17 กันยายน 2563

ติดเชื้อไวรัสซิคะ (zika)

 ติดเชื้อไวรัสซิคะ (zika) .. ซิคะ ... ไวรัสซิก้า ต่างหาก!!!


ไข้ซิก้า เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับ ไข้เลือดออกเดงกี่และไข้ปวดข้อยุงลายชิคุนกุนย่า ติดต่อทางยุงเป็นหลัก ยุงก็เป็นยุงตัวเดียวกับไข้เลือดออก แต่ก็จะมียุงสายพันธุ์อื่นประปราย นอกเหนือจากติดต่อทางยุงแล้ว ยังมีรายงานการติดทางเลือด การติดผ่านรก และการติดต่อทางเพศสัมพันธ์

รายงานในปี 2009 พบคนที่เดินทางไปในแดนระบาดแล้วติดเชื้อไปสู่คู่นอน ประเด็นนี้ทำให้มีคำแนะนำว่าหากเข้าไปในแดนระบาด ในระยะเวลาระบาด หรือมีอาการสงสัย อาจต้องงดมีเพศสัมพันธ์ เพื่อการตั้งครรภ์ 3 เดือน (ไม่ได้ระบุว่าเพศสัมพันธ์เพื่อความบันเทิงต้องงดหรือไม่)

ตัวโรคเองไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก หายเองได้ โรคจึงไม่ได้รับการสนใจมากนัก เชื้อซิก้าเองก็เป็นเชื้อประจำถิ่นที่ระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานาน ตัวโรคซิก้าจึงไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่ประเด็นที่ทำให้โรคนี้ได้รับความสนใจขึ้นมาคือ ปัญหาเรื่องเด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อซิก้าจะมีศีรษะเล็กกว่าเกณฑ์

เนื่องจากมีรายงานออกมาอย่างชัดเจนว่า เด็กที่เกิดจากแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ zika จะมีโอกาสเกิดความผิดปกติแต่แรกเกิดคือ ศีรษะเล็กกว่าเกณฑ์ หรือ มีการเจริญเติบโตของสมองที่ด้อยลงได้

ข้อมูลรายงานจากวารสาร NEJM เก็บข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ในโคลัมเบีย พบว่ามีความผิดปกติของสมองหรือดวงตาประมาณ 2% ของจำนวนคนที่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อและติดตามผล (ย้ำคือจากคนที่ได้รับการตรวจและติดตามครับ) ตัวเลขโดยเฉลี่ยทั้งโลกประมาณ 5-10%

นี่คือหลักฐานที่บอกว่า เมื่อมีการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน เราจะเห็นการมีอยู่ของโรคซิก้าและผลที่เกิดของโรคซิก้า แต่เนื่องจากการเก็บข้อมูลซิก้านั้นมีไม่มาก เพราะมันไม่ใช่โรคที่รุนแรงจนเกิดปัญหา ไม่ว่าที่ประเทศไทยหรือทั้งโลก

จากข้อมูลชุดเดิมใน NEJM เก็บข้อมูลคนท้องที่มีอาการเข้าได้กับการติดเชื้อซิก้า 18117 ราย มีคนที่ได้ทำการทดสอบการติดเชื้อแค่ 45% และมีเพียง 33% ที่ได้ผลบวกจากที่ได้ทำการทดสอบ นั่นคือตัวเลขผู้ติดเชื้อ สถานการณ์จากที่รายงานน่าจะน้อยกว่าความจริงอยู่มาก เพราะได้รับการตรวจน้อย ทั้งจากอาการไม่เด่นชัด การตรวจไม่สามารถทำได้ง่าย และการขาดความรู้ความเข้าใจ

