Hypertriglyceridemia
ไขมันไตรกลีเซอไรด์ เราสามารถวัดได้โดยตรงจากเลือด เรามักจะพบค่าผลการตรวจไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้บ่อย เวลาเราเจาะเลือดตรวจหาไขมันในเลือด โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพประจำปี (ไม่มีอาการผิดปกติใด) ส่วนในกรณีผู้ป่วยที่คุณหมอเขาส่งตรวจหาระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดนั้น คุณหมอจะมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าคิดถึงโรคใด สูงแปลผลอะไร ต่ำแปลผลอะไร แต่ถ้าเราพบผลเลือดเราไตรกลีเซอไรด์สูง เราคิดอย่างไร
ตอนที่ 3 ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงต่อเนื่อง ต้องกังวลอะไรบ้างไหม
เมื่อเราได้ยืนยันแล้วว่าค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูงของเราเป็นการสูงแบบต่อเนื่อง ไม่มีสาเหตุอื่น ก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจหาโรคทางพันธุกรรมที่อาจจะมี เพราะหากเป็นโรคพวกนี้ อัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจะสูงมากและไขมันที่สูงก็ไม่ได้มีแค่ไตรกลีเซอไรด์เท่านั้น
พร้อมกันนี้ก็จะประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ ซึ่งใช้วิธีเดียวกันกับการประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจในกรณีไขมันโคเลสเตอรอลและ LDL ขึ้นสูงนั่นเอง ที่สำคัญคือจะต้องประเมินและใช้การรักษาแบบโคเลสเตอรอลสูงเสียก่อน
**น้ำหนักความเสี่ยงและประโยชน์ที่ได้จากการลดโคเลสเตอรอลมันสูงกว่า**
รายละเอียดอยู่ในแนวทางฉบับเต็มนะครับ อันนี้ผมจะสรุปมาให้แบบง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป จะได้เข้าใจแนวคิดและการรักษาไตรกลีเซอไรด์สูงในปัจจุบัน
1. สำหรับผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้ยาสเตตินแน่นอน เมื่อใช้ยาจน LDL ต่ำกว่า 70และยังมีไตรกลีเซอไรด์สูง ต้องการจะลดความเสี่ยงเพิ่ม ความเสี่ยงที่เกิดจากไตรกลีเซอไรด์สูง ก็สามารถใช้ยาลดไตรกลีเซอไรด์ได้
2. สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรค แต่มีความเสี่ยงโรคหัวใจสูง จะคิดคล้ายกับข้อแรก แต่เนื่องจากยังไม่มีโรค คุณหมอเขาจะมีเกณฑ์ LDL ที่ต้องการ ให้ใช้ยาลดโคเลสเตอรอลก่อน ถ้าลด LDL แต่ไตรกลีเซอไรด์สูงจึงใช้ยาลดไตรกลีเซอไรด์ครับ
3. สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน “และ” ไม่มีความเสี่ยงอื่น “และ” ไตรกลีเซอไรด์สูงต่อเนื่อง (ปกติคนกลุ่มนี้ก็ได้สเตตินอยู่แล้วนะครับ จากเงื่อนไขโรคเบาหวาน) จะเลือกใช้ยาลดไตรกลีเซอไรด์เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจอีกก็ได้ครับ แต่ต้องบอกก่อนว่าสัดส่วนการลดโรค ไม่ได้ยิ่งใหญ่เพิ่มมากสักเท่าไร ลดลงอีกประมาณ 1.5% เท่านั้น
สามกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีหลักฐานสนับสนุนว่า การใช้ยาลดไตรกลีเซอไรด์จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มจากที่ทำอยู่เดิม ให้ลองคุยกันกับคุณหมอ พิจารณาผลดี ผลเสีย ค่าใช้จ่าย ผลข้างเคียงจากยา ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ก่อนจะเริ่มยาลดไตรกลีเซอไรด์
เมื่อมาดูรีวิวตามที่แนวทางเขียนมา เราจะเห็นว่ามีกลุ่มคนจำนวนไม่มากนะครับ ที่จะได้ประโยชน์จากยาลดไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งยาหลักคือ Pure EPA รองมาคือ fibric acid
ย้ำความสำคัญว่าเห็นค่าไตรกลีเซอไรด์สูง ไม่ใช่แจกยากินยาทุกกรณีไป
แล้วถ้าไม่จำเป็นต้องกินยา จะมีวิธีใดลดไตรกลีเซอไรด์บ้างไหม หรือ จำเป็นต้องกินยา จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร คราวหน้าเราค่อยมาว่ากันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น