03 พฤศจิกายน 2564

คำศัพท์น่ารู้ จากงานประชุมวิชาการราชวิทยาลัย : คำแนะนำอาหาร

 คำศัพท์น่ารู้ จากงานประชุมวิชาการราชวิทยาลัย : คำแนะนำอาหาร

1. Estimated Average Requirement คือ ค่าประมาณปริมาณสารอาหารขั้นต่ำที่สุด ที่จะทำให้ประชากรครึ่งหนึ่ง มีสุขภาพที่ดี : แน่นอนว่าค่านี้ประมาณแค่ขั้นต่ำ และครึ่งหนึ่งของภาพรวม เราจึงต้องมีการคำนวณต่อไปว่า ค่าที่ดีกว่านี้ที่จะแนะนำเป็นอย่างไร

2. Recommended Dietary Allowance คือ ค่าปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ค่านี้จะส่งผลถึงร้อยละ 95-99 ของประชากรเลยทีเดียว มาจากการคำนวณค่าทางสถิติ คือเอาค่า EAR มาบวกกับสองเท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พูดง่าย ๆ คือ มากกว่าครึ่งและเกือบถึง 95% สามารถนำค่านี้ไปใช้แนะนำได้

3. Adequate Intakes คือ ค่าประมาณสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน มันต่างจากข้อ 1 และข้อ 2 เพราะไม่ได้มาจากการคำนวณทางสถิติว่า กินสารอาหารเท่าไรจึงสุขภาพดี (จากเหตุไปผล) แต่มาจากการประมาณจากคนทั่วไปที่สุขภาพดีเขากินสารอาหารนี้ ประมาณนี้ (จากผลไปเหตุ) ด้วยข้อจำกัดทางการศึกษานั่นเอง

4. Tolerable Upper Intake Levels คือ ระดับสูงสุดของปริมาณสารอาหาร ที่กินไม่เกินนี้จะยังไม่เกิดผลเสีย นั่นคือ หากกินเกินขนาดที่กำหนด จะเริ่มเกิดผลเสียจากการกินเกินได้ ดังนั้น การกินสารอาหารมากเกินพอดี ก็เป็นปัญหานะครับ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องใช้โภชนบำบัด หรือ กลุ่มคนที่ใช้อาหารเสริม

5. Dietary Reference Intake อันนี้แหละคือคำแนะนำที่เราจะนำไปใช้ จะเอาข้อมูลจากข้อ 1 ถึงข้อ 4 มาประมวลผลและประยุกต์เข้ากับชนิดอาหารและสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของแต่ละประเทศ ของไทยเราก็คือคำแนะนำอันนี้ครับ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน สารอาหารต่าง ๆ เราจะมีคำแนะนำนี้ที่รวมข้อ 1-4 มาให้เข้าใจและทำตามได้จริง

6. Basal Energy Expenditure คือ พลังงานพื้นฐานที่ร่างกายเราใช้เพื่อการดำรงชีวิต เช่น หายใจ กินอาหาร คิดอ่าน ขับถ่าย ขนส่งสารต่าง ๆ สร้างความร้อน การวัดค่านี้โดยตรงทำยาก ส่วนมากได้จากการคำนวณจากอายุ ส่วนสูง น้ำหนัก เชื้อชาติ พลังงานส่วนนี้อย่างไรก็จำเป็นและมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 60 ของพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน ในกรณีได้รับเข้ามาไม่พอ ร่างกายจะเริ่มสลายพลังงานสะสมมาเพื่อใช้ใน BEE นี้

7. Total Energy Expenditure คือ พลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน จะรวมพลังงานในข้อ 6 คือ BEE และรวมพลังงานที่เก็บสะสมไว้ยามจำเป็น สองพลังงานนี้เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน แต่หากเรามีกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันมากขึ้น พลังงานตรงนี้จะเพิ่มขึ้น เช่น นักฟุตบอลก็จะเพิ่มมากกว่านักบัญชี หรือคนที่ออกกำลังกายทุกวันจะเพิ่มมากกว่าคนที่นั่ง ๆ นอน ๆ ดูทีวี

8. Physical Activity Level กิจกรรมและการออกแรงที่ทำในแต่ละวัน รวมการทำงานต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากความจำเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต และรวมการออกกำลังกายเข้าไปด้วย แบ่งเป็นเบา กลาง หนัก ซึ่งจะไปคูณกับ BEE ในข้อหก ประมาณได้เป็น TEE ในข้อ 7 นั่นเอง จึงเป็นคำแนะนำว่าให้ออกแรงและออกกำลังกายมากขึ้นในแต่ละวัน หากต้องการให้ผลลัพธ์พลังงานสะสมและความอ้วนลดลง (เมื่อการกินคงที่และไม่มากเกินไป)

9. Macro minerals and Trace Minerals คือ แร่ธาตุสารอนินทรีย์ต่าง ๆ ตามตารางธาตุ ที่ร่างกายต้องใช้เพื่อการทำงานของร่างกาย เช่น สร้างกระดูก กระตุ้นเอนไซม์ ขนถ่ายออกซิเจน ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ คือ แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม แบ่งเป็น Macro คือต้องการปริมาณมาก ต้องกินอาหารครบห้าหมู่ ไม่เลือกกินและกินหลากหลาย จึงได้แร่ธาตุครบ การขาดแร่ธาตุกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกิดจากกินไม่พอ ส่วน trace mineral คือ ต้องการเพียงเล็กน้อย ปกติก็จะมีอยู่แล้วในอาหาร การขาดสารพวกนี้ส่วนมากเกิดจากความผิดปกติของการดูดซึมหรือการนำไปใช้

10. Dietary Fiber and Phyto-chemicals เป็นกลุ่มอาหารที่แยกออกมาอีกกลุ่ม พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าขาดก็อาจไม่ได้ส่งผลร้ายแรงมากนัก มีการศึกษาถึงประโยชน์ที่มากขึ้น พร้อมไปกับความจำเป็นแห่งสารอาหาร เพราะเริ่มมีอาหารเสริมและการโฆษณาสารอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ที่อาจดูดีแต่เกินจริง เช่น เบต้าแคโรทีน โพลีฟีนอล ลูทีน ซีแซนทีน ไอโซฟลาโวน

11. Invincible team คือ ทีมแชมป์พรีเมียร์ลีกปีนี้ ทีมลิเวอร์พูล ทีมที่ไปถล่มคู่แข่งตัวฉกาจทีมหนึ่งคาบ้านถึง 0 - 5

อ่านคำแนะนำ ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย 2563 จากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ฟรี

https://www.thaidietetics.org/?p=6120

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น