06 มีนาคม 2565

ย้อนอดีต หอสมุดแห่งชาติ ตอนที่สาม ตอนจบ

 ย้อนอดีต หอสมุดแห่งชาติ ตอนที่สาม ตอนจบ

เอาล่ะ หลังจากกินอาหารเย็นจนอิ่มหนำสำราญ ก็เชิญมานั่งพักร้อน อ่านตอนจบของย้อนอดีตกัน
สองตอนก่อนเราได้รู้จักหอสมุดแห่งชาติในแง่สถานที่และการบริการแล้ว เรามากล่าวถึงบรรยากาศการใช้งานกันนะครับ เริ่มที่บัตรรายการ
บัตรรายการเป็นนามบัตรของหนังสือครับ ขนาดเท่านามบัตร มีรายละเอียดของ ชื่อหนังสือ ผู้แต่ง สำนักพิมพ์ คำสำคัญของหนังสือ ที่ตั้งหนังสือว่าตั้งอยู่อาคารใด ชั้นใด ห้องไหน ตู้หมายเลขอะไร หมายเลขหนังสือคืออะไร บัตรจะรวบรวมเรียงตามอักษร ก ถึง ฮ ใส่ไว้ในตู้ไม้เป็นลิ้นชักเล็ก ๆ ประมาณ 15-20 ช่องต่อตู้ เมื่อดึงออกมาจะเป็นบัตรรายการเสียบไว้ในแกนโลหะที่ด้านล่างของบัตร เรียงเป็นตับอัดแน่น
เราต้องการค้นหนังสือเรื่องใด เราจะมาเริ่มที่ตู้บัตรรายการนี้ครับ แบ่งตู้บัตรรายการออกเป็น บัตรชื่อหนังสือ, บัตรผู้แต่ง, บัตรคำสำคัญ เมื่อเราค้นเจอบัตรให้จดรายการที่สำคัญแล้วไปหาหนังสือตามอาคารต่าง ๆ ที่หอสมุดแห่งชาติเวลานั้นใช้ระบบการแบ่งหมวดหนังสือแบบดิวอี้ 000-900 ใครยังจำการแบ่งแบบดิวอี้ได้ไหมครับ
ทักษะการค้นหนังสือและเลือกหนังสือ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการหาข้อมูล เมื่อเรารายชื่อหนังสือที่ต้องการ เราก็ไปหาและนั่งอ่านพร้อมบันทึกสรุป ตอนนี้ต้องใช้ความรู้การย่อความนะครับ ผมจะมีสมุดลายไทยหนามากเวลาไปหอสมุดเพื่อค้นเรื่องใด บันทึก วัน เวลา หนังสือ และรายละเอียดแบบบรรณานุกรม ฝึกตั้งแต่ตอนนั้นเลยครับ โชคดีที่ได้ทำในตอนนั้นครับ และหากยังค้นไม่สุด ตอบคำถามไม่สะเด็ด ก็ค้นเล่มต่อไป ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์คอยให้คำปรึกษาเรื่องการค้นหาหนังสือของเราครับ
มารยาทการใช้ห้องสมุดสำคัญมาก ทั้งการหยิบมาค้นครั้งละสามสี่เล่ม อย่าเอามากองเยอะไป การอ่านและคุยเงียบ ๆ ไม่แอบเอาขนมเข้ามากิน อย่าหลับบนโต๊ะเพราะเปลืองพื้นที่คนอื่น อ่านเสร็จให้หยิบไปวางบนชั้นเก็บเตรียมจัดเรียง อย่าพับอย่าขีดเขียนหนังสือ
ผมยังคิดว่าการค้นด้วยหนังสือ แม้จะใข้เวลานานกว่า แต่จะได้คำตอบที่สมบูรณ์ มองรอบด้านและต่อยอดความคิดได้มากกว่าการใช้อินเตอร์เน็ต และได้ฝึกบันทึกด้วย แต่หากมันจำเป็นต้องถ่ายเอกสารล่ะ…
ตอนนั้นการถ่ายภาพหน้าหนังสือทำยาก และหลายที่ถือเป็นข้อห้ามการใช้บริการอีกด้วย แต่หากมีบางส่วนที่เราต้องถ่ายเอกสาร ที่หอสมุดแห่งชาติ เขาก็อนุญาตนะครับ โดยจะนำหนังสือออกไปถ่ายเอกสารได้ครั้งละ 2 เล่ม โดยวางบัตรอนุญาต ฯ เข้าหอสมุดของเราในช่องที่จัดไว้ และแจ้งบรรณารักษ์ประจำห้อง เพื่อเอาหนังสือไปถ่ายเอกสารที่บริเวณโถงด้านนอก ที่จะมีจุดบริการชั้นละสามถึงสี่จุด แต่ละจุดมีสองเครื่อง กลิ่นเครื่องถ่ายเอกสารฟุ้งมากเลย
เราต้องใช้ที่คั่นหนังสือ คือเศษกระดาษถ่ายเอกสารที่ทางจุดบริการเตรียมไว้ คั่นหน้าหนังสือหน้าแรกที่ต้องการและเขียนว่าต้องการถ่ายเอกสารจากหน้าที่เท่าไร ไปถึงหน้าที่เท่าไร ไปวางไว้ตรงตำแหน่งที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นค่อยมารับภายหลังพร้อมจ่ายเงิน ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดจะหน้าละ 1 บาท แล้วนำหนังสือไปคืนที่ห้อง
เรื่องอาหารการกินก็สำคัญ ทางหอสมุดแห่งชาติมีห้องอาหารไว้บริการ ทางด้านหลังใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาหารจานเดียว ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง น้ำดื่มเครื่องดื่มบริการให้ผู้มาใช้ห้องสมุด หรือหากใครอยากกินอาหารที่หลากหลาย เดินไปทางแยกถนนสามเสนตัดกับถนนศรีอยุธยา ตรงนั้นคือตลาด มีอาหารการกินสารพัดเลยครับ ตอนที่ผมเริ่มคล่องแคล่วและชำนาญทาง ผมจะมาลงรถเมล์ตรงหน้าเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร แล้วข้ามถนนไปกินข้าวที่ตลาดก่อน ยังจำได้เลยว่าสมัยที่เซเว่นอีเลฟเว่นมาตั้งร้านใหม่ ๆ ในเมืองไทย ผมยังเข้าไปซื้อน้ำที่สาขาตลาดเทเวศร์นี้เลย
การได้รู้จักหอสมุดแห่งชาติ ได้เปิดโลกการอ่านของผมเยอะมาก เจอหนังสือต่าง ๆ ที่ไม่เคยเจอ จำได้แม่นยำคือ ไซอิ๋ว ครับ การได้เดินทางไกลจากบ้าน ฝึกใช้บริการรถเมล์ รับผิดชอบชีวิต สำหรับเด็กนักเรียนประถมปลาย-มัธยมต้น ถือว่าตื่นเต้นสนุกสนานมากครับ
ครั้งหน้าฟ้าใหม่ จะมาเล่าย้อนอดีตเรื่องอื่น ๆ กันอีกครับ
อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร และ สถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น