31 สิงหาคม 2563

แนวทางหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว atrial fibrilation สำหรับประชาชน

 แอบบอก .. แนวทางหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว atrial fibrilation สำหรับประชาชน

1. ถ้ามีอาการใจสั่นก็พอจะหาโรคเจอได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจับชีพจร ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ติดอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่ถ้าไม่มีอาการนี่แหละปัญหา เพราะจะเกิดเรื่องเมื่อมีผลแทรกซ้อนแล้ว ดังนั้น อย่าละเลยกับปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเฉพาะถ้าคุณอายุเกิน 65

2. ตอนนี้ยังไม่มีวิธีคัดกรองที่สะดวกมากพอ เราฝากความหวังไว้อย่างมากกับอุปกรณ์ติดตามตัว ที่ต้องรอการศึกษาต่อไป เพราะเท่าที่มีตอนนี้ก็ตรวจจับได้ไม่มาก และที่พบมาก ๆ และชัดเจนจากการศึกษาคือ เมื่อเครื่องมันเตือนแล้วไปหาหมอเพื่อยืนยัน ถ้ามีเครื่อง ใช้แล้วก็เฉย ๆ คงไม่เกิดประโยชน์อะไร

3. ข้อสำคัญสามประการคือ
ประเมินความเสี่ยงอัมพาต และป้องกันด้วยวิธีใด ๆ (ใช้ยาเป็นหลัก)
ควบคุมอาการ โดยใช้ยาเป็นหลัก การทำหัตถการหลอดเลือดและผ่าตัดทำเมื่อมีอาการรุนแรง ยาควบคุมไม่ได้
ควบคุมโรคร่วมอื่น เพราะเจ้า AF มันจะไปเกี่ยวข้องกับหลายโรค เปลี่ยนการรักษาหลายโรค เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจที่ต้องให้ยาต้านเกล็ดเลือดