เรื่องเล่าจากห้องตรวจ
"การฟัง เป็นการตรวจที่ดีที่สุด"
ผู้ป่วยหญิงอายุ 60 ปี บ้านอยู่ตำบลห่างไกล บุตรสาวสองคนไปทำงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก นาน ๆ จึงได้กลับบ้าน ช่วงโรคโควิดระบาดไม่ได้กลับมาเลย ผู้ป่วยพักอาศัยกับญาติพี่น้องสามคน มีอาการวิงเวียนศีรษะบ่อย ๆ ในช่วงหกเดือนมานี้ ไปหาหมอหลายครั้งหลายที่อาการไม่ดีขึ้นเลย สามเดือนหลังมานี้วิงเวียนและเดินไม่ค่อยมั่นคง จึงไม่อยากเดิน เวลาไปหาหมอแต่ละครั้งก็นั่งรถเข็นเพราะว่าวิงเวียน ผู้ป่วยไม่มีอาการอาเจียน ไม่มีไข้ ลูกสาวสังเกตว่าระยะหลังมานี้เวลาโทรกลับมาที่บ้าน คุณแม่จะพูดไม่คล่องเหมือนเดิม อึกอัก ๆ
⛔⛔ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังตัวเองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ คือ อาการวิงเวียน แม้จะพบบ่อยและส่วนมากหายเองได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นเลย ต้องคิดเสมอว่า มันมีโรคที่ยังไม่ได้แก้ไข ⛔⛔
⛔⛔ ข้อสังเกตของลูกสาวสำคัญมาก คือ รู้สึกว่าคุณแม่พูดโทรศัพท์แปลกไป อาจจะบ่งชี้ถึงโรคจริง ไม่ว่าโรคในสมองหรือโรคของระบบฮอร์โมน พิษวิทยา ⛔⛔
ผู้ป่วยร่างกายแข็งแรงดีมาตลอด ไม่มีโรคประจำตัวและไม่ใช้ยาใด ระยะหลังนี้ดูซึมลง และหงุดหงิดตัวเองที่วิงเวียนจนเดินเหินไม่สะดวก ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลง ตรวจร่างกายพบว่าสัญญาณชีพปรกติดี ตรวจร่างกายทั่วไป ระบบหัวใจ หายใจ ช่องท้อง กระดูกและข้อ ปรกติดี ส่วนการตรวจร่างกายทางระบบประสาท พบว่าผู้ป่วยพูดจาตอบสนองช้า มีตอบคำถามผิดจากความปรกติวิสัยหลายครั้ง เมื่อให้ผู้ป่วยลุกเดินเพื่อตรวจอาการวิงเวียน พบว่า ผู้ป่วยลุกไม่ขึ้นเพราะกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง ตรวจกล้ามเนื้อแขนปรกติดี การรับความรู้สึกผิดปรกติ เคาะเส้นเอ็นเพื่อตรวจปฏิกิริยาสนองตอบ พบว่าความไวที่ขานั้นไวกว่าปรกติ
⛔⛔ ผู้ป่วยเดินไม่ได้ ไม่ใช่เพราะวิงเวียนจนเดินไม่ได้ แต่เพราะขาสองข้างอ่อนแรงลง และเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมอาการตอบสนองทางการคิดที่เริ่มถดถอย แต่ที่ผ่านมา ผู้ป่วยนั่งตรวจบนรถเข็นตลอด ทำให้อาการขาสองข้างอ่อนแรงกลายเป็น "อาการสำคัญที่มองไม่เห็น" ⛔⛔
⛔⛔ ขาอ่อนแรงสองข้าง มีตำแหน่งการเกิดโรคทางระบบประสาทไม่กี่อย่าง ในผู้ป่วยรายนี้มีการตอบสนองกล้ามเนื้อ (deep tendon reflex) ไวกว่าปรกติ บวกกับการรับรู้และพฤติกรรมที่เปลี่ยน อาจต้องคิดถึงรอยโรคในสมอง โดยเฉพาะตรงส่วนกลางสมอง ที่อยู่ชิดกันตรงกลาง (parasagital) ที่รับผิดชอบการเคลื่อนที่ของขา ⛔⛔
เอาล่ะ เราจะพอแค่นี้ ภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองก็พบมีก้อนเนื้อขนาดใหญ่ในสมอง มีการกดเบียดบริเวณที่คิดถึงจากประวัติ และกดเบียดที่อื่นด้วย เพราะประเด็นที่เราได้จากเรื่องนี้คือ
การซักประวัติและการตรวจร่างกาย ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในวิชาแพทย์ โดยเฉพาะในรายที่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือในรายนี้ที่อาการแย่ลง การรับฟังเรื่องราว คิดตาม ปะติดปะต่อและจินตนาการ ถึงสิ่งที่ผู้ป่วยอาจจะป่วยได้ และยืนยันด้วยการตรวจร่างกาย เป็นวิธีที่คลาสสิก แม่นยำ และเลอค่า
การตรวจอาการวิงเวียน หนึ่งในนั้นคือการตรวจร่างกายระบบการทรงตัวและสมองส่วนซีรีเบลลัม หากผู้ป่วยลุกยืนได้ ควรให้ผู้ป่วยลุกยืนและเดิน หนึ่งนาทีที่ผู้ป่วยลุกยืนเดิน จะบอกข้อมูลได้หลายอย่างมาก ทั้งความสมดุล กำลังขา กำลังแขน การทรงตัว สายตา การรับรู้สัมผัส อย่างกรณีผู้ป่วยรายนี้ ที่เธอเดินเซ ไม่ใช่เพราะวิงเวียนแต่เป็นเพราะกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง การนั่งตรวจบนรถเข็นจะไม่สามารถให้ข้อมูลได้ดีกว่าการยืนเดินแน่นอนครับ
แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้า ล้ำสมัย ไวและจำเพาะเพียงใด การตรวจโดยการซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างมีสติและไตร่ตรอง ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดทางการแพทย์ และเหนือกว่านั้น คือ
"การฟังอย่างใส่ใจและตั้งใจในปัญหาของผู้ป่วย" ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น