03 พฤศจิกายน 2563

COPD 2020 : ทบทวนสิ่งที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับถุงลมโป่งพอง

 COPD 2020 : ทบทวนสิ่งที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับถุงลมโป่งพอง จากการบรรยายของ อ.อภิชาต คณิตทรัพย์ (งานบรรยายได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Boehringer-Ingelheim)

1. ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากของการเกิดโรคคือ แก๊สและอนุภาคระคายเคืองหลอดลม ที่พบประจำคือ บุหรี่ ควันบุหรี่มือสอง ฝุ่นและควันจากการจราจรและอุตสาหกรรม การเผาไหม้ในครัวเรือน ยังมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เสมอ ทั้งก่อนเกิดโรคและเป็นโรคแล้วก็ตาม

2. การวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง ต้องอาศัยประวัติปัจจัยเสี่ยง ประวัติอาการและการตรวจร่างกายที่เข้าได้ **และยืนยันด้วยการตรวจวัดสมรรถภาพปอด ก่อนและหลังสูดยาขยายหลอดลม เสมอ** หากไม่ได้ตรวจวัดสมรรถภาพปอด จะอยู่ในข่ายอาจจะเป็นเท่านั้น แต่เนื่องจากการวัดสมรรถภาพปอดไม่สามารถทำได้แพร่หลายในไทย หลาย ๆ ที่จึงจำเป็นต้องใช้แค่ประวัติ การตรวจร่างกายและการติดตามการดำเนินโรค

3. เพราะการจำแนกความรุนแรงออกเป็นกลุ่ม และการให้การรักษาของแต่ละกลุ่มที่ต่างกัน จึงต้องวัดสมรรถภาพปอดด้วยเสมอ และการรักษาโรคนี้หวังผลสำคัญสองอย่างคือ ควบคุมอาการในปัจจุบัน และลดโอกาสที่โรคกำเริบรุนแรงในอนาคต (โรคนี้จะดำเนินไปข้างหน้าช้า ๆ ยกเว้นไม่รักษาก็จะเร็วจนคุณภาพชีวิตแย่ลง)

4. การรักษาโดยไม่ใช้ยา **ต้องทำเสมอและตลอดไป** คือการเลิกบุหรี่ หลีกควันฝุ่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนหรือผอมไป รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบตามกำหนด

5. การรักษาด้วยยาสูดขยายหลอดลมคือการรักษาหลักของโรคถุงลมโป่งพอง แตกต่างจากโรคหืดที่ใช้ยาสูดสเตียรอยด์เป็นยาหลัก และควรเป็นยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว สำหรับการใช้ยาสูดสเตียรอยด์จะเพิ่มโอกาสการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อในผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง เราจึงใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้อันจำเป็นและพยายามลดลงและเอาออกเมื่อหมดความจำเป็น

6. ยาสูดขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์ยาวมีสองชนิดคือ LAMA (long acting muscarinic antagonist และยา LABA (long acting beta2 agonist) โดยเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน หากควบคุมอาการได้ไม่ดีจึงใช้ยาสูดแบบสองชนิด (แนะนำสองชนิดในหลอดเดียวมากกว่าแยกหลอด)

7. ข้อบ่งใช้ยาสูดสเตียรอยด์ลดลง อาจจะใช้ในรายที่กำเริบบ่อย ควบคุมโรคไม่ดี หรือเจาะเลือดตรวจเม็ดเลือดอีโอสิโนฟิลในเลือดสูง เดี๋ยวจะงงว่าหมอตรวจเลือดเพื่อพิจารณาการให้ยาทำไม และไม่มีการใช้ยาสูดสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียวในการรักษาถุงลมโป่งพอง

8. จากการศึกษาหลายชนิดพบว่า LAMA ลดการกำเริบ ควบคุมอาการ และคุณภาพชีวิต (CID) ดีกว่า LABA เล็กน้อย แนวทางใน GOLD แนะนำ LAMA เหนือ LABA แต่ว่าสามารถใช้อะไรก็ได้แล้วแต่ที่มีและใช้ได้ถูกต้อง ... เรื่องเทคนิควิธีการสูดก็สำคัญ ให้เลือกยาที่ผู้ป่วยสามารถสูดได้ถูกต้องด้วย เอาที่สะดวกที่สุด ยาดีแค่ไหนก็ไร้ค่า ถ้าเข้าไม่ถึงตัวคนไข้ (บริษัทผู้สนับสนุนการบรรยาย มียา LAMA จำหน่าย)

9. ปัจจุบันยาขยายหลอดลม LAMA เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว คือ tiotopium ชนิด handihaler แต่ว่าข้อมูลส่วนมากจากการรักษาเป็น tiotopium ชนิด soft mist inhaler ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนยาตัวอื่นและยาสูดผสม LABA/LAMA มีจำหน่ายในไทยเรียบร้อย แต่ไม่ได้บรรจุในบัญชียาหลักครับ

10. ต้องรักษา ติดตามโรค ประเมินโรค ปรับการรักษา อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จะลดอัตราการเสียชีวิต อัตราความพิการ และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตได้จริงครับ อย่าคิดว่ารักษาเมื่อมีอาการ หายแล้วหยุดได้ ถ้าคิดแบบนี้จะทำให้โรคลุกลามและแย่มากหากกำเริบครับ

ในภาพอาจจะมี เมฆ, ท้องฟ้า, ภูเขา และธรรมชาติ, ข้อความพูดว่า "RCPT 2020 จาก งานประชุม ราชวิทยาลัย อายุรแพทย์ สู่ประชาชน ปี 2563 สรุปสั้น ๆ ในเรื่องที่ประชาชนน่ารู้ จากการ บรรยายทางการแพทย์ ให้อ่านง่ายและ เข้าใจการรักษามากขึ้น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น