14 พฤษภาคม 2564

ข้อมูลวัคซีน SinoVac

1.       ทางเพจเราได้นำเสนอวัคซีนป้องกันโรคโควิดในแง่ข้อมูลทางการแพทย์มาครบทุกยี่ห้อ โดยพยายามนำข้อมูลการวิจัยมาย่อยและนำเสนอแบบง่าย เริ่มจากวัคซีน mRNA ของโมเดอนา ของไฟเซอร์-ไบโอเอนเท็ค  ต่อมาคืองานวิจัยวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ของแอสตร้าซีเนก้า  วัคซีนสปุตนิกวีของรัสเซีย และสุดท้ายคือวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน  ส่วนวัคซีนที่ประเทศเราจะนำเข้ามาเป็นตัวแรกคือ ซิโนแวก (หรือโคโรนาแวก) ของประเทศจีน ยังไม่มีการตีพิมพ์ใน  peer-reviewed journal จึงยังไม่ได้มาเล่าให้ฟัง แต่ตอนนี้ทางองค์การอนามัยโลกเผยแพร่ข้อมูลของซิโนแวกที่ใช้ในการอนุมัติแบบฉุกเฉิน จึงมาเล่าสู่กันฟัง


2.      งานนำเสนอผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลกชิ้นนี้  หลายสื่อในประเทศไทยนำไปอ้างอิงกันอย่างแพร่หลาย โดยส่วนตัวผมเองยังไม่สามารถเข้าถึงวารสารต้นฉบับ อันเป็นที่มาของรายงานนี้ได้ทั้งหมด (บางส่วนเป็นภาษาสเปน) จึงขอหยิบยกรายงานฉบับนี้มาเล่าให้ฟังแบบหน้าต่อหน้า เพื่อให้เข้าใจ หลักการและสิ่งที่รายงานนำเสนอ จะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจรับวัคซีนครับ


3.       การประเมินจากคณะกรรมการขององค์การอนามัยโลกนั้น ประเมินจากหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกเป็นหลัก ข้อมูลของประสิทธิภาพวัคซีนในบุคคลทั่วไปและบุคคลที่มีโรคประจำตัวนั้น ต้องใช้งานวิจัยที่มีการควบคุมดีในระดับ controlled trials ที่มาจากประเทศบราซิลและตุรกี (ข้อมูลจากอินโดนีเซียมีไม่มากนัก) ส่วนข้อมูลด้านความปลอดภัยก็ได้มาจากงานวิจัยทางคลินิกเช่นกัน ร่วมกับข้อมูลรายงานผลข้างเคียงที่เกิดจาการใช้จริงในบางประเทศแล้ว โดยเฉพาะประเทศจีนและชิลี

1.       สำหรับข้อมูลการใช้งาน ทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี ที่จากวัคซีนถือเป็นทางเลือก มาจากการใช้งานจริงที่ใช้วัคซีนนี้เป็นทางเลือกกับผู้สูงวัย ข้อมูลจะน้อยและกระจัดกระจาย มีตัวแปรปรวนพอสมควร เพราะโดยข้อกำหนดของวัคซีนซิโนแวกนั้น จะฉีดให้กับคนอายุ 18-59 ปีเท่านั้น


4.       จำนวนข้อมูลที่นำมาใช้พิจารณาในครั้งนี้ จะเห็นว่าในแง่ประสิทธิภาพนั้น ต้องมาจากการใช้งานตามข้อกำหนดทั้งสิ้น ประชากรส่วนมากคืออายุน้อยกว่า 60 ตามระเบียบวิธีวิจัยที่จะต้องกำหนดตรงนี้ใช้ชัดเจนจึงแปลผลได้ ดังนั้นการแปลผลจะต้องแปลผลในกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 60  หากผู้ที่ได้รับวัคซีนอายุมากกว่า 60 ต้องบอกว่าอาจจะใช้ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนนี้อย่างระมัดระวัง อาจไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้เสียทั้งหมด  ส่วนการคิดเรื่องระดับภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย เราคิดจากข้อมูลทั้งหมด ทั้งใช้ตามข้อบ่งชี้และใช้แบบทางเลือก เพราะถือว่าฉีดแล้ว ได้รับวัคซีนแล้ว


