29 ตุลาคม 2563

แนวทางในการวินิจฉัยและรักษาโรคอ้วน พ.ศ. 2562

 เรื่องน่ารู้จาก แนวทางในการวินิจฉัยและรักษาโรคอ้วน พ.ศ. 2562 จากชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทย โดย อ.ชัยชาญ ดีโรจน์วงศ์  วันที่ 29 ตุลาคม 2563


1. โรคอ้วน ความสำคัญคือปริมาณไขมันในตัวเพิ่มจนเกิดปัญหา ปริมาณไขมันนะครับ แต่ว่าวัดยาก ทางปฏิบัติจะใช้ค่าดัชนีมวลกายที่มากกว่า 25 ถือว่าอ้วน และมีการวัดรอบเอว (waist circumference) ค่าที่มากกว่า 90 เซนติเมตรสำหรับชาย หรือมากกว่า 80 เซนติเมตรสำหรับหญิง โดยการวัดจะวัดที่กึ่งกลางของขอบล่างซี่โครงซี่สุดท้ายกับขอบบนของกระดูกสะโพก  ยิ่งน้ำหนักตัวมาก จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคเบาหวาน ความดัน ไตเสื่อม หัวใจ โรคข้อและกระดูก และเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งด้วย 🔴🔴 ดังนั้นอย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วนนะครับ🔴🔴


2. การลดน้ำหนัก 🔴🔴จะต้องทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ🔴🔴 ไม่สามารถใช้วิธีใดวิธีหนึ่งวิธีเดียว ดังนั้นการปรับความคิด ปรับทัศนคติจึงสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง ให้พร้อมและตระหนักอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นก็ทำเพียงชั่วคราวแล้วเลิก น้ำหนักก็ขึ้นมาอีก เสียเวลาและเสียทรัพยากรที่ลงแรงไป 


3. ต่อจากข้อสองนะ ด้วยความที่ต้องทำไปตลอด ดังนั้น แต่ละคนจะต้องหาจุดที่เหมาะสมกับตัวเองที่สามารถทำได้จริงในระยะยาว ตัวเองเข้าใจ ครอบครัวเข้าใจ ติดตามตั้งเป้ากับหมอที่รักษา  คิดด้วยว่าวิธีที่เราใช้นั้นมันสามารถทำได้จริง เช่น อาหารลดน้ำหนักสูตรต่าง ๆ ที่เราฟังคนนั้นคนนี้มา แล้วเอามาใช้ แต่มันอาจจะแพง ทำอาหารยาก ไม่สะดวกกับการใช้ชีวิต แบบนี้จะทำได้ไม่นานและล้มเหลว 🔴🔴เลือกที่เหมาะกับตัวเอง🔴🔴


4. หลักสำคัญของการลดความอ้วนคือ "ลดพลังงานที่นำเข้า โดยสารอาหารและโภชนาการเพียงพอ" คิดพลังงานเป็นหลักเลยนะครับ คร่าว ๆ คือ เราต้องการพลังงานต่อวันเท่าไร (ใช้และเก็บ) แล้วลดจากนั้นไป 500 กิโลแคลอรี่ในแต่ละขั้น จะทำให้ไม่ลำบากจนล้มเหลว จะได้ไม่เด้ง ไม่โยโย่  เมื่อได้เป้าแต่ละขั้นจึงมาพิจารณาปรับเป้าหมายใหม่ต่อไป 🔴🔴ค่อย ๆ ไปทีละขั้น🔴🔴


5. อาหารสูตรใด แบบใด ไม่ว่าจะคาร์บต่ำ ไขมันต่ำ การทำ Intermittent fasting หรือจะใช้อาหารสูตรต่าง ๆ พบว่า สุดท้ายปลายทางที่ประมาณหนึ่งปี น้ำหนักที่ลดลงก็พอ ๆ กัน ไขมันสะสมก็ลดพอ ๆ กัน 🔴🔴ดังนั้นให้เลือกสูตรที่เราสามารถทำได้ในระยะยาว🔴🔴 เพราะหากโหมลดพลังงานมาก จะทำได้แค่ช่วงสั้น ๆ แล้วล้มเหลว 


