06 มกราคม 2565

รายงานโอมิครอนจากแอฟริกาใต้ 30 ธันวาคม 2564

 รายงานโอมิครอนจากแอฟริกาใต้ 30 ธันวาคม 2564

วารสาร JAMA ลงตีพิมพ์ Research Letter (เป็นรีเสิร์ชเล็ตเตอร์เท่านั้น ไม่ใช่ผลการศึกษาฉบับเต็ม) เกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้นโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ผมหยิบเอกสารฉบับนี้มาเล่าให้ฟัง โดยวิเคราะห์และใส่ความเห็นส่วนตัวด้วยนะครับ หากใครต้องการข้อมูลที่ไม่ใส่ความเห็นส่วนตัวให้ไปติดตามที่ JAMA ได้

ผู้เขียนงานวิจัยคือ Calorine Maslo จากแอฟริกาใต้ โดยใช้ข้อมูลจาก Netcare Ltd. เป็นเครือข่ายโรงพยาบาลในแอฟริกาใต้ มีโรงพยาบาล 49 แห่ง รับได้กว่า 10000 เตียง ใช่แล้วนี่คือข้อมูลเชิงรับ เก็บจากคนที่มาตรวจ อาจจะมีคนที่ไม่ได้มาตรวจหรือไปตรวจที่โรงพยาบาลเครือข่ายแหล่งอื่นก็ได้ นอกจากนี้โรงพยาบาลส่วนมากของ Netcare อยู่ในโจฮันเนสเบิร์ก เมืองหลวงของแอฟริกาใต้ที่มีสภาพเศรษฐกิจดี และประชาชนส่วนมากเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ดีกว่าพื้นที่อื่น เข้าถึงวัคซีนได้มากกว่าพื้นที่อื่นด้วย

** เรื่องของความรุนแรงไวรัสโควิดโอมิครอน จำเป็นต้องคิดแยก คนที่ได้วัคซีนและคนที่ไม่ได้วัคซีนด้วยเสมอ เพราะการระบาดระลอกนี้ เกิดหลังประชากรโลกได้รับวัคซีนไปมากแล้ว **

โดยโอมิครอนระบาดครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564 เป็นการระบาดระลอกที่สี่ของแอฟริกาใต้ (คนละระลอกกับบ้านเราด้วยนะครับ) โดยการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลทำเมื่อตัวเลขการตรวจพบการติดเชื้อในประชากรอยู่ที่ 26% เทียบเท่ากับการระบาดในระลอกก่อน ๆ เพราะหากอัตราการติดเชื้อไม่เทียบเท่ากันก็จะมาเปรียบเทียบกันยากครับ และจากเริ่มระบาดในแอฟริกาใต้ อัตราการติดเชื้อโอมิครอนมากถึง 81% ของการติดเชื้อทุกสายพันธุ์ เมื่อมาถึงเวลาที่วิเคราะห์และตีพิมพ์ คาดการณ์ที่ 95 % เลยทีเดียว

จะเห็นว่าตัวเลขจะอ้างอิงจากการระบาดระลอกก่อน และเป็นค่าประมาณจากโมเดลการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เพราะไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างกระจายและสุ่มอย่างเพียงพอ ที่จะเป็นตัวแทนการระบาดที่แท้จริงในประเทศได้

สิ่งที่พบในการระบาดระลอกที่สี่ ที่เชื่อว่าสายพันธุ์หลักคือโอมิครอนมีดังนี้

1.อัตราการเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลที่ 41% เมื่อเทียบกับระลอกก่อน ๆ ที่ 69%

2.เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ 31.6% เทียบกับระลอกสามที่สูงถึง 91.2% อันนี้คือเทียบในคนที่ต้องนอนโรงพยาบาลนะครับ ไม่ใช่ประชากรทุกคน และเมื่อวิเคราะห์ใน 971 คนที่มีเกิดความผิดปกตินี้ พบว่าเป็นคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนถึง 66.4 %

*** จะเห็นว่าตัวเลขผู้ป่วยรุนแรงส่วนมากคือผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด และเมื่อไปดูอัตราการฉีดวัคซีนในแอฟริกาใต้ นับถึงธันวาคม 2564 ตัวเลขอยู่ที่ 44.3% เท่านั้น จึงอาจจะบอกได้ไม่เต็มปากว่า คนที่ไม่ได้วัคซีนจะป่วยรุนแรงจากโอมิครอน เพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่ได้วัคซีนนั่นเอง หากคนส่วนใหญ่ได้วัคซีน แล้วพบว่าคนที่ป่วยรุนแรงคือคนที่ไม่ได้วัคซีน อันนี้ค่อยบอกได้เต็มปาก ซึ่งข้อมูลการป่วยรุนแรงนี้ ต้องไปเปรียบน้ำหนักกับปริมาณสัดส่วนของคนในประเทศนั้น ๆ ที่ได้รับวัคซีนแล้วเสมอ ***

