27 มกราคม 2564

รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force) ตอนที่ 1/4

 รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force)

ตอนที่ 1/4

หน่วยงานนี้ของสหรัฐอเมริกาจะรวบรวมหลักฐานทางการแพทย์เพื่อตอบคำถามทางสาธารณสุขที่จะต้องออกมาแนะนำเป็นแนวทางกับหน่วยงานอื่น ๆ และประชาชนทั่วไป ได้ออกคำแนะนำมาหลายครั้ง และครั้งนี้ได้รวบรวมหลักฐานใหม่ ๆ มาเพื่อตอบคำถามสามคำถาม เกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ และได้ตีพิมพ์ออกมาในวารสาร JAMA ผมคิดว่ามีข้อคิดที่นำมาปรับใช้ได้กับบ้านเมืองเราเช่นกัน คำถามสามข้อนั้นคือ

1. กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ มีผลต่อสุขภาพหรือไม่ ทั้งอัตราการตาย อัตราการเจ็บป่วยพิการ (ในประชากรสองกลุ่มคือ คนทั่วไปที่สูบบุหรี่และหญิงตั้งครรภ์)

2. กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ มีผลต่อการหยุดสูบบุหรี่หรือไม่ ในประชากรทั้งสองกลุ่ม คือ คนทั่วไปที่สูบบุหรี่และหญิงตั้งครรภ์

3. กระบวนที่ใช้เลิกบุหรี่ต่าง ๆ นั้นเกิดผลเสียอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

เรามาอ่านกันไปทีละข้อ แล้วเราจะเข้าใจเรื่องคำแนะนำจากหลักฐาน และระดับคำแนะนำ (evidence-based medicine) เรามาเริ่มที่ข้อแรกก่อน ว่ากระบวนการเพื่อการเลิกบุหรี่ มีผลต่อสุขภาพหรือไม่

การเลิกบุหรี่ที่เราพูดถึงในปัจจุบันมีสองแบบคือ เลิกเองหรือที่เรียกว่า หักดิบ ไม่ใช้เครื่องมือใดหรือไม่ได้ใช้ระบบบริการทางการแพทย์เลย ส่วนอีกแบบคือ กระบวนการเลิกบุหรี่ มีทั้งใช้คำแนะนำ พฤติกรรมบำบัด ใช้สื่อออนไลน์ ติดตามด้วยระบบคลินิกเลิกบุหรี่ การใช้ยาอดบุหรี่ การใช้สารทดแทนนิโคติน ไปกระทั่งการใช้ electronic nicotine delivery devices (ENDs) เช่นบุหรี่ไฟฟ้า (ต่อไปผมจะเรียกว่า เวป vape เพื่อไม่ให้สับสนกับบุหรี่เผาไหม้แบบเดิม)

🚩ข้อมูลที่ออกมาคือ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว การใช้กระบวนการเพื่อเลิกบุหรี่ สามารถลดผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมได้จริง แต่ว่า ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ อ้าวทำไมเป็นแบบนั้น ทำไมขัดกับที่เรารู้มา มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ

เนื่องจากเป้าหมายที่ข้อนี้สนใจคือ อัตราการเสียชีวิต อัตราความพิการและสูญเสียจากโรค การเกิดโรคหลอดเลือดต่าง ๆ จึงต้องใช้การศึกษาที่มีเป้าประสงค์การศึกษา (primary outcome) เพื่อวัดผลด้านสุขภาพโดยตรง จะมาวัดทางอ้อมหรือเป็นเป้าหมายรองของการศึกษาไม่ได้ จากการรวบรวมก็พบว่ามีการศึกษาที่มีเป้าประสงค์หลักเรื่องผลสุขภาพโดยรวม มีน้อยมาก และที่เป็นการศึกษาแบบทดลองคือ controlled trials น้อยมาก เพราะการติดตามผลสุขภาพโดยรวมแบบนี้นั้นใช้เวลานาน จึงมีการศึกษาที่ทำเรื่องนี้ไม่มาก ส่วนมากเป็นการรวบรวมติดตามข้อมูลระยะยาวของหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีไม่มาก

