03 มีนาคม 2564

ใครที่ติดอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อรักษาโรคหัวใจ ผมมีคำแนะนำหากคุณต้องเข้ารับการผ่าตัด

 สำหรับใครที่ติดอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อรักษาโรคหัวใจ ผมมีคำแนะนำหากคุณต้องเข้ารับการผ่าตัด

ปัจจุบันเรามีอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิดที่ฝังไว้ในตัวเพื่อรักษาโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องช็อกหัวใจ เครื่องควบคุมจังหวะการบีบตัวหัวใจ อุปกรณ์เหล่านี้เป็นแม่เหล็กไฟฟ้า บอบบาง พังง่ายและราคาแพง โดยปรกติคุณหมอที่เขาใส่อุปกรณ์ให้จะมีการนัดติดตามการทำงานของเครื่อง ร่วมกับติดตามอาการของคุณ มีการตรวจสอบแบตเตอรี่ มีการตรวจสอบเฟิร์มแวร์ สิ่งที่ผมแนะนำคือ

1. ให้คุณขอสำเนาชื่อ รุ่น ยี่ห้อ ของอุปกรณ์นั้นเพื่อติดตัวไว้เสมอ หากต้องเข้ารับการผ่าตัดจะได้ดูแลถูกต้อง หรือจะขอเบอร์ศูนย์บริการหลังการขายไว้เลยยิ่งดี

2. เตรียมการล่วงหน้ากับคุณหมอ ว่าหากต้องผ่าตัด จะต้องทำอย่างไร ถ้าผ่าตัดในรพ. ที่คุณหมอที่ใส่อุปกรณ์อยู่ด้วยก็สะดวก แต่ถ้าค้องไปผ่าที่อื่นจะทำอย่างไร ให้หมอเขียนบันทึกข้อความให้เลยครับ (ถ้าลายมือหมออ่านไม่ออกให้มาคัดลอกอีกรอบ)

3. อุปกรณ์แต่ละรุ่น มีการปรับแต่งที่ไม่เหมือนกัน หากคุณหมอผ่าตัดไม่ทราบรายละเอียด อาจจะต้องไปปรับโปรแกรมใหม่ครับ

และหากคุณต้องเข้ารับการผ่าตัด ให้คุณแจ้งข้อมูลเหล่านี้กับคุณหมอผ่าตัดและคุณหมอดมยา (ที่มักจะหน้าตาดี) เสมอ ก่อนจะเข้ารับการผ่าตัด เพื่อวางแผนการรักษาได้แม่นยำ หรือปรึกษาอายุรแพทย์มาร่วมดูแล

 ปัญหาเรื่องเครื่องจี้ไฟฟ้า เพื่อหยุดเลือด หากมีการผ่าตัดในพื้นที่ใกล้จุดฝังอุปกรณ์ แนะนำเครื่องจี้ชนิด bipolar

 ปัญหาการติดสายดินที่ตัวคนไข้ แนวไฟฟ้าไม่ควรพาดผ่านตำแหน่งเครื่อง

 ปัญหาหากต้องทำการกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า แนะนำติดแผ่นนำไฟฟ้าหรือวาง paddle ในแนวตรงหน้าหลัง มากกว่าแบบใต้ไหปลาร้าขวาและหัวนมซ้าย

หากเกิดปัญหาในห้องผ่าตัด คุณหมออาจมีวิธีปรับโปรแกรมโดยใช้เครื่องปรับโปรแกรม อันนร้จะเกิดเมื่อมีการเตรียมตัวมาดี หากไม่มีเครื่องหรือฉุกเฉิน คุณหมอเขาจะใช้แม่เหล็กที่ออกแบบมาปรับเครื่องโดยเฉพาะ เป็นแม่เหล็กกลมแบนรูปโดนัท ขนาดเท่าฝ่ามือ วางบนเครื่องที่ผนังทรวงอก เพื่อปรับการทำงานให้เข้าสู่ magnet mode (และต้องไปตั้งเครื่องตั้งโปรแกรมอีกที) เช่นบางเครื่องกระตุ้นหัวใจยี่ห้อ เมื่อวาง magnet ลงไปจะปรับการทำงานเป็นระบบควบคุม ด้วยอัตราเร็วที่เครื่องถูกกำหนดมา ไม่สนใจว่าหัวใจผู้ป่วยจะเต้นเองหรือไม่ ไม่สนใจว่าสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผู้ป่วยจะซ้ำกับที่กระตุ้นไหม

สำคัญที่สุดคือ หากผู้ป่วยรายนั้นหัวใจเต้นเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องตลอด ต้องระวังผลจากการผ่าตัด การจี้ไฟฟ้าที่อาจทำให้เครื่องผิดพลาด ต้องปรึกษาอายุรแพทย์มาร่วมดูแลและต้องใช้ magnet ปรับเป็นโหมดควบคุมเสมอ

ส่วนการผ่าตัดฉุกเฉิน คงไม่มีเวลามาปรับตั้งโปรแกรม คุณหมอจะพยายามใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็นและวาง magnet หากเกิดปัญหาครับ

ที่มาจากบทความของ อ.อาจบดินทร์ วินิจกุล ใน หนังสือเรื่องการประเมินผู้ป่วยก่อนผ่าตัด เล่ม 1 ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ใจพังพังยังมีเครื่องช่วยบรรเทา
ใจเหงาเหงา ..แวะมาห้องเราได้นะเธอ

อาจเป็นภาพวาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น