5.       เรามาดูงานวิจัยในเฟสสาม คือ การศึกษาวิจัยในมนุษย์ มีการศึกษาแบบ randomized controlled trials ที่ถือเป็นงานวิจัยหลักที่ใช้ประเมินประสิทธิภาพ คือ การศึกษาจากบราซิล จากตุรกีและจากอินโดนีเซีย เรียงลำดับตามปริมาณผู้เข้าร่วมวิจัย (ขนาดการศึกษา) ทั้งหมดได้แค่ผลการทดลองที่ยังไม่สมบูรณ์แต่เพียงพอจะนำมาคิดผลลัพธ์และรับรองการใช้

1.        ส่วนงานวิจัยจาก ชิลี มีงานวิจัยแบบ randomized controlled trials ที่ออกแบบเพื่อดูความปลอดภัยเป็นหลัก  ส่วนประสิทธิภาพวัคซีนนั้น งานวิจัยในชิลีจะเป็นแบบ cohort คือติดตามผู้ที่ได้รับวัคซีนว่ามีผลอย่างไร ผู้วิจัยไม่ได้เป็นคนกำหนดและควบคุมว่าใครฉีดใครไม่ฉีด

2.       แต่เนื่องจากการเก็บข้อมูลในชิลี (prospective cohort) ทำเป็นระบบและขนาดการศึกษากว่า 10 ล้านคนจึงสามารถนำมาประกอบการพิจารณาเรื่องประสิทธิภาพได้ด้วย (พิจารณาเสริมจากงานวิจัยแบบ RCTs) และที่สำคัญงานวิจัยของชิลีนี้ มีเชื้อโคโรนาสายพันธุ์บราซิลและสายพันธุ์อังกฤษที่กำลังสร้างปัญหาอยู่ในปัจจุบันอยู่ด้วย


6.       เรามาดูงานวิจัยหลักที่นำมาประเมินเรื่องประสิทธิภาพวัคซีน (vaccine efficacy) คือ งานวิจัยแบบ RCTs จากสามประเทศที่กลุ่มตัวอย่างแตกต่างกัน  น้ำหนักของผลวิจัยจะอยู่ที่งานวิจัยของบราซิลและตุรกีเป็นหลัก

1.       งานวิจัยจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรักษาผู้ติดเชื้อโควิดจากประเทศบราซิล หมื่นสองพันกว่าคน กลุ่มนี้มีการติดเชื้อสูงเพราะเสี่ยง แต่เวลาติดเชื้ออาจไม่รุนแรงเพราะส่วนมากคือแข็งแรงดี ตรวจจับอาการตัวเองได้เร็วและเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ง่าย ประสิทธิภาพที่ 51%

2.       งานวิจัยจากตุรกี จำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษา 13000 ราย มีบุคคลทั่วไป 90% และมีบุคลากรทางการแพทย์เพียง 10% แน่นอนกลุ่มนี้โอกาสสัมผัสโรคน้อยกว่า การติดเชื้อจึงต่ำกว่า แต่จะมีการติดเชื้อรุนแรงสูงกว่า อาจเป็นเพราะมีบุคคลทั่วไปที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ยากกว่าหรือไม่สามารถสังเกตอาการตัวเองได้ดีเท่าบุคลากรทางการแพทย์ ประสิทธิภาพวัคซีนก็จะสูงขึ้นที่ 84%

3.       งานวิจัยจากอินโดนีเซีย เป็นบุคคลทั่วไปทั้งหมด ประสิทธิภาพวัคซีนอยู่ที่ 65% แต่ผู้ที่เข้าร่วมการศึกษามีเพียง 1620 คนและติดตามอาการยังไม่นานพอ เฉลี่ยติดตามอาการแค่ 2.5 เดือนเท่านั้น



7.       ภาพนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ ชี้ให้เห็นว่างานวิจัยของวัคซีนบริษัทยี่ห้อเดียวกัน แต่ทำคนละเวลา คนละประเทศ นอกจากสถานการณ์การระบาดของแต่ละประเทศจะต่างกันแล้ว รูปแบบงานวิจัยแต่ละงานก็ต่างกันอีกด้วย การจะนำมาพิจารณาถึงผลรวม ทำได้ยากและต้องพิถีพิถันมาก

