งูสวัด อีกหนึ่งการป้องกันโรคที่น่าสนใจ
ในผู้สูงวัย จะมีโอกาสเกิดงูสวัดเพิ่มขึ้นและการเกิดงูสวัดในผู้สูงวัยก็จะรุนแรงกว่า เพราะสภาพร่างกายและภูมิคุ้มกันด้อยกว่าในคนอายุน้อย อีกทั้งจะมีโอกาสเกิดอาการปวดเส้นประสาทหลังงูสวัด (Post herpetic neuralgia) มากกว่าคนอายุน้อย แถมยังทรมานและรบกวนความสุขในชีวิตอย่างมากมาย
วิธีการป้องกันที่ได้ผลดีคือ วัคซีนงูสวัด (สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยก็แนะนำเหมือนกับนานาประเทศ)
วัคซีนงูสวัด แนะนำฉีดให้กับคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเคยเป็นงูสวัดมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ฉีดหนึ่งเข็มครั้งเดียวตลอดชีวิต โดยไม่แนะนำฉีดในหญิงตั้งครรภ์ (อายุ 50 แล้วคงไม่ตั้งครรภ์แล้วล่ะ) ผู้ที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นต้องใช้ยากดภูมิหรือปลูกถ่ายอวัยวะ
เดิมทีผลการศึกษาเรื่องการลดอันตรายจากวัคซีนนี้มาจากวัคซีนชนิดเชื้อที่ยังไม่ตาย แต่ลดความรุนแรงลง (Live-attenuated vaccine: Zostavax) ที่ทำการศึกษาในผู้สูงวัยกว่า 38,000 โดยเทียบวัคซีนกับยาหลอก พบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีน
* ป่วยเป็นโรคงูสวัดน้อยกว่ากลุ่มยาหลอกประมาณ 50% และการปกป้องลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดีสุดจะอยู่ในช่วง 50-70 ปี
* ลดระยะเวลาการป่วย หากมีการติดเชื้อหลังรับวัคซีน
* ลดการเกิดอาการปวดเส้นประสาทลงได้ประมาณ 67% หากมีการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน
แต่ปัจจุบัน ทางองค์การอาหารและยาสหรัฐ ได้ยกเลิกการใช้วัคซีนงูสวัดแบบเชื้อตายเดิม (ฉีดใต้ผิวหนัง) หันมาใช้วัคซีน Recombinant Vaccine (Shingrix) ใช้ส่วนของไวรัสมาทำเป็นวัคซีน คิดเสมือนเป็นวัคซีนเชื้อตาย มีประสิทธิภาพสูงกว่า
สามารถฉีดร่วมกับวัคซีนอื่นได้ในคราวเดียวกัน และหากใช้ยากดภูมิคุ้มกันในขนาดต่ำก็ฉีดได้ แต่วัคซีนนี้ต้องฉีดสองครั้งห่างกัน 2-6 เดือนนับจากเข็มแรกและฉีดเข้ากล้าม
ในประเทศไทยมีทั้งสองแบบ จะใช้แบบใดก็ได้ครับ ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปเช่นกัน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะหากป่วยเป็นโรคนี้ แม้จะไม่ตายแต่ทรมานมากเลยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น