25 ตุลาคม 2564

เส้นทางร่วมสู่ mRNA vaccine

 เส้นทางร่วมสู่ mRNA vaccine

ในยุคก่อนปี 2000 ต้องบอกว่าการพัฒนา mRNA ยังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูก นักวิจัยแต่ละคนศึกษาในทางของตัวเอง เมื่อได้องค์ความรู้ก็มักจะแยกตัวไปก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ เพื่อศึกษาแนวทางตัวเอง ไม่ได้มาร่วมกันแบ่งปันข้อมูลหรือใช้ความร่วมมือระหว่างองค์กรมากนัก แต่หลังจากปี 2000 เมื่อเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารพุ่งถึงขีดสุด การเปลี่ยนแปลงก็ก้าวกระโดด

ความสำเร็จและผลงานของ Eli Gilboa เรื่องการใส่ mRNA ที่มีรหัสที่ต้องการเข้าร่างกายและสามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน นำไปสู่การต่อยอดอีกหลายคนพร้อม ๆ กัน รวมทั้งอดีตนักวิจัยที่แยกย้ายในงานวิจัยช่วงแรก ก็เริ่มขยายสาขา มีเครือข่ายเพิ่มไปเรื่อย ๆ

สายที่หนึ่ง Ingmar Hoerr ชาวเยอรมัน

สายที่สอง Ugur Sahin และภรรยา Ozlem Turecci สามีภรรยาลูกครึ่งเยอรมันและเติร์ก

สายที่สาม Katalin Kariko ชาวฮังกาเรียน และ Drew Weissman ชาวสหรัฐอเมริกา

สายที่สี่ Derrick Rossi ชาวแคนาดา

Ingmar Hoerr นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทูบิงเก้น สามารถสร้าง mRNA แล้วฉีดเข้าในหนูทดลองแล้วหนูทดลองนั้นสามารถผลิตภูมิคุ้มกันได้ตรงกับที่คาดหวังจาก mRNA หลังจากนั้น Hoerr ก็ได้ตั้งบริษัท CureVac เพื่อทุ่มเทกับ RNA vaccine ได้รับทุนวิจัยมากมาย ทำวัคซีนโควิดได้ เพียงแต่ว่าประสิทธิภาพยังไม่มากพอ ถึงกระนั้นก็ยังตั้งหน้าตั้งตาวิจัยต่อ จนได้วัคซีน CVnCoV ที่ร่วมทุนกับบริษัท GSK กำลังยื่นจดทะเบียนยา และ Hoerr ก็ได้รับเสนอรับรางวัลโนเบลด้วย

Ugur Sahin นักวิจัยที่ได้แรงบันดาลใจจากงานของ Eli Gilboa มีความเชี่ยวชาญเรื่องการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัย Johannes Gutenberg ประเทศเยอรมนี เขาสนใจเรื่องวัคซีน RNA ที่น่าจะได้ผลเหมือนการรักษามะเร็ง แต่เขาจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องภูมิคุ้มกัน Ozlem Turecci

Ozlem Turecci นักวิจัยสาวลูกครึ่ง เยอรมัน-เติร์ก เชื้อสายอุยกูร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภูมิคุ้มกัน ต่อยอดจากงานของ Eli Gilboa เช่นกัน และมาทำวิจัยที่มหาวิทยาลัย Johannes Gutenberg เช่นกัน และพบรักกับ Ugur Sahin ทั้งคู่ได้ร่วมมือกันวิจัย mRNA vaccine จนประสบความสำเร็จ โดยคู่สามีภรรยานี้คือผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ BioNTech บริษัทผู้คิดค้นวัคซีนโควิดของไฟเซอร์ไบโอเอ็นเท็คนั่นเอง

Derrick Rossi นักวิจัยชาวแคนาดาผู้เชี่ยวชาญเรื่องสเต็มเซลล์และการตัดต่อพันธุกรรม ทำวิจัยเรื่อง mRNA ที่โรงพยาบาลเด็กที่บอสตันอันโด่งดัง รอสซี่ต่อยอดจากงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียจนประสบความสำเร็จทั้งทางวิทยาศาสตร์และธุรกิจ ตอนนั้นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ไม่ประสบความสำเร็จในการจดสิทธิบัตร แต่รอสซี่มาต่อยอดและก่อตั้งบริษัท Moderna

การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตรเพื่อประโยชน์ทางการค้า ไม่ได้ทำง่ายเพราะต้องแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่ลอกเลียนผลงานผู้อื่น ไม่มีผู้อื่นมาแย้งสิทธิ์ แต่อย่าลืมว่า แม้การพัฒนาแบบโครงข่ายจะทำให้การพัฒนาวัคซีน mRNA ทำได้อย่างรวดเร็วแต่ก็จะอ้างสิทธิ์ยากขึ้นเช่นกัน

นอกเหลือจากการต่อยอดจากแรงบันดาลใจของ Eli Gilboa แล้ว สายที่หนึ่ง สองและสี่ มีรากฐานสำคัญจากงานวิจัยของสายที่สาม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียคนนั้น Katalin Kariko สุดยอดนักวิจัยจากฮังการี

ในตอนต่อไปเราจะมารู้จักกุญแจความสำเร็จที่สำคัญของ mRNA ทั้งสองดอกครับ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น