17 มกราคม 2565

สั่น พาร์คินสัน

 สั่น พาร์คินสัน

โรคที่มีอาการสั่น เป็นอาการสำคัญมีมากมายเลยนะครับ ไม่ว่าโรคของระบบประสาทเอง หรือโรคจากระบบอื่นที่ส่งผลต่อระบบประสาท เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ แต่หนึ่งโรคที่เรารู้จักกันดี และเป็นคำถามคือ ฉันสั่น ฉันเป็นพาร์คินสันหรือไม่

โรคพาร์คินสัน เป็นโรคความเสี่อมของสมอง จึงมักพบในผู้สูงวัย และมีอาการอื่น ๆ ร่วมกันอีกมาก เพราะสมองที่เสื่อมควบคุมการเคลื่อนที่ของร่างกายหลายอย่าง อาการที่พบร่วมกับสั่น และเป็นข้อสำคัญของการวินิจฉัยคือ เคลื่อนที่ช้าลง มีการเคลื่อนที่แข็งเกร็งไม่คล่องแคล่ว และเคลื่อนที่ไม่มั่นคง เดินแล้วจะล้ม เมื่อเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปในผู้สูงวัย เราจะคิดถึงโรคพาร์คินสัน โดยมาตรวจร่างกายแยกโรคอื่นด้วย

มาพูดถึงอาการสั่น ข้อสำคัญของพาร์คินสัน ไม่ได้อยู่ที่สั่นมาก สั่นน้อย สั่นตอนอยู่นิ่งหรือสั่นตอนเคลื่อนไหว แม้ในพาร์คินสันจะมีอาการสั่นตอนอยู่นิ่งที่เด่นกว่า แต่ในธรรมชาติ โดยเฉพาะสูงวัย ก็มีการสั่นเวลาเคลื่อนที่ได้เช่นกัน หรือบางคนมีอาการสั่นแบบ “ปั้นยาลูกกลอน” ลองจินตนาการใช้มือข้างเดียวปั้นดินน้ำมันเป็นก้อนกลมเล็ก ๆ เท่าเม็ดลำไยครับ

แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่อาการสั่นที่เป็นจุดสำคัญของพาร์คินสัน

อาการสั่นที่สำคัญของพาร์คินสันคือ สั่นไม่เท่ากัน ครับ (asymmetrical) อาจจะมีอาการสั่นเพียงข้างเดียว ซึ่งอันนี้จะพบมากตอนเป็นโรคใหม่ ๆ หรือสั่นทั้งสองข้างแหละ แต่ความรุนแรงสองข้างไม่เท่ากัน ความไม่เท่ากันนี้เป็นจุดสำคัญของการสั่นแบบพาร์คินสัน

ยกเว้นเมื่อเป็นมานาน ๆ และควบคุมได้ไม่ดี จนสั่นไปหมดแล้ว จะกลายเป็นสั่นเท่ากันทั้งสองข้างนั่นเอง

หมายความว่า ก่อนจะมาถึงอาการเต็มรูป สั่น-เคลื่อนที่ช้า-ไม่มั่นคง-แข็งเกร็ง ผู้ป่วยจะเริ่มด้วยอาการสั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงข้างเดียวก่อน และส่วนใหญ่จะ “รู้สึก” ที่มือ เพราะมนุษย์เราใช้มือเพื่อทำงานละเอียด เวลาสั่นที่มือจะเห็นชัดเจนครับ ถ้าผู้สูงวัย เริ่มมีอาการสั่นเรื้อรัง ควรพาไปหาสาเหตุ และคิดถึงโรคพาร์คินสันเอาไว้ด้วยครับ

“เจอพาร์คินสันจะสั่นไม่สมดุล
ถ้านัดเจอคุณจะสั่นให้ถึงใจ”

อาจเป็นภาพวาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น