3.เข้ารักษาในไอซียู 18.5% ของคนที่นอนโรงพยาบาล เทียบกับระลอกสาม 30% ลดลงเกือบเท่าตัว โดยใช้เกณฑ์วัดความรุนแรงอันเดิม อันนี้ก็น่าจะเชื่อได้ว่ารุนแรงน้อยกว่าเดิมจริง

4.จำนวนวันที่อยู่รักษาในโรงพยาบาล มัธยฐานอยู่ที่ 3 วัน เมื่อเทียบกับการระบาดระลอกก่อนคือ 7-8 วัน น่าจะบอกว่า สามารถกลับไปอยู่ในสังคมหรือแยกตัวที่บ้านได้เร็ว สามารถจัดสรรเตียงและหมุนเวียนได้เร็ว แบบนี้ระบบสาธารณสุขคงรับมือได้ แต่อย่าลืมว่าตัวเลขที่ลดลง อาจเป็นเพราะเรามีองค์ความรู้และการจัดการทรัพยากรที่ดีกว่าเดิมก็ได้นะครับ ตรงนี้คงไม่ได้บอกความรุนแรงของโอมิครอน

5.อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 2.7% ส่วนในระลอกแรก 19.7% และในระลอกสาม (เดลต้า) อยู่ที่ 29.1% อาจบอกได้เพียงเบื้องต้นว่าโอมิครอนน่าจะรับมือได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับอัตราการตรวจพบเชื้อที่เท่า ๆ กัน โอมิครอนตายน้อยกว่า แต่บอกไม่ได้ทั้งหมด เพราะเพิ่งเริ่มการระบาด ยังไม่ถึงจุดสูงสุดและตอนแรกนี้ระบบสาธารณสุขยังรับมือไหว หากจำนวนผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากเกิน อาจทำให้ตัวเลขนี้สูง ซึ่งไม่ได้บอกถึงความรุนแรงของโอมิครอน แต่บอกถึงหากติดเชื้อมาก ๆ เข้า บางทีก็ตายมากเพราะรับมือไม่ไหวครับ

เห็นข้อมูลเบื้องต้น จากประเทศที่เป็นจุดระบาดที่แรก และต้องรับมือเป็นที่แรก ก็พอบอกได้ครับว่าเรารับมือโอมิครอนพอได้ในแง่ความรุนแรง แต่ในเรื่องตัวเลขผู้ป่วยที่อาจเยอะจนเกินความสามารถของสาธารณสุข ยังเป็นสิ่งที่ต้องกังวล และถ้าเราคิดไปเองอีกสักนิด ผนวกกับความรู้พื้นฐานในแอฟริกาใต้

ประเทศแอฟริกาใต้ยังมีอัตราการรับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม ไม่สูงเท่าไทย มองในแง่นี้เราน่าจะรับมือได้ดีกว่าและตัวเลขผู้ติดเชื้อรุนแรงน่าจะน้อยกว่า อีกอย่างคือประเทศแอฟริกาใต้ แม้จะถูกจัดเป็นประเทศรายได้สูง แต่มีความเหลื่อมล้ำของรายได้และการเข้าถึงบริการสูงมาก

แม้นโยบาย Apathied จะถูกยกเลิกไปตั้งแต่เนลสัน แมนดาล่าขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่โครงสร้างทางสังคมยังเหลื่อมล้ำมากโดยเฉพาะกลุ่มคนรวยในโจฮันเนสเบิร์กและเคปทาวน์ เทียบกับกลุ่มคนขาดโอกาสและยากจนในชุมชนและชนบท ทำให้ตัวเลขที่แท้จริงเมื่อนับรวมประชากรทั้งหมด อาจแย่กว่านี้ก็ได้ เพราะฐานข้อมูลนี้มาจากคนที่เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ผ่าน Netcare ที่ถือว่าต้องมีกำลังเข้าถึงได้ดีระดับหนึ่งเลยทีเดียวครับ

ดังนั้น หากเราเตรียมตัวดี ยังใช้มาตรการการป้องกันโรคและรับวัคซีน บวกกับการปฏิบัติการภาครัฐที่ทันเหตุการณ์ ทันข้อมูลและมีประสิทธิภาพ เราน่าจะผ่านโอมิครอนได้ไม่ยากนักครับ

อาจเป็นรูปภาพของ กลางแจ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น