1.       งานวิจัยจากบราซิล ที่ถือเป็นผลที่นำมาคิดเป็นหลัก ได้กำหนดผู้ติดเชื้อมีอาการไว้ชัดเจน มีเกณฑ์หลัก เกณฑ์รอง ต้องมีภาพถ่ายรังสีปอดเข้าได้ด้วย และต้องมีผลการตรวจสารพันธุกรรม SARs-CoV2 เป็นบวกอีกด้วย แต่ที่บราซิลยอมรับผลตรวจจากการใช้น้ำลายได้ (หลาย ๆ งานวิจัยไม่ได้ใช้ข้อกำหนดนี้)

2.       งานวิจัยจากตุรกี มีเกณฑ์ของอาการชัดเจนเช่นกัน แต่ไม่ได้ระบุถึงเรื่องภาพรังสีปอด ในรูปแบบนี้จะแปลได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีภาพถ่ายรังสีปอดก็สามารถเข้าสู่งานวิจัยได้ (ทำให้เกณฑ์การวินิจฉัยหลวม มีความไม่แน่นอนได้) และต้องมีผลตรวจสารพันธุกรรม SARs-CoV2 เป็นบวกเช่นกัน แต่จะยอมรับเฉพาะวิธีแยงจมูกตามมาตรฐานเท่านั้น

3.       งานวิจัยจากอินโดนีเซีย ที่เมื่อภาพที่แล้วเราเห็นว่ามีปริมาณผู้เข้าร่วมวิจัยน้อยอยู่แล้ว เกณฑ์การวินิจฉัยระบุแต่อาการเข้าได้ ไม่ได้กล่าวถึงการใช้ภาพรังสีปอดหรือการตรวจสารพันธุกรรมแต่อย่างใด ทำให้งานวิจัยนี้มีข้อสังเกต ข้อกังขาในการรวมคนเข้างานวิจัย ส่งผลต่อผลการวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือลดลง


8.       คำอธิบายภาพนี้ ค่อนข้างมีศัพท์แสงทางสถิติมากหน่อย แต่จะอธิบายว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวก ที่มาจากงานวิจัยในบราซิลเพียงอย่างเดียว ที่ถือว่าน่าจะสมบูรณ์มากที่สุดในบรรดางานวิจัยที่นำมาพิจารณา จะเห็นค่าประสิทธิภาพของวัคซีนในภาพรวมเท่ากับ 50.7 % โดยวิธีคิดประสิทธิภาพนั้นเป็นวิธีเดียวกันกับที่ใช้คำนวณประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดทุกยี่ห้อคือ 100 x (1-hazard ratio) และผู้สูงวัยก็ประสิทธิภาพดีพอกัน ส่วนการป้องกันโรครุนแรงนั้น พบว่าโรครุนแรงในการศึกษายังพบน้อยมากคือประมาณ 2 รายประชากร 1000 ราย ค่าเฉลี่ยในชีวิตจริงอยู่ที่ประมาณ 1-2% จะเห็นว่าในการศึกษามีโรครุนแรงน้อยกว่าในชีวิตจริงเกือบสิบเท่า ทำให้ตัวเลขประสิทธิภาพออกจะเลิศหรูคือ 100% ที่เอาไปอ้างจริงลำบาก (ก็อุบัติการณ์ไม่มากพอ)

1.       ประเด็นอีกอย่างคือ ถ้าเรามาคำนวณ  absolute risk reduction  หรือค่าประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้เกิดจากการเทียบสัดส่วนกับการได้ยาหลอก จะพบว่า ARR เท่ากับ 1.73% และตัวเลขนี้ก็จะพอ ๆ กันกับทุกการศึกษาวัคซีนทุกยี่ห้อ

2.       ที่ relative risk reduction ดูต่ำกว่ายี่ห้ออื่น เพราะว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อของการศึกษาที่บราซิลมันสูงกว่าการศึกษาวัคซีนยี่ห้ออื่น  22.4% เนื่องจากทำในบุคลากรเสี่ยงสูงนั่นเอง การวิจัยวัคซีนอื่นทำให้กลุ่มที่เสี่ยงต่ำกว่า อุบัติการณ์การติดเชื้อในยาหลอก (หรือไม่ได้วัคซีน) มันไม่สูงเท่า เทียบดูเลยป้องกันได้มากกว่า ถ้าอยากจะเทียบจริง ๆ ต้องใช้ absolute risk reduction เทียบเอา