นอกเหนือจากปริมาณการศึกษาที่มีเป้าประสงค์โดยตรงแบบนั้นมีไม่มาก ก็ต้องเข้าใจในข้อจำกัดของการศึกษาแบบเฝ้าติดตาม หรือรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง ว่าจะมีความโน้มเอียงและความแปรปรวนมากมาย ยิ่งเก็บข้อมูลหลายมิติยิ่งที่ตัวกวนเยอะ มีปัจจัยอื่นที่อาจไม่ได้แก้ไขซึ่งไปส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมด้วย และหากใช้วิธีการทางสถิติเพื่อพยายามปรับข้อมูลให้ตรงกันเพียงพอที่จะมาเปรียบเทียบกันได้ กระบวนการแบบนี้ยิ่งทำหลายครั้ง ยิ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผลการศึกษาที่ผ่านกระบวนการหลายครั้งนั้น

ที่กล่าวว่าต้องใช้เวลายาวนาน เพราะการติดตามจนเกิดอัตราการตาย หรือเกิดโรคนั้น จะนับเริ่มจากเก็บข้อมูล ในช่วงที่เก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ ก็จะมีเรื่องอายุที่มากขึ้น โรคอื่นที่มาเกิด วิธีการรักษาโรค มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้การแปลผลโดยตรงระหว่างกระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ กับ ผลสุขภาพโดยรวม ทำได้ยากมากขึ้น

🚩และการแปลผลว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับการเลิกบุหรี่แบบไม่ต้องใช้ตัวช่วย (หักดิบ) ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีผล หรือ ไม่เกิดประโยชน์ มันเกิดประโยชน์นะครับ แต่ด้วยกระบวนการทางสถิติที่จำกัดด้วยหลักฐานที่หนักแน่น ด้วยหลักฐานที่ดีที่สุดที่มีและหาได้ (มีหลักฐานระดับ A เช่นการทดลองแบบควบคุมทางการแพทย์อยู่น้อย)​ ออกมาว่า ลดผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ นั่นคือยังเกิดประโยชน์นะครับ ไม่ว่าจะเลิกโดยวิธีใดก็ตาม

อีกประการจากการศึกษาคือ รวบรวมข้อมูลจากผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว คือ มีความเสี่ยงและอันตรายจากการสูบบุหรี่ไปแล้ว จะมากหรือน้อยก็ตาม เมื่อติดตามไปจะเกิดผลเสียแน่นอน แม้จะเลิกบุหรี่ด้วยวิธีใด ผลเสียก็ยังเกิดขึ้น ถึงการศึกษาจะไม่ได้เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยแบบโดยตรง ก็พอบอกได้ว่า อย่าเริ่มสูบจะดีกว่า เพราะถ้าเริ่มสูบแล้วมันเกิดผลเสียอย่างแน่นอน

หากสนใจกรุณาติดตามตอนที่ 2/4 ต่อไป

ต้นเรื่อง คือ วารสารนี้ แต่ผมเติมด้วยการค้นเพิ่มจากบรรณานุกรมที่ระบุในวารสารนี้และจากอ้างอิงอีกต่อหนึ่ง
Patnode CD, Henderson JT, Coppola EL, Melnikow J, Durbin S, Thomas RG. Interventions for Tobacco Cessation in Adults, Including Pregnant Persons: Updated Evidence Report and Systematic Review for the US Preventive Services Task Force. JAMA. 2021;325(3):280–298. doi:10.1001/jama.2020.23541

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "USPSTF 2021 REPORTS SMOKING CESSATION เข้าใจที่มาของคำ แนะนำ และวิเคราะห์ว่า ทำไม กระบวนการ เลิกบุหรี่จึงลดผล เสียต่อสุขภาพ แต่ไม่มีนัยสำคัญ ทางสถิติ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น