20 เมษายน 2564

ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก

หลังสงกรานต์ (ที่ขอความร่วมมือไม่สังสรรค์)นอกจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ เลือดออกทางเดินอาหารจากดื่มสุรา ชักเกร็งสับสนจากถอนเหล้า ก็อาจจะเจอเอ็กซเรย์ดังภาพ

เอ็กซเรย์ปอด พบฝ้าที่ปอดขวากลีบบนและส่วนบนของปอดขวากลีบล่าง ถ้ามีประวัติสำลัก หรือความเสี่ยงสำลัก ต้องคิดถึงปอดอักเสบติดเชื้อจากการสูดสำลัก (aspiration pneumonia)

ปกติคนเราจะมีการสูดสำลักปริมาณน้อย ๆ จากน้ำลาย กรดในกระเพาะ ลงปอดอยู่เสมอ (microaspiration)และร่างกายจะกำจัดเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งออกโดยเซลล์บุหลอดลม หรือใช้กระบวนการอักเสบ นำเซลล์มากำจัด mictoaspirate เหล่านี้  ถ้าร่างกายผิดปกติ ทำให้การสูดสำลักมากไปหรือกลไกป้องกันผิดปกติ ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เช่น กลืนไม่ค่อยได้จากมะเร็งหรืออัมพาต การรู้ตัวการควบคุมลำคอบกพร่อง เช่น หัวใจหยุดเต้น ชัก เมา 

หรือจากการสูดสำลักปริมาณมาก macroaspiration จนร่างกายปรับและกำจัดไม่ไหว เช่น เมาแล้วอาเจียนและสำลัก ก็ทำให้เกิดปอดอักเสบติดเชื้อได้เช่นกัน

ในระยะแรก ๆ เป็นแค่การระคายเคืองจากสารเคมี โปรตีน กรดไขมัน ที่ไปสร้างการอักเสบ (chemical pneumonitis), แต่หากมีการแปรปรวนของเชื้อประจำถิ่นในปอด (lung microbiota)หรือระคายเคืองมากจนเกราะป้องกันของปอดเสียหายไป จะเกิดการติดเชื้อเป็นปอดอักเสบติดเชื้อจากการสูดสำลัก

การวินิจฉัยคือ ปอดอักเสบเฉียบพลัน ร่วมกับมีพยานเห็นชัดเจนว่าสำลัก หรือมีหลักฐานว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติเรื่องการกลืนมาก่อน หรือการรับรู้สติไม่สมบูรณ์มาก่อน  ภาพรังสีปอดจะพบฝ้าในบริเวณดังที่ปรากฏ ตามทฤษฎีแล้วตำแหน่งของรอยโรคในปอดจะเป็นตามแรงโน้มถ่วงที่สารคัดหลั่งจะตกตามตำแหน่ง อย่างในท่านอนก็จะตกตามตำแหน่งในภาพ ส่วนท่านั่งอาจจะตกไปถึงปอดกลีบล่างได้เลย เรามักพบปอดด้านขวามากกว่าซ้ายเพราะท่อลมค่อนข้างดิ่งตรง ไม่มีโค้งหักศอก แต่ในทางปฏิบัติ สามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งครับ

อย่างที่กล่าวไปว่า การสูดสำลักอาจเกิดในปริมาณน้อย ๆ (microaspiration) ที่ไม่สามารถสังเกตได้ชัดเจนว่าสำลัก ต้องอาศัยปัจจัยเสี่ยงเช่น เป็นอัมพาต เคยฉายแสงลำคอมา มีปัญหาการกลืน มีการหมดสติ เมา ใส่ท่อให้อาหาร หรือแม้กระทั่งการสูดสำลักปริมาณมาก (macroaspiration) มีน้อยมากที่จะมีคนเห็นตอนสำลัก ดังนั้นประวัติเสี่ยงการสูดสำลักจึงสำคัญ 

แต่ก่อนเราคิดว่าเชื้อก่อโรคสำคัญคือเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนหายใจ (anaerobic bacteria) ที่พบในช่องปากเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อนามัยช่องปากไม่ดี แต่ข้อมูลในปัจจุบันเราพบว่าเชื้อก่อโรคส่วนมากคือแบคทีเรียชนิดที่เราพบเหมือนกับปอดอักเสบทั่วไปนั่นเอง แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนนั้นมีสัดส่วนความสำคัญในการก่อโรคน้อยกว่าที่คิด ประเด็นนี้ส่งผลถึงการรักษา เราจึงให้ยาครอบคลุมปอดอักเสบติดเชื้ออย่างที่เราแบ่งว่ามาจากชุมชนหรืออยู่ในโรงพยาบาลเป็นหลัก 

และถ้ามีหลักฐานจากการเพาะเชื้อ จากการตรวจเชื้อ หรือมีคนเห็นการสำลัก หรือต้องสงสัยจากความเสี่ยงสูดสำลัก ก็จะเพิ่มยาฆ่าเชื้อเพื่อครอบคลุมการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจน หรือเลือกใช้ยาที่ครอบคลุมปอดอักเสบทั่วไปด้วยและครอบคลุมเชื้อที่ไม่ใช้ออกซิเจนด้วย ซึ่งส่วนมากยารักษาปอดอักเสบทั่วไปจะครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียไม่ใช้ออกซิเจนในช่องปากได้ดีพอควร

เรื่องราวของ aspiration pneumonia, aspiration pneumonitis, chemical pneumonitis มีความซับซ้อนเกี่ยวพันมากมาย รวบรวมเป็นหนึ่งบทได้เลยครับ ใครสนใจไปหาอ่านตามแหล่งต่าง ๆ ได้ ที่ผมมาเน้นย้ำวันนี้เพราะอยากให้ตระหนักถึงปัญหานี้ในผู้ป่วยที่เมาเหล้าและมีปัญหาจากเหล้า ว่ายังมีปัญหานี้อีกหนึ่งอย่างครับ

"เมาเหล้ามักสูดสำลัก
เมารักมักมาทำเพจ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น