3.       และถ้ามาคำนวณ number needed to treat หรือจะฉีดวัคซีนกี่คนจึงป้องกันโรครุนแรงได้หนึ่งคน คำตอบคือ 57 ราย

4.       แต่เมื่อไปคิดรวมกับตุรกีและอินโดนีเซีย จะมี NNT เท่ากับ 102  ส่วนวัคซีนแอสตร้าซีเนก้ามี NNT กับ 84 ของไฟเซอร์คือ 120 เห็นว่าแท้จริงแล้วประสิทธิภาพของจริงก็ไม่ได้ต่างกันมากนักในสามยี่ห้อนี้


9.       มาดูการพิจารณาเรื่องความปลอดภัย ที่มาจากกงานวิจัย คือมีการกำหนดเอาไว้ มีการติดตามเชิงรุก มีการเฝ้าระวัง ผลการศึกษาที่ออกมาจึงน่าเชื่อถือว่า การรายงานหลังใช้ ที่ไม่ได้มีการควบคุมที่จะบอกได้ว่าผลที่เกิดเป็นจากตัววัคซีนหรือสาเหตุอื่น  และจากรายงานนี้จะพบผลที่พบมาจากการใช้วัคซีนตามข้อบ่งชี้ ส่วนการใช้เป็นวัคซีนทางเลือก อาจเกิดผลแทรกซ้อนที่ต่างจากนี้   จากการวิจัย (ไม่ใช่จากการใช้จริง) พบผลข้างเคียงบ้างที่เป็นผลแทรกซ้อนไม่รุนแรง ส่วนรายงานการเสียชีวิตทั้งสามรายในบราซิล ในกลุ่มยาหลอกสองรายและกลุ่มวัคซีนหนึ่งราย ถึงแม้ว่าเหตุของการเสียชีวิตจะดูไม่เกี่ยวกับวัคซีน แต่ก็ต้องนับว่าเป็นผลแทรกซ้อนรุนแรงเช่นกัน ใครจะไปรู้ว่าวัคซีนอาจทำให้ซึมเศร้าจนฆ่าตัวตายก็ได้

1.       จากการรายงานผู้เข้าร่วมการศึกษา 8840 ราย ก็บอกได้ว่าผลข้างเคียงต่ำมาก แต่ต้องเข้าใจว่านี่คือ การศึกษา มีการคาดการณ์ มีการติดตาม การเฝ้าระวัง ทำให้ผลออกมาอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง เมื่อนำมาใช้ในสถานการณ์จริง จึงยังต้องเฝ้าดูข้อมูลหลังจากใช้ในปริมาณมาก ๆ อีกครั้ง


10.       10. ภาพนี้คือข้อมูลเรื่องความปลอดภัย หลังจากนำวัคซีนออกใช้ในสถานการณ์จริง ข้อดีคือ บ่งชี้ถึงของจริงได้ คงไม่ได้ไปเฝ้าติดตามคนฉีดกว่าสิบล้านได้ ผลแทรกซ้อนที่เกิดจะถูกรายงานกลับมา และนำมาคิดว่าสิ่งใดพบมากพบน้อย เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่เกี่ยว เช่น อาจเป็นเพราะเทคนิคการให้ยา เป็นจากโรคร่วม เป็นจากพื้นฐานเชื้อชาติพันธุกรรม

1.ข้อมูลจากจีนกว่า 35 ล้านโด๊ส พบผลแทรกซ้อนที่นับว่ารุนแรงเพียง 49 รายเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนคือ 1.3 รายต่อล้านราย

2.ข้อมูลจากบราซิลและอินโดนีเซีย จากการใช้วัคซีน 17 ล้านโด๊ส พบผลแทรกซ้อนรุนแรง 162 ราย สัดส่วน 9.5 รายต่อล้านราย แต่อาจจะไม่ได้เป็นอาการรุนแรงที่แท้จริง และมีรายงานการเสียชีวิต