ข้อมูลจากไทยใน lancet infectious 2019 เก็บข้อมูลคนที่มาโรงพยาบาลและมีอาการคล้ายการติดเชื้อซิก้านำมาวิเคราะห์ โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่ มกราคม 2016 จนถึงธันวาคม 2017 จำนวน 1, 717 ราย พบการยืนยันการติดเชื้อจากผลเลือด 368 ราย ได้พบความจริงอันหนึ่งคือ โอกาสที่ผลการทดสอบจะเป็นบวก หมายถึงสัมผัสเชื้อซิก้าจะสูงเป็น 2.8 เท่า หากผู้นั้นมาจากพื้นที่ที่มีรายงานการตรวจพบก่อนหน้า หรือมีการระบาดเมื่อปีที่แล้ว

อาจจะต้องมีการสอบสวนโรคหรือลงพื้นที่คัดกรองหรือสืบหาโรคหากมีการรายงานการติดเชื้อ ค่อย ๆ เก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ น่าจะได้ข้อมูลการติดเชื้อซิก้าในประเทศเรามาได้ เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน อาการน้อย ตรวจน้อย ตระหนักน้อย

เมื่อได้ข้อมูลผู้ติดเชื้อและหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ จะสามารถติดตามได้ว่าในประเทศเรา มีผู้ติดเชื้อที่ตั้งครรภ์และมีความผิดปกติของทารกเป็นตัวเลขเท่าไรกันแน่

มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขเก็บข้อมูลเดือนมกราคม 2016 ถึง ธันวาคม 2017 รวบรวมข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ 150 รายที่ตรวจพบการติดเชื้อซิก้า พบว่า เกิดรอด 132 คน แท้ง 6 คนและ สองในหกคนมาจากแม่ที่ติดเชื้อซิก้า

4 รายจาก 150 รายมีความผิดปกติของศีรษะ ศีรษะเล็ก 2 รายและความผิดปกติของระบยประสาทส่วนกลาง 2 ราย นับว่าน้อยมาก แต่ก็มาจากการเก็บข้อมูลที่ยังไม่มากพอ

ปัจจุบันในประเทศไทยแนะนำตรวจซิก้าเมื่อ

1. ตั้งครรภ์แล้วเกิดไข้ออกผื่

2. ไข้ออกผื่นเป็นกลุ่ม

3. ทารกศีรษะเล็ก

4. มีอาการ Gillian Barre Syndrome หลังป่วยติดเชื้อไวรัส

ยังไม่มีการคัดกรองหรือสอบสวนเป็นวงกว้างครับ

หลายประเทศ รวมถึง International Associations for Medical Assistance to Travellers (IAMAT) เตือนว่ามีการแพร่ระบาดและควรระมัดระวังหากวางแผนตั้งครรภ์หลังกลับจากประเทศไทยในช่วงสามเดือน สอดคล้องกับข้อมูลการระบาดที่ยังไม่ทราบตัวเลขชัดเจนในไทย

ถามว่าแล้วใครจะตั้งครรภ์ในประเทศเราที่เป็นแดนระบาดเป็นอย่างไร คำตอบจริง ๆ คือไม่รู้ครับ แต่ก็ไม่ได้ห้ามตั้งครรภ์นะครับ ยิ่งหายาก ๆ อยู่ด้วย จากข้อมูลประเทศอื่น ๆ และจากข้อมูลที่มีบ้างของเรา บอกว่าโอกาสเกิดอันตรายน้อยมากครับ

ขอให้โชคดีและมีโอกาสตั้งครรภ์ครับ

ที่มา
1.Long-term circulation of Zika virus in Thailand: an observational study. Ruchusatsawat, Kriangsak et al.The Lancet Infectious Diseases, Volume 19, Issue 4, 439 - 446

2.N Engl J Med 2020; 383:537-545

3.Atichat Kuadkitkan, Nitwara Wikan, Wannapa Sornjai, Duncan R. Smith,Zika virus and microcephaly in Southeast Asia: A cause for concern?,Journal of Infection and Public Health,Volume 13, Issue 1,2020,Pages 11-15,

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น