27 ตุลาคม 2564

Leptospirosis กับ doxycycline prophylaxis

 Leptospirosis กับ doxycycline prophylaxis

โรคฉี่หนู (leptospirosis)​ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสไปโรขีต มีความรุนแรงและแยกยากจากโรคเขตร้อนบ้านเรา

การยืนยันตัวเชื้อก็ไม่ได้ทำง่าย ส่วนใหญ่ต้องใช้วิธีทางชีวโมเลกุล ดังนั้น การวินิจฉัยจึงใช้ อาการและอาการแสดงที่เข้าได้ ประวัติการลุยน้ำขัง ย่ำน้ำท่วม และให้การรักษาขณะรอยืนยันผล เพื่อไม่ได้เกิดอันตรายรุนแรงต่ออวัยวะภายใน โดยเฉพาะตับวายและเลือดออก โชคดีที่ตัวเชื้อยังไวต่อยา ยาที่ใช้รักษาก็หาง่าย ราคาไม่แพง คือ Penicillin G, Ceftriaxone, Doxycycline

แล้วถ้าในสภาวะน้ำท่วมเป็นวงกว้าง ต้องลุยน้ำทุกวันเป็นเวลานานแบบนี้ เรากินยาป้องกันหลังไปลุยน้ำมาเลย จะดีไหม (post exposure prophylaxis)​

มีการศึกษาเยอะนะครับ เพราะในพื้นที่เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีน้ำท่วมบ่อยและเป็นแหล่งระบาด โดยยาที่เราศึกษาคือยากินแคปซูล doxycycline ที่หาง่ายและราคาถูกมาก สูตรยาที่นิยมคือ 200 มิลลิกรัมกินครั้งเดียว หลังย่ำน้ำ หรือมีสูตรกินสัปดาห์ละครั้งขนาด 200 มิลลิกรัมในขณะที่ยังมีความเสี่ยงคือน้ำท่วมอยู่

แต่ว่าการศึกษามีหลากหลายแบบ หลายพื้นที่ (มีการศึกษาในประเทศไทยหลายชิ้นงานนะครับ) หลายสูตรยา และที่สำคัญคือ วิธีในการวัดผลว่าติดเชื้อหรือไม่ ระดับใด ในแต่ละการศึกษามีหลายวิธีที่แตกต่างกันและมีค่ามาตรฐานในการตัดสินว่า “ติดเชื้อ” หรือ “เป็นโรคที่แตกต่างกันด้วย”

ผลสรุปจากการทำ meta-analysis ของ Cochrane และคำแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา และจากหลายการศึกษา สรุปว่า

1. ผลการป้องกันการติดเชื้อยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดชัดเจนคือผลข้างเคียงของยา doxycycline คือ อาการคลื่นไส้อาเจียนและหลอดอาหารอักเสบ เกิดมากกว่ากลุ่มยาอื่นและยาหลอกอย่างมีนัย และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หยุดการใช้ยาด้วย

2. การศึกษาที่มีผลว่าช่วยลดการติดเชื้อ ระดับความแตกต่างกับยาหลอก ยังไม่ได้แสดงผลที่แตกต่างมากมายจนมีความสำคัญทางคลินิก

3. ปัจจัยร่วมที่อาจจะเป็นตัวกวน (confounding factor) ที่อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อลดลงมากกว่าที่จะเกิดจากยาคือ ระยะเวลาการสัมผัสน้ำท่วมขัง (โดยเฉพาะมากกว่า 3 ชั่วโมง) และการมีบาดแผลที่ขาและเท้า สองปัจจัยนี้มีผลทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

4. ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้กินยา doxycycline เพื่อป้องกันการติดเชื้อฉี่หนูก่อนที่จะเกิดโรค ภายหลังการย่ำน้ำ ลุยน้ำท่วม

สรุปว่า ยังไม่ต้องกินยานะครับ แต่ให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ หรือลุยน้ำด้วยเวลาที่น้อยที่สุด และเมื่อย่ำน้ำแล้วควรล้างทำความสะอาดและเช็ดแห้ง หากมีแผลเปิด ไม่ว่าจะเป็นแผลฉีกขาดหรือแผลถลอก ควรงดหรือระมัดระวังเวลาลุยน้ำ หากจำเป็นต้องลุย ก็ต้องล้างแผลให้สะอาดทุกครั้ง

ที่สำคัญคือ หากมีไข้สูง หรือมีการปวดบวมแดงร้อนบริเวณขาและน่อง ต้องแจ้งให้คุณหมอทราบว่ามีประวัติลุยน้ำขัง ย่ำน้ำท่วมด้วย จะช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคได้ดีและรักษาได้ทันเวลาครับ

- J Infect Chemother. 2014 Nov;20(11):709-15.

- PLoS One. 2012;7(7):e39672.

- Cochrane Database Syst Rev. 2009 Jul 8;(3):CD007342.

- Southeast Asian J Trop Med Public Health. 1985 Jun;16(2):268-73.

https://wwwnc.cdc.gov/…/travel-related-infect…/leptospirosis

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น