3.ข้อมูลจากชิลี พบ 90 รายจากการใช้วัคซีน 3.7 ล้านโด๊ส สัดส่วน 24.3 รายต่อล้านราย แต่ปริมาณการฉีดยังไม่มากต้องติดตามต่อไป


11.       ส่วนข้อมูลในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ต้องบอกก่อนว่ามาจากการใช้วัคซีนแบบทางเลือก ไม่ได้มาจากการใช้ตามข้อบ่งชี้ จึงไม่สามารถสรุปอะไรได้ชัดเจน แถมจำนวนผู้ที่อายุเกิน 60 ปีที่ได้รับวัคซีนยังมีปริมาณน้อยเกินกว่าที่จะมาประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน และประเมินเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลหลังจากการใช้วัคซีนในวงกว้าง ว่าการใช้วัคซีนในผู้สูงวัยจะออกมาเหมือนคนอายุต่ำว่า 60 ปีหรือจะต่างจากในการศึกษาวิจัยอย่างไร

12. ความแตกต่างของการเก็บข้อมูลแบบ surveillance กับ report


13.       การศึกษาแบบเฝ้าติดตามของการใช้วัคซีนซิโนแวกในชิลี เป็นการศึกษาในสถานการณ์จริงที่ขนาดใหญ่มาก วัดผลหลายประการทั้งการติดเชื้อ ลดความรุนแรง ลดการรักษา และอัตราการเสียชีวิต แต่เนื่องจากมันคือการศึกษาแบบ “เฝ้าติดตาม” ผู้วิจัยไม่ได้กำหนดว่าใครกลุ่มใด ได้รับวัคซีน ได้รับยาหลอก เพียงแต่คัดเลือกคนเข้ามา กำหนดเรื่องที่จะติดตาม คิดคำนวณตัวแปรที่อาจส่งผล แต่ไม่ได้กำหนดว่าใครจะได้รับวัคซีนก่อนหลังหรือใครได้ยาหลอก ดังนั้นข้อมูลจะมีตัวแปรพอสมควร การคำนวณทางสถิติจะต้องมีการ “ทอน” ความแปรปรวนนั้นลงไป การเก็บข้อมูลมหาศาลขนาดนี้เรายอมรับวิธีการเฝ้าสังเกตแบบนี้ได้ เพราะหากเป็นการทดลองทางการแพทย์จะต้องใช้คนมหาศาลกว่านี้ ค่าใช้จ่ายและทรัพยากรมากมาย จนอาจเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

1.       เห็นว่ามีการเก็บข้อมูลลดการติดเชื้อโดยรวมด้วย แต่ไม่ได้แสดงผลในรายงานนี้ แสดงว่าเขาเน้นเป้าหมายเหมือนการทดลองคือลดการติดเชื้อแบบมีอาการและลดความรุนแรง

2.       มีข้อมูลในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี

3.       เปรียบเทียบคนที่ไม่ได้ฉีด คนที่ฉีดหนึ่งเข็ม และคนที่ฉีดครบสองเข็ม


14.       เรามาดูข้อมูลสำคัญสามเรื่อง (อย่าลืมว่านี่คือการใช้งานจริง ไม่ได้ผลการทดลอง)

1.       ลดการติดเชื้อ (สีม่วง) เมื่อทำการปรับตัวแปรต่าง ๆ แล้วพบว่าประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวกสองเข็มสามารถลดการติดเชื้อลงได้ 56-62% แต่ว่าหากได้รับเพียงเข็มแรกเข็มเดียวจะลดการติดเชื้อลงได้เพียง 5-15% เท่านั้น  และที่สำคัญคือ แม้ฉีดวัคซีนครบก็ยังติดเชื้อได้นะครับ

2.       ลดการติดเชื้อแบบมีอาการ(สีเหลือง) หลังฉีดวัคซีนครบสองเข็มจะลดการติดเชื้อแบบมีอาการลงได้ถึง 61-66% โดยข้อมูลส่วนนี้ที่มาจากการทดลองทางคลินิกอยู่ที่ 50% ตัวเลขไม่ต่างกันมากเท่าไร ถือว่าโอเค ในสถานการณ์จริงมีผู้ฉีดวัคซีนมากกว่า แต่ก็ไม่ได้ควบคุมเคร่งครัดเหมือนการทดลอง ข้อสังเกตคือ การฉีดเข็มเดียวนั้นมีประสิทธิภาพน้อยมาก

