Avicenna's Canon of medicine
หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน โลกเข้าสู่ยุคกลาง ณ เวลานี้ศูนย์กลางความรู้และวัฒนธรรมของโลกย้ายจากยุโรปใต้ ไปสู่ดินแดนเปอร์เซีย
นักประวัติศาสตร์นับเอาเวลาตั้งแต่การล่มสลายของอาณาจักรโรมันจนถึงการค้นพบทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสว่ายุคกลาง เนื่องจากระยะเวลามันยาวนานมาก ประมาณ 900 ปี จึงแบ่งระยะเวลาออกเป็นช่วงต้น ช่วงกลางและช่วงปลาย เรามาว่ากันถึงช่วงต้นของยุคกลาง ที่หลาย ๆ คนชอบเรียกว่ายุคมืด
ความจริงแล้วนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่เริ่มไม่ใช้คำว่ายุคมืดแล้ว เพราะมันเป็นการเปรียบเทียบความดีหรือไม่ดีซึ่งมันไม่มีถูกผิด แต่มันน่าจะสื่อความหมายถึงเมื่ออาณาจักรโรมันล่มสลาย องค์ความรู้จากกรีกและโรมันที่พัฒนาสูงสุดเป็นแกนกลางโลกล่มลง ก็เกิดกลุ่มคนที่จะแย่งชิงความเป็นผู้นำทางอำนาจและความคิด ความเชื่อต่าง ๆ จึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือ หลายความเชื่อก็ไม่ได้ถูกต้อง จึงน่าจะเป็นยุคแห่งความสับสน ความไม่รู้แจ้ง มากกว่ายุคมืดที่มีความหมายด้านลบ จากคนที่มองย้อนกลับไป เหมือนกับความรู้ทางการแพทย์
ก่อนที่กรีกและโรมันจะล่มสลายนั้น วิชาแพทย์ของฮิปโปเครตีส และกาเลน ได้แพร่หลายออกไปถึงดินแดนตะวันออก ไปถึงไบแซนไทน์ ไปถึงเปอร์เซีย แต่ที่นั่น ในยุคนั้นก็ถือเป็นแหล่งความรู้เช่นกัน เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ของดินแดนเปอร์เซียก็เจริญรุ่งเรืองมาก ยังไม่นับความรู้จากจีนที่หลั่งไหลมาจากการค้าขายตามเส้นทางสายไหมอีกด้วย เรียกว่า ในขณะที่วิชาการทางฝั่งตะวันตกเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ทางฝั่งตะวันออกก็มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดและพร้อมจะพลิกกลับมาเป็นผู้นำของโลกแทนโรมัน จนเมื่อเข้าสู่ยุคกลาง อาณาจักรเปอร์เซีย ได้ก้าวมาเป็นผู้นำทางการแพทย์อย่างเต็มตัว
คุณหมอและผู้เขียนตำราจากฝั่งเปอร์เซียในยุคแรก ๆ คือ Al-Razi หรือที่รู้จักในโลกตะวันตกในชื่อ Rhazes ได้เขียนตำรา Comprehensive Book of Medicine (Kitab al-hawi fi al-tibb) โดยใช้ประสบการณ์การสังเกตโรคต่าง ๆ ของตัวเองและของหมอท่านอื่น ๆ รวบรวมกัน ผลงานสร้างชื่อของคุณหมอ Rhazes คือบทความเรื่องการแยกโรคหัดและฝีดาษออกจากกันด้วยลักษณะทางคลินิก เรียกว่าคุณหมอเป็นผู้บุกเบิกการแพทย์ฝั่งเปอร์เซียและอาหรับ
เมื่อมาถึงยุคสุดยอดคือยุคของ Ibn Senna หรือที่รู้จักในโลกตะวันตกว่า Avicenna คุณเชนนา เขาเป็นคนที่มีฐานะค่อนข้างดี มีโอกาสในการศึกษาในระดับสูง ได้ร่ำเรียนทั้งวิชาวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์จากฝั่งโรมัน วิชาการจากฝั่งอาหรับและเปอร์เซีย แถมเป็นเด็กอัจฉริยะอีกด้วย เรียนได้ดี เข้าใจเร็ว ขยัน รักการเรียนจนมีความรู้ความแตกฉานด้านวิทยาศาสตร์ มีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ครบถ้วน ทั้งการสังเกต การตั้งคำถาม การค้นคว้าทดลอง การบันทึก การรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปผล และนำผลที่ได้จาก "งานวิจัย" มาเขียนเป็นตำรา เรียกว่าสมบูรณ์แบบเลย และวิชาการที่เชนนาสนใจ เชี่ยวชาญที่สุดคือ วิชาแพทย์
เชนนาได้แต่งตำราแพทย์อันมีพื้นฐานมาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีเรื่องการศึกษาทดลอง เพื่อให้ทราบผลเชิงประจักษ์แล้วเขียนมาเป็นแนวทางการรักษา ทำนองเดียวกับ clinical trials, observational cohort ในปัจจุบัน และเขียนมาเป็นตำราอีกด้วย เป็น evidenced-based medicine โดยแท้จริง
หนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ใช้มานานเป็นร้อย ๆ ปีคือ Canon of Medicine หรือในชื่อเปอร์เซียต้นฉบับว่า Al-Qanun fi't-Tibb ได้รับการแปลออกมาหลายภาษาในยุคนั้น หนังสือชุดนี้เขียนออกมา 5 เล่ม รวบรวมความรู้ทั้ง โรค อาการ อาการแสดง การรักษา การผ่าตัด ยา ชนิดของยา การใช้ยา ผลข้างเคียง การดูแลกายภาพบำบัด เรียกว่าครบถ้วนสมบูรณ์ตามความรู้ในยุคนั้น แถมมีวิสัยทัศน์ยาวนานเป็นร้อยปี แม้แต่ตัวพ่อของวงการแพทย์ โดยเฉพาะอายุรศาสตร์คือ เซอร์วิลเลี่ยม ออสเลอร์ ได้ยกย่อง Canon of Medicine ว่าเป็นสุดยอดตำราที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายและยาวนานที่สุดในประวัติของการแพทย์ ยิ่งใหญ่ว่าตำราของท่านเองเสียอีกคือ Principles and Practice of Medicine
เคยมีการถกเถียงกันว่า ระหว่างโคตรตำราทางการแพทย์สองเล่มนี้อันไหนยิ่งใหญ่กว่ากัน ผลออกมาเอนไปทาง Canon of Medicine เพราะได้รวบรวมความรู้จากทั่วทุกสารทิศในทางการแพทย์กลั่นมาเป็นตำรา แถมยังได้รับความนิยมมากในฝั่งยุโรป ทั้ง ๆ ที่มีสงครามครูเสด มีการกีดกั้นจากทางผู้มีอำนาจในยุโรปยุคนั้น แต่ตำราทางฝั่งเปอร์เซีย Canon of Medicine ก็ยังเป็นเบสต์เซลเลอร์ในยุคนั้น จนมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิชาการเลยทีเดียว โดยมีทั้งแปลมาใช้และอ้างอิงในงานวิชาการ ตำรายุคใหม่ของแพทย์ยุคกลางและสมัยเริ่มของยุคเรอเนสซองค์
สิ่งที่เขียนใน Canon of Medicine เช่น
การผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งแบบ radical dissection ว่าดีอย่างไร ผ่าแบบใด (ผมขอใช้ศัพท์ยุคปัจจุบัน)...การรักษาและการตรวจลักษณะของวัณโรค..การแยกและกักกันผู้ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ.. ภาวะ mediastinitis และภาวะ pluritis จะแยกจากกันอย่างไร (แพทย์แผนปัจจุบันตอนนี้ยังแยกยากเลย)..การแยกผลแทรกซ้อนอันคาดเดาได้ของยา และผลไม่พึงประสงค์อันคาดเดาไม่ได้ (คือแพ้ยานั่นเอง)
แต่ที่ผิดก็มีนะครับ เช่น ในตำราระบุว่าหัวใจมี ventricle คือส่วนที่ปั๊มบีบเลือด มีอยู่ 3 ห้องทั้งที่จริงมี 2 ห้อง แต่นั่นคืออิงจากสิ่งที่คนยุคปีคศ.1000 รู้
เดิมทีนั้นแปลออกมาเพียงเล่มเดียว ก็ยังโด่งดังและใช้เป็นตำราที่แพร่หลาย ต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาหลักในยุโรป (สมัยนั้นไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ) ไม่ว่าจะเป็นละติน ฮิบรู ฝรั่งเศส ดัตช์ และแปลอีกสี่เล่มที่เหลือออกมาอีกด้วย ตำราได้รับความนิยมจนมาถึงยุคของการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ก็เสื่อมถอยลงตามยุคครับ ระยะเวลาอ้างอิงเกือบ 800 ปีนับว่ายาวนานมากกับ impact factor ระดับโลกแบบนี้ (ยุคนั้นความรู้ไม่ได้หาง่ายแบบนี้นะครับ กว่าจะได้อ่านเรียกว่าลำบากมาก)
ยุคปัจจุบันความรู้ก้าวกระโดดมาก เราทราบรหัสพันธุกรรมของ SARS-CoV2 ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ผลิตวัคซีนได้ในเวลาไม่ถึงปี ต่างจากองค์ความรู้เดิมที่ต้องใช้เวลาสั่งสมเป็นร้อยปี แถมยังมีข้อผิดพลาดข้อบกพร่อง แต่รู้อะไรไหมครับ
การเรียนรู้เรื่องราวในอดีต ทำให้เขาเข้าใจปัจจุบัน และมองภาพอนาคตได้แจ่มชัด เชื่อมโยงทุกสิ่งให้เป็นองค์ประกอบเดียวกันได้อย่างดีครับ
รับเช้าวันทำงานวันแรก ขอให้สดใส พ้นภัยโควิด ชีวิตร่ำรวย ซื้อหวยขอให้เฉียด อยากเบียดขอให้อด อยากบดขอให้แห้ว ลุกขึ้นยิ้มแล้วสู้ในทุกลมหายใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น