จะจัดการอย่างไร หรือจะทำเลยหรือไม่
9. การรักษาโดยการขยายหลอดเลือด ประโยชน์หลักคือลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดตีบเฉียบพลันในกลุ่มผู้เสี่ยงสูงมาก หรือรักษาเต็มที่แล้วอาการเจ็บหน้าอกไม่ดีขึ้น ก็จะขยายหลอดเลือด ซึ่งจะต้องประเมินร่วมกับผู้ป่วยว่าจะใช้การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือด หรือหัตถการผ่านสายสวน แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ส่วนมากคำแนะนำหลักยังเป็นการผ่าตัดเพื่อบายพาสหลอดเลือด
10. ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ การป้องกันก่อนโรคจะเกิด คือการรักษาสุขภาพให้ดี อย่าให้น้ำหนักตัวเกิน ออกกำลังกายด้วยวิธีแอโรบิกอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ลดอาหารมัน ไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว เพิ่มผักผลไม้ ดูแลโรคประจำตัวที่เป็นให้เรียบร้อยดีตามคำแนะนำแพทย์
อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน และ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น