3.       ลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล(สีแดง) หลังจากฉีดสองเข็ม ปรับตัวแปรปรวนทั้งหลายแล้วพบว่า ลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลงได้ 81-84% เรียกว่าลดคนไข้ที่อาการรุนแรงลงได้เยอะมาก  ในการทดลองทางคลินิกตัวเลขนี้จะลดลงเกือบ 100% เพราะว่าผู้ที่ฉีดยาและผู้ที่มีอาการรุนแรงมีไม่มากพอที่จะเห็นความแตกต่างนี้

4.       เรียกว่าพอในสถานการณ์จริง ก็สามารถลดการป่วย ลดการติดเชื้อได้จริง **แต่ต้องฉีดสองเข็มนะ**  เนื่องจากความแปรปรวนในการศึกษาเองก็พอมี จะให้ไปเทียบกับวัคซีนอื่นก็ยาก ต้องใช้การเปรียบเทียบและรวบรวมอย่างเป็นระบบที่เรียกว่า meta-analysis ที่ตอนนี้ยังทำไม่ได้เพราะไม่มีวัคซีนใดข้อมูลสมบูรณ์แบบ


15.       ยกมาสักสองภาพ สองผลการศึกษา ภาพนี้คือร้อยละของผู้ติดเชื้อสะสมในแกนตั้ง ส่วนแกนนอนคือจำนวนวันนับตั้งแต่วันรับวัคซีนเข็มสองต่อเนื่องยาวไปจนสามสิบวัน เส้นสีแดงคือคนที่ไม่ได้รับวัคซีน จะเห็นว่าอัตราการติดเชื้อสะสมสูงกว่าและสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาที่เพิ่มขึ้น ส่วนเส้นสีฟ้าแสดงคนที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม จะเห็นว่าลดการติดเชื้อแบบมีอาการลงได้ชัดเจนตั้งแต่หลังฉีดยาเลย 


16.       ส่วนภาพนี้เป็นร้อยละสะสมของผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในแกนตั้ง และแกนนอนคือจำนวนวันที่ผ่านไปหลังฉีดวัคซีนเข็มสองเช่นกัน ก็จะเห็นว่าการฉีดวัคซีนครบสองเข็มลดการรักษาในโรงพยาบาลลงได้เยอะมาก ในกราฟที่สัดส่วนเท่ากันกับรูปที่แล้วนั้น สามารถลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้เด่นชัดกว่าการลดการป่วยเสียอีกเช่นเคย ต้องฉีดครบสองเข็มครับ


17.       ภาพสรุปประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวกจากการใช้งานจริงในประเทศชิลี ประสิทธิภาพไม่ต่างจากการศึกษาทดลองทางการแพทย์ ความเห็นส่วนตัวที่เขาไม่เขียนประสิทธิภาพลดการติดเชื้อโดยรวม (รวมแบบไม่มีอาการ) เพราะว่าไม่มีผลการศึกษาแบบทดลอง (randomized controlled trials) มาสนับสนุนเหมือนผลทั้งสี่ประการนี้ และประเด็นเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ มันยังมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากวัคซีนอีกด้วย เช่น เชื้อชาติ เศรษฐานะ นโยบายการควบคุมโรค ความร่วมมือของชุมชน ทำให้ไม่สามารถบอกตัวเลขที่ชัดเจนได้เลย


18.       แสดงข้อมูลในประเทศชิลี ที่มีทั้งการฉีดซิโนแวกและวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ ในจำนวนสามล้านหกแสนโด๊ส เป็นวัคซีนซิโนแวกเสีย 92%  แต่พบว่ามีรายงานผลแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์มากกว่าซิโนแวก และเมื่อจัดกลุ่มผลแทรกซ้อนแล้วพบว่า ในผลแทรกซ้อนรุนแรงนั้นพบจากวัคซีนของไฟเซอร์มากกว่าของซิโนแวกเกือบสามเท่า แต่ว่าเราเห็นแบบนี้เราจะยังบอกไม่ได้ว่าของซิโนแวกปลอดภัยกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าชิลีฉีดซิโนแวกก่อน หรือไฟเซอร์ก่อน ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลเท่ากันหรือไม่ หากฉีดไฟเซอร์มาก่อนแล้วเริ่มซิโนแวกมาไม่นาน เราอาจแปลผลข้อมูลนี้ผิดไปก็ได้ (หน่วยนับเป็นต่อแสนคนที่ฉีด ไม่ได้นับเป็น คนปี ไม่ได้มีระยะเวลามาคำนวณด้วย ซึ่งจะไม่แม่นยำ)


