ไตบาดเจ็บเฉียบพลัน (acute kidney injury) ที่ชอบพูดคำนี้บ่อย ๆ ในเพจ หมายถึงอะไร
ไตมนุษย์เป็นอวัยวะสำคัญมากในการปรับสมดุลและสรีรวิทยาร่างกาย ถ้าเป็นภาษาบู๊ลิ้มจะเรียกว่าผู้คุ้มกฎ คอยควบคุมให้ยุทธจักรร่างกายสมดุล แต่ในขณะเดียวกันตัวมันเองกลับมีความเปราะบางอย่างมาก ไม่ต่างจากรัฐบาลไทย เพียงมีปัจจัยใดมากระทบ ก็ส่งผลต่อความมั่นคงทันที
แต่ก่อนเราเรียก acute kidney injury ว่าไตวายเฉียบพลันหรือ acute renal failure แต่เมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้นก็ทราบว่า ไตยังไม่วายนะ มีการปรับตัวเพื่อให้ร่างกายอยู่รอด แต่การทำงานผิดไปเท่านั้น หากเราสามารถตรวจจับภาวะนี้ได้และแก้ไขได้ทัน ไตจะกลับสู่การทำงานปรกติได้ด้วย ดังนั้นหนึ่งในเป้าหมายการรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤตนอกจากระบบไหลเวียน หัวใจและหลอดเลือด สิ่งสำคัญคือ ต้องปกป้องไตให้ได้ด้วยนั่นเอง
เราจำกัดความไตบาดเจ็บเฉียบพลันด้วยการเพิ่มขึ้นของครีอะตินีนในเลือดในระยะเวลาสั้น ๆ คือเพิ่มอย่างน้อย 0.3 mg/dL ในเวลา 48 ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นจากค่าเดิม 1.5 เท่าในเวลาไม่เกิน 7 วัน การเจาะเลือดติดตามผลครีอะตินีนจึงสำคัญมาก ส่วนค่า estimated GFR หรือค่าการกรองของไต มักไม่ได้เอามาใช้ในสถานการณ์นี้มากนัก เพราะ GFR มุงดูการกรองของไตเป็นหลัก ส่วนการบาดเจ็บต่อไต เกิดได้กับทุกการทำงานของไต
ถามว่า “ไตบาดเจ็บเฉียบพลัน” มีอาการไหม คำตอบคือแทบไม่มีอาการ หลายคนคิดว่าไตบาดเจ็บก็จะปัสสาวะน้อยลง อันนี้ไม่จริงเสมอไปครับ การบาดเจ็บต่อไตหลายชนิดปัสสาวะปกติ หรือบางชนิดปัสสาวะมากกว่าปกติด้วยซ้ำ ส่วนอาการปัสสาวะเป็นเลือด ปวดเบ่ง ปัสสาวะไม่ออก อาการเหล่านี้มักจะบอกถึง “สาเหตุ” ไตบาดเจ็บมากกว่าบอกว่า ตอนนี้ไตฉันกำลังแย่นะ
ความสำคัญรองจากการตรวจพบที่รวดเร็วเพื่อรีบแก้ไข คือ สาเหตุของไตบาดเจ็บว่าเกิดจากอะไร เพราะการรักษาหลักคือ ประคับประคองไตให้ดี และรักษาสาเหตุ (การรักษาโดยการฟอกเลือด ถือเป็น การรักษาแบบประคับประคองนะครับ) ผมขอแบ่งสาเหตุเป็นแบบเก่า ที่เข้าใจง่ายและรักษาง่าย เพราะนี่คือเพจอายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียวครับ
แบ่งเป็น pre-renal cause, intrinsic renal cause, post renal cause
Pre-renal cause คือสาเหตุอื่นนอกไต คือ การเสียสมดุลของเลือดที่มาเลี้ยงไต เช่น เสียเลือดมากทำให้เลือดมาที่ไตลดลง ,หัวใจวายทำให้ปั๊มเลือดมาที่ไตลดลง, เกิดช็อกติดเชื้อสารน้ำในเลือดไปอยู่ที่อื่น เลือดก็มาที่ไตลดลง, สมดุลเลือดเข้าออกไตบกพร่องจากยาเช่น ยาแก้ปวด NSAIDs, ACEI, ARB สาเหตุข้อนี้มักมีประวัติชัดเจน การตรวจแยกสาเหตุมักใช้การตรวจเลือดคู่กับการตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจสัดส่วนเกลือแร่ในเลือดและในปัสสาวะ (fractional excretion) แยกจาก intrinsic renal cause ส่วนการรักษาก็รักษาสมดุลสารน้ำให้ไปที่ไต และแก้ไขสาเหตุ
Intrinsic renal cause สาเหตุจากตัวไตเอง ทั้งจากหน่วยกรอง จากท่อไต จากเนื้อไต จากหลอดเลือดฝอยที่ไต เช่นจากยาฆ่าเชื้อ Aminoglycosides ,จากโปรตีน Myoglobin ที่มาจากกล้ามเนื้อบาดเจ็บ, จากภูมิคุ้มกันตัวเองที่ผิดปกติในโรคเอสแอลอี แยกโรคได้จากประวัติที่ดี การตรวจหา fractional excretion และอย่าลืมตรวจหา urine sedimens ที่ช่วยแยกโรคได้ดีจาก pre renal cause ส่วนการรักษาก็เหมือนเดิม คือ ประคับประคองให้อยู่รอดรอครบวาระ ...ไม่ใช่ล่ะ ให้ไตฟื้นสภาพ และแก้ไขโรคที่เป็นสาเหตุ
Post renal cause อันนี้คือการอุดตัน การตีบแคบของท่อปัสสาวะ ตั้งแต่กรวยไตไปจนถึงปลายท่อปัสสาวะ เช่น เนื้อตายไปอุดตันท่อ, มีนิ่วไปอุดตัน, เนื้องอกไปเบียดคอท่อปัสสาวะ, ยาบางอย่างที่ทำให้คอกระเพาะปัสสาวะบีบรัดตัว การแยกไตบาดเจ็บอันนี้จะง่ายสุด ประวัติปัสสาวะไม่ออก ปวดถ่าย และตรวจอัลตร้าซาวนด์จะพบการอุดตันชัดเจน เมื่อมีการอุดตัน แรงดันย้อนกลับจะมาก ไตก็บาดเจ็บ การรักษาต้องแก้ไขจุดอุดตัน หรือใส่อุปกรณ์เพื่อลดแรงดัน เช่น สายสวนปัสสาวะ และอย่าลืมแก้ไขต้นเหตุของโรค
เน้นขั้นตอนการตระหนักว่าจะเกิด ตรวจจับการบาดเจ็บได้เร็ว ประคับประคองให้ดี แก้ไขสาเหตุให้ตรงจุด รับรองว่าไตบาดเจ็บจะไม่น่ากลัว ขอแต่ตัวไม่น่าอยู่ไกล ก็พอนะจ๊ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น