31 มีนาคม 2564

การนั่งไขว่ห้าง (cross leg) เท้าตก (foot drop)

 “เธอน่ะ อย่านั่งไขว่ห้างสิ” ลุงคนหนึ่ง เตือนนักข่าวสาวท่านหนึ่ง

การนั่งไขว่ห้าง (cross leg) ไม่น่าจะมีอันตรายเท่าไร ยกเว้นนั่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ๆ อาจเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท commom peroneal nerve ได้ แต่ชีวิตจริงคงไม่ค่อยมีใครจะนั่งท่านี้นานจนกดทับเส้นประสาทขนาดนั้น

คอมมอน เพอโรเนียล เนิ้ร์ฟ เป็นเส้นประสาทควบคุมการทำงานของขาท่อนล่างและเท้า หน้าที่หลักคือใช้เดิน กระดกข้อเท้า งัดเกียร์มอเตอร์ไซด์ เดาะบอล เส้นประสาทนี้แยกออกมาจากเส้นประสาทใหญ่ที่ควบคุมขาที่ชื่อว่า sciatic โดยจังหวะที่แยกตัวออกมา จะมีบางส่วนที่ขึ้นมาตื้นใกล้ผิวหนัง

คือเส้นประสาทควบคุมร่างกายส่วนมากจะอยู่ลึกในชั้นกล้ามเนื้อ เพื่อการปกป้องที่ดี ส่วนเส้นประสาทรับสัมผัสก็จะอยู่ตื้น ๆ ใกล้ผิวหนัง ตามหน้าที่การทำงาน ไม่เกี่ยวอะไรกับสำนวน เส้นตื้น เส้นลึก ใด ๆ

จังหวะที่คอมมอน เพอโรเนียล เนิ้ร์ฟ ใกล้ผิวหนังนี้ จะอยู่ตรงด้านนอกของหัวเข่า ตรงปุ่มกระดูกนูนออกมา นั่นคือส่วนต้นที่สุดของกระดูกฟิบูล่า (fibula) ถ้าเรานั่งไขว่ห้าง คุณลองทำตามนะครับ ท่อนขาที่อยู่ด้านบนมันจะสัมผัสท่อนขาด้านล่างตรงปุ่มกระดูกฟิบูล่านี่แหละ ถ้าหากเรานั่งท่านี้นาน ๆ แรงกดจะไปทำให้เส้นประสาทที่พาดผ่านตรงนี้เกิดการบาดเจ็บได้

เมื่อเกิดการบาดเจ็บ เส้นประสาทจะสูญเสียหน้าที่ไป และการบาดเจ็บนี้มักจะเป็นชั่วคราว หายเองได้ อาการที่อาจจะพบได้คือ เท้าตก (foot drop) คือกระดกเท้าไม่ได้ เดินแล้วเตะขั้นบันได ใส่รองเท้าแตะแล้วหลุด หรืออาจมีอาการชาที่หลังเท้า มีความรู้สึกแปลบ ๆ ที่หลังเท้าได้

เป็นหนึ่งในการวินิจฉัยแยกโรคอาการกระดกข้อเท้าไม่ขึ้น ที่มักออกสอบบ่อย ๆ ด้วยนะครับ

ผมคิดว่า "ลุง" เขาคงกลัวนักข่าวเกิดอาการ foot drop กระมังครับ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น