6. สูตรที่ทางชมรมแนะนำ เป็นสูตรที่เรียกว่า balanced low calorie diet คือกินอาหารให้ครบทุกหมู่ ไม่ได้เน้นว่าจะลดอะไรเด่นกว่าอะไร แต่ลดพลังงานโดยรวมลง อย่างที่เขียนในข้อสี่ อาหารสูตรนี้จะมีการลดลงของน้ำหนักไม่มาก แต่จะสามารถทำได้ในระยะยาว จะเห็นผลการลดน้ำหนักในระยะยาวตั้งแต่ 10-12 เดือนขึ้นไป 🔴🔴เน้นคือ ทำต่อเนื่อง อย่าดีแตก🔴🔴


7. การออกกำลังกายร่วมด้วยเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เราเผาผลาญพลังงานได้ดี ช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อไม่ให้หายไป เวลาลดน้ำหนักจะลดพร้อมกันทั้งไขมันและกล้ามเนื้อ แต่เราไม่อยากลดกล้ามเนื้อ จึงต้องออกกำลังกายหรือ🔴🔴เพิ่มกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันให้มากขึ้น เดินไกลขึ้น ขึ้นบันได 🔴🔴


8. ยาลดน้ำหนัก จะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ โดยการควบคุมของแพทย์ มีการติดตามผลข้างเคียงอย่างสม่ำเสมอ ถ้าใช้แล้วน้ำหนักไม่ลดลงก็ให้เลิกใช้ และที่สำคัญจะต้องผ่านการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และปรับทัศนคติมาระยะหนึ่งแล้ว จึงพิจารณาใช้ เพราะผลลดน้ำหนักของยามีเพียงชั่วคราว เลิกกินก็น้ำหนักเด้ง **หากไม่ทำการควบคุมอาหารและออกกำลังกายจนเต็มที่เสียก่อน**


9. ยาลดน้ำหนักที่มีใช้ในไทย

▪phentermine/diethypropion  ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทรุนแรง ต้องใช้ภายใต้การควบคุม ใช้นานเกินไปอาจเกิดภาวะทางจิตประสาทได้

▪orlistat ลดการย่อยไขมันที่ลำไส้ ลดน้ำหนักได้น้อย ประมาณ 3 กิโลกรัมในสี่ปี ข้อเสียคือ อุจจาระมันมาก อาจมีไขมันไหลออกทางทวารหนัก และขาดวิตามินละลายในไขมันหากใช้นาน ๆ 

▪liraglutide ยาเบาหวานที่มีผลน้ำหนักลดลง แต่ใช้มากกว่ารักษาเบาหวานสองเท่าคือ 3 มิลลิกรัมต่อวัน ราคาแพงแต่ลดน้ำหนักไม่มาก


10. การผ่าตัด ทำเมื่อน้ำหนักมากคือดัชนีมวลกายมากกว่า 40 หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 และมีโรคร่วมที่หากอ้วนจะแย่ลง โดยต้องผ่านการควบคุมอาหารและออกกำลังกายมาเต็มที่แล้ว การผ่าตัดคือการผ่าตัดบายพาสกระเพาะและลำไส้ หรือตัดพื้นที่กระเพาะออกไป (การใส่บอลลูนกระเพาะอาหารไม่ช่วยอะไรในระยะยาว) แต่ผลข้างเคียงการผ่าตัดมีมากพอควร และต้องดูแลโภชนาการไปตลอดชีวิตเพราะการย่อยและการดูดซึมเสียไป


ยังมีรายละเอียดที่จะค่อย ๆ มาสอดแทรกต่อไป โดยเฉพาะเรื่อง intermittent fasting ที่นิยมกันมาก อ่านมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้เขียนสักที ช่วงนั้นอกหักเลยหมดแรงเขียนครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น