19.       ภาพนี้แสดงการศึกษาเก็บข้อมูลเปรียบเทียบ (ไม่ใช่การทดลองทางคลินิก และไม่ใช่การเฝ้าสังเกตเก็บข้อมูลไปข้างหน้า) โดยคัดคนที่เป็นโรคและไม่เป็นโรค มาเทียบความสัมพันธ์ดูย้อนหลังว่าแต่ละกลุ่มมีการฉีดวัคซีนเท่าไร ไม่รับวัคซีนเท่าไร เราเรียกแบบนี้ว่า case-control study ที่มีลำดับความน่าเชื่อถือน้อยกว่าแบบที่กล่าวมา

1.       พบว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2020 จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงมากทั้งแบบมีอาการ (กราฟแท่งสีแดง) และแบบไม่มีอาการ (กราฟแท่งสีน้ำเงิน) แต่เมื่อเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกในช่วงต้นเดือนมกราคม 2021 ในเส้นสีเขียว จะพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และเมื่อผ่านไปที่เข็มสองพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อยิ่งลดลงไปอีก ตอนแรกอาจสับสนว่าไม่รู้ว่าเป็นเพราะเข็มสองกระตุ้น หรือเป็นผลอันทรงพลังจากเข็มแรก ก็ต้องบอกว่าจากผลการศึกษาในชิลี แสดงให้เราเห็นว่าการฉีดสองเข็มทรงพลังกว่าอย่างชัดเจน ดังนั้นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อในกราฟนี้ เกิดจากการรับวัคซีนครบสองเข็มอย่างแน่นอน

2.       และถ้าเรามาพิจารณาการลดลงของกราฟแท่ง เราจะพบว่าหลังรับวัคซีน กราฟแท่งสีแดงลดลงกว่าก่อนฉีดมากมาย คือ การติดเชื้อแบบมีอาการลดลง ส่วนกราฟแท่งสีน้ำเงินแม้จะลดลงเช่นกัน แต่ขนาดของการลดลงไม่ได้มากเท่ากราฟสีแดง คือการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ “ก็ลดลง” เช่นกัน แต่ไม่ยิ่งใหญ่เท่าการติดเชื้อแบบมีอาการ


20.       และจากกราฟที่ผ่านมา (งานวิจัยแบบ case-control ในบราซิล) นำมาคำนวณทางสถิติ พบว่าประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อมีอาการยังสูงกว่าชัดเจน แถมการติดเชื้อแบบไม่มีอาการยังลดลงแบบไม่มีนัยสำคัญทางสถิติอีกด้วย  แต่อย่าลืมว่า เป็นงานวิจัยที่มองย้อนหลัง ข้อมูลไม่หนักแน่นเท่าการวิจัยทดลองทางคลินิกและการเฝ้าสังเกตเก็บข้อมูลไปข้างหน้า อีกข้อที่สำคัญคือเป็นการรับวัคซีนเพียงเข็มเดียวเท่านั้น ในงานวิจัยนี้

1.       จากผลที่ผ่านมา รวมงานวิจัยนี้ด้วย ช่วยบอกได้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ วัคซีนซิโนแวกจะมีผลการปกป้องสูงสุดเมื่อรับครบสองเข็ม และป้องกันป่วย ป้องกันตายได้มากกว่าป้องกันการติดเชื้อโดยรวม

2.       ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ลดการติดเชื้อโดยรวมนะครับ มันทำได้ เป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจริงและมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่เป้าวัตถุประสงค์หลัก


