23 ตุลาคม 2563

การวัดความแข็งของเนื้อตับ (transient elastography : FibroScan)

 มารู้จักการวัดความแข็งของเนื้อตับ (transient elastography : FibroScan)

การตรวจประเมินระยะและการพยากรณ์โรคของเนื้อตับ เพื่อวัดความแข็ง (stiffness) ของเนื้อตับนั้น มาตรฐานสูงสุดคือ การเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับแล้วนำไปตรวจ แต่ว่าการเจาะตรวจชิ้นเนื้อนี้มีการรุกล้ำ ทำให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งผู้ที่สามารุเจาะตรวจและแปลผลได้ มีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศ อีกหนึ่งวิธีที่เป็นตัวเลือกคือ การตรวจ fibroscan

ใช้หลักการความเร็วของคลื่นเสียงความถี่ 50 เมกะเฮิร์ตส์ส่งเข้าไปและตรวจหา shear wave velocity แล้วมาแปลผลเป็นค่าแรงดันต่อพื้นผิว ในหน่วย กิโลปาสคาล (kPa) เจ้าค่านี้สามารถเทียบประเมินความแข็งเนื้อตับในโรคตับเรื้อรังและตับแข็งได้ครับ

การตรวจก็ไม่ยุ่งยาก นอนตรวจและใช้อุปกรณ์คล้าย ๆ หัวตรวจอัลตร้าซาวด์ตรวจบริเวณชายโครงขวา (ไม่ใช่เครื่องอัลตร้าซาวดนืทั่วไปนะครับ) เพื่อเก็บอ่านข้อมูลของตับในส่วนต่าง ๆ แล้วอ่านค่าโดยรวมออกมาเป็นตัวเลข kPa นี่อาจจะเป็นจุดที่เหนือกว่าการเจาะตรวจเนื้อตับเพราะได้เห็นภาพรวมมากกว่าการเจาะตรวจที่เจาะจงเฉพาะจุด หากเจาะผิดจุดก็อาจอ่านค่าผิดพลาดได้

ข้อควรระวังที่อาจมีการแปลผลพลาด เกิดจากฉนวนคลื่นเสียงที่มากเกิน คือ อ้วนมาก มีน้ำในช่องท้อง สภาพของตับที่ยังบวมและอักเสบมาก หรือมีการคั่งของน้ำดี

**เราไม่ใช่เพื่อตรวจสุขภาพเนื้อตับนะครับ ไม่ทำในคนที่ไม่มีข้อบ่งชี้**

แต่จะใช้เพื่อประเมินความแข็งของเนื้อตับในโรคตับเรื้อรังเช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี และการแปลผลด้วย elastography นี้จะต้องใช้ร่วมกับการตรวจอื่น ๆ โดยเฉพาะการตรวจร่างกายและตรวจเลือด ไม่สามารถใช้ค่า transient elastography ที่เป็นค่าเดียวมาวินิจฉัยหรือพยากรณ์โรคตับได้

** เช่นกัน ไม่สามารถใช้การอัลตร้าซาวนด์ตับ เพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยโรคใด ๆ ได้**

ตัวเลขจากการรวบรวมข้อมูลและศึกษา พบว่าในผู้ที่ไม่มีโรคตับเรื้อรังใด ๆ นั้น เมื่อนำมาคำนวณทางสถิติแล้ว ค่าเปอร์เซนไทล์ที่ 95 คือ 7.0 kPa หรืออาจจะพูดเป็นภาษาง่าย ๆ ว่ากว่า 95% ของคนปรกตินั้นมีค่า transient elastography น้อยกว่า 7.0 kPa ในทางการแพทย์จะใช้ว่าหากมีโรคตับเรื้อรังแล้วไปวัด transient elastography แล้วค่าต่ำกว่า 7.0 คือยังไม่น่ามีภาวะตับแข็ง

และจากการศึกษาที่ไปเทียบกับการตรวจชิ้นเนื้อตรวจพบว่า ผลชิ้นเนื้อตับแข็งจะสัมพันธ์กับค่าที่มากกว่า 14.0 kPa คือผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังและสงสัยภาวะตับแข็ง แล้วไปวัดค่า elastography แล้วได้ค่าที่เกิน 14.0 น่าจะสนับสนุนการวินิจฉัยตับแข็งได้ **อย่าลืม ต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกายและผลเลือดร่วมด้วยเสมอ**

อีกหนึ่งวิทยาการที่ก้าวหน้า เพื่อลดอันตรายและการตรวจที่รุกล้ำ แต่ได้ข้อมูลที่เทียบเคียงกับการเจาะตรวจชิ้นเนื้อครับ

ในภาพอาจจะมี อาหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น