01 ธันวาคม 2564

Hiatal hernia คือ อวัยวะในช่องท้องที่ทะลักล้นเข้าไปอยู่ในช่องอก

 ไส้เลื่อน ไม่ได้ออกทางถุงอัณฑะอย่างเดียวนะ

Hiatal hernia คือ อวัยวะในช่องท้องที่ทะลักล้นเข้าไปอยู่ในช่องอก ปกติช่องท้องกับช่องอกจะแยกกันด้วยกระบังลม ที่กระบังลมจะมีจุดเชื่อมต่อกับผนังทรวงอกและผนังช่องท้อง ที่เป็นจุดอ่อนจุดแรกของกระบังลม และมีช่องมีรูเพื่อให้ท่อต่าง ๆ วางทอดยาวผ่านช่องอกและช่องท้อง คือ รูให้หลอดอาหารและหลอดเลือดผ่านจากช่องอกและช่องท้อง ที่เป็นจุดอ่อนที่สอง จุดอ่อนสองจุดตามธรรมชาตินี้ อาจเกิดการเลื่อนไหลของอวัยวะในช่องท้องเข้าไปในช่องอกได้

ส่วนใหญ่ไม่มีอาการและมักจะพบโดยบังเอิญจากการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ ส่วนน้อยที่มีอาการ ก็ไม่ใช่อาการที่เฉพาะเจาะจง ที่พบบ่อยคือ อาการแสบร้อนท้อง แสบร้อนกลางอก มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการคล้ายโรคกรดไหลย้อนและโรคกระเพาะอาหารทั่วไป แต่ส่วนมากจะรักษาด้วยยาไม่ค่อยได้ผล และมาตรวจเพิ่มเติมไม่ว่าจะด้วยการถ่ายภาพรังสีหรือการส่องกล้องจะพบการเคลื่อนที่ของกระเพาะอาหารขึ้นมาอยู่ในช่องอก

ความรุนแรงของโรคขึ้นกับระดับการไหลขึ้นมา เราก็แบ่งออกเป็นสี่แบบ แบบแรกคือกระเพาะถูกดัน รูดไหลผ่านตามช่องเปิดปกติ อันนี้จะไม่ค่อยรุนแรง อาจจะตอบสนองต่อยาลดกรดได้ ความเสี่ยงการเกิดอันตรายไม่มาก ไม่ต้องผ่าตัดแก้ไข

แบบที่สองคือ เนื้อกระเพาะพับขึ้นและไหลขึ้นทรวงอกแทรกไปกับท่อหลอดอาหาร แบบที่สามคือ รวมแบบที่หนึ่งและสอง สำหรับแบบสองและสามจะมีโอกาสที่เนื้อกระเพาะส่วนที่ไหลขึ้นมาจะถูกช่องทางนี้รัดแน่นจนขาดเลือด หรือหมุนพลิกจนขาดเลือดได้

แบบที่สี่คือ ไหลเยอะมากอาจจะดันจนไปถึงลำไส้ไหลขึ้นไปเลย แบบนี้นอกจากตัวกระเพาะและลำไส้จะมีโอกาสขาดเลือดแล้ว ปอดและหัวใจที่ถูกดันจนผิดที่ผิดทางจะทำงานผิดปกติและทำให้เกิดโรคได้

แนะนำผ่านตัดแก้ไขในกรณีเกิดปัญหาหรือเสี่ยงสูงในชนิดที่สองสามสี่ ซึ่งอาจผ่าตัดเปิดช่องท้องช่องอก หรือผ่าตัดผ่านกล้องก็ได้

นอกจากมีอาการจุกแน่น คลื่นไส้ แสบท้องแล้ว บริเวณของกระเพาะที่ไหลดันเข้าช่องอก จะมีโอกาสเกิดแผลกระเพาะที่เป็นแผลยาว ๆ จากการเสียดสีบีบรัด แผลที่ว่านี้สามารถทำให้เกิดเลือดออกได้เหมือนแผลเป๊ปติกที่เกิดจากเชื้อ Helicobacter pylori ได้เช่นกัน เรียกชื่อแผลแบบนี้ตามชื่อคุณหมอที่ทำการศึกษาและพบแผลแบบนี้มากขึ้นในผู้ป่วยที่มี hiatal hernia ชื่อคุณหมอ A J Cameron เราก็เรียกชื่อแผลแบบนี้ว่า Cameron Ulcer

ท่านใดเจอปัญหาเหล่านี้จากเอ็กซเรย์ ก็อย่าลืมปรึกษาโอกาสเสี่ยงการเกิดผลแทรกซ้อน การขาดเลือด การพับ การเบียดดันอวัยวะทรวงอก และตัดสินใจติดตาม หรือรักษาหรือผ่าตัดได้ครับ

คุณหมอท่านใดสนใจรีวิวและการรักษา สามารถอ่านได้ที่แนวทางนี้ ทุกรีวิวอ้างอิงจากแนวทางนี้หมดเลย

https://www.sages.org/…/guidelines-for-the-management-of-h…/

อาจเป็นรูปภาพของ การตรวจเอกซ์เรย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น