21.       ในเรื่องของการป้องกันโรคโควิด-19 อันเกิดจากเชื้อกลายพันธุ์นั้น ในงานวิจัยวัคซีนของซิโนแวก ไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างมีหลักการ ไม่ได้เก็บข้อมูลแบบที่วางแผนวิเคราะห์ จึงไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าวัคซีนซิโนแวกมีประสิทธิภาพเหนือเชื้อกลายพันธุ์แบบต่าง ๆหรือไม่ และยิ่งการกลายพันธุ์ใหม่ที่เกิดหลังการวิจัย จะไม่สามารถประยุกต์ผลการวิจัยเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างเต็มที่ อาจมีผลจริงที่ไม่ตรงกับผลการทดลองแน่นอน

1.       การศึกษาที่จะบอกเรื่องการปกป้องไวรัสกลายพันธุ์ที่ดี ต้องกำหนดและระบุสายพันธุ์ที่ชัดเจนมาตั้งแต่แรกทำวิจัย ทำเพิ่มเติมทีหลังจะได้มาแค่ข้อมูลสนับสนุนรอง ไม่สามารถนำไปแปลผลหลักได้เลย

2.       สำหรับวัคซีนซิโนแวกนั้น การทดลองทางคลินิกที่บราซิล พบสายพันธุ์ P.1. ที่เป็นสายพันธุ์บราซิลประมาณ 75% เราทราบแค่นี้แล้วจบ ไม่สามารถไปแปลความต่อได้ว่า ซิโนแวกจะครอบคลุมสายพันธุ์นี้ได้ดีหรือไม่ดี เพราะการศึกษาที่ทำไม่ได้ตั้งเป้านี้เอาไว้เลย

3.       ส่วนการศึกษาเฝ้าสังเกตการฉีดวัคซีนชิลี พบว่ามีการศึกษามีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์บราซิล (P.1.) และมีสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) อยู่ในการศึกษาด้วย แต่ไม่ทราบสัดส่วนและไม่รู้ด้วยว่าวัคซีนจะส่งผลแบบใดต่อสายพันธุ์แต่ละตัว

4.       สรุป ต้องติดตามกันต่อไป มีข้อมูลใหม่ ๆ ออกมาตลอด


22.       สิ่งที่ยังต้องทำการศึกษาวิจัยและติดตามสำหรับวัคซีนซิโนแวก

1.       ระยะเวลาที่ปกป้อง ระดับภูมิคุ้มกัน ความจำเป็นการกระตุ้น

2.       สามารถครอบคลุมเชื้อกลายพันธุ์ได้เพียงใด

3.       ความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ (สังเกตว่าไม่มีเรื่องประสิทธิภาพ) แสดงว่าตอนนี้การใช้ในหญิงตั้งครรภ์ยังไม่มีข้อมูลเรื่องความปลอดภัยมากพอ

4.       ความปลอดภัยและประสิทธิภาพในกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ที่มีโรคร่วม อันนี้ขออธิบาย ถึงแม้มีข้อมูลจากการเฝ้าสังเกตผลในการใช้วัคซีนในชีวิตจริงแล้ว แต่ยังไม่มีการศึกษาทดลองทางคลินิกที่มุ่งดูผลเหล่านี้เลย งานที่มีออกมาก็มีกลุ่มประชากรเหล่านี้น้อยมาก และเป็นการใช้วัคซีนแบบ “ทางเลือก” เสียมากกว่า

5.       ติดตามเรื่องผลข้างเคียงแทรกซ้อนแบบรุนแรง ภายหลังการอนุมัติใช้วัคซีน เพราะที่ผ่านมาตัวเลขผู้ฉีดยังไม่มากและกระจุกในบางประเทศบางภูมิภาคเท่านั้น เรื่องนี้คงต้องติดตามหลังการใช้วัคซีนมากขึ้น


23.       สรุปสุดท้าย

1.       สีเขียว คือ มีหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่น :  ในกลุ่มอายุ 18-59 ปี การฉีดวัคซีนสองเข็มจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

2.       สีเหลืองคือ หลักฐานสนับสนุนมี พอควร :

1.       ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีและผู้ที่มีโรคประจำตัวอันจะทำให้เกิดอันตรายหากเป็นโรคโควิด-19

2.       ความปลอดภัยของวัคซีนในผู้ที่อายุ 18-59 ปี


 

1 ความคิดเห็น: