24 พฤศจิกายน 2564

คลำ… ต่อมน้ำเหลือง

 ลุงหมอขอคลำ… ต่อมน้ำเหลือง

ต่อมน้ำเหลือง เป็นอวัยวะในระบบภูมิคุ้มกัน เราจึงตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตได้หากมีการติดเชื้อหรือการอักเสบ เพราะเซลล์เม็ดเลือดที่รับผิดชอบการติดเชื้อหรือการอักเสบหลายชนิด อยู่ที่นี่ พักที่นี่ และรวมศูนย์การทำงานที่นี่

หรือหากเป็นเนื้องอกของเซลล์เม็ดเลือดที่อยู่ที่ต่อมน้ำเหลือง ก็เจอต่อมน้ำเหลืองโตได้ (เราจึงจัดเนื้องอกต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคทางระบบโลหิตวิทยา)

ถึงแม้ต่อมน้ำเหลืองจะวางตัวและเชื่อมกับท่อน้ำเหลือง แต่ระบบท่อน้ำเหลืองและน้ำเหลือง (lymph และสีก็ไม่เหลือง) เป็นอวัยวะในระบบไหลเวียนเลือด เพื่อดูดซับสารน้ำส่วนเกินกลับสู่หัวใจ และทำหน้าที่ลำเลียงไขมันโมเลกุลใหญ่ เราจึงคิดโรคของระบบน้ำเหลืองและท่อน้ำเหลือง ต่างจาก โรคของต่อมน้ำเหลือง

*** และไม่มีโรคน้ำเหลืองไม่ดี อีกแล้ว เพราะในอดีต มีคำว่าน้ำเหลืองไม่ดี หนึ่งในความไม่สมดุลของของเหลวในร่างกาย แต่นั่นมันยุคกลางครับ สมัยอัศวินรบมังกร ปัจจุบันไม่มีโรคน้ำเหลืองไม่ดีอีกแล้ว ***

เมื่อเกิดการอักเสบ การติดเชื้อ อาจเกิดต่อมน้ำเหลืองโตและคลำได้ในบริเวณนั้น ๆ เช่น ฟันผุ ก็พบต่อมน้ำเหลืองใต้คางโต แผลที่ขาก็พบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ส่วนมากต่อมน้ำเหลืองที่โตมักจะมาจากโรคอื่น และหายเองเมื่อโรคต้นกำเนิดดีขึ้น แต่จะมีลักษณะบางอย่างของต่อมน้ำเหลืองโตที่เราอาจต้องหาสาเหตุร้ายแรง คือ มะเร็งที่แพร่กระจายมา หรือมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองเอง ลักษณะที่พึงระวัง (high likelihood ratio) มีดังนี้เรียงตามความน่าสงสัย

1.ยึดติดกับเนื้อเยื่อด้านลึก โยกไปมาไม่ได้ เพราะต่อมน้ำเหลืองจะอยู่ในชั้นไขมันหรือชั้นเนื้อเยื่อหลวม ๆ มันจะโยกได้ ถ้ายึดติดแน่นกับพังผืด กับกล้ามเนื้อ หรือกับผิวหนัง อันนี้ต้องระวังแล้ว

2.ขนาดโตมากกว่า 9 เซนติเมตร (เส้นผ่านศูนย์กลาง) หากขนาดเล็กลง 3-9 เซนติเมตรก็ยังสงสัยอยู่นะ แต่ลดความน่าสงสัยลง ถ้าเล็กกว่า 3 เซนติเมตร อันนี้จะสงสัยน้อยมาก ยิ่งต่ำกว่า 1 เซนติเมตรจะเพิ่มความ 'ไม่สงสัย' ด้วยซ้ำไป

3.แข็ง (hard consistency) ปกติต่อมน้ำเหลืองจะนุ่ม ๆ เหมือนฟองน้ำ ยิ่งแข็งขึ้นจะยิ่งน่าสงสัยมะเร็ง เช่นหยุ่นขึ้นแบบจอลลี่แบร์ ถ้าหากแข็งแน่นเป็นยางลบ อันนี้ต้องสงสัยอย่างยิ่ง

4.ต่อมน้ำเหลืองในตำแหน่งเหนือไหปลาร้า (supraclavicular node) มักจะพบว่ามาจากอวัยวะในช่องท้อง ช่องอก หรือเต้านม ต้องระวังมะเร็งแพร่กระจายมาที่นี่

5.อายุมากกว่า 40 ปี ความน่าสงสัยพอมีบ้าง ไม่ได้มากมาย แต่ถ้าพบต่อมน้ำเหลืองโตในคนอายุมากกว่า 40 โดยไม่มีเหตุพึงอธิบายได้ ติดตามอาการแล้วไม่ยุบลงอาจต้องพิจารณาตรวจชิ้นเนื้อ

ทั้งสิ้นนี้คือโอกาสและความน่าจะเป็น ยังต้องอาศัยข้อมูลจากประวัติ และการตรวจร่างกายอื่น ๆ ประกอบด้วยครับ

อ้อ..เวลาบันทึกตรวจร่างกาย อย่าเขียนว่า lymph nodes : negative เพราะเราไม่ได้ทำการ test ใด ๆ ที่จะรายงานผลเป็นบวกหรือลบ แต่เราตรวจว่าลักษณะเป็นอย่างไร คลำไม่พบก็บอกไป not palpable, impalpable, can't be palpated หรือคลำได้ก็ลง ตำแหน่ง จำนวน ขนาด ยึดติดไหม เจ็บหรือไม่ จะช่วยคุณหมอที่มาตรวจภายหลังได้ครับ

นี่คืออีกหนึ่งทักษะสำคัญในการตรวจร่างกายที่ต้องฝึกตลอด การคลำนั่นเองครับ

อาจเป็นภาพระยะใกล้ของ 1 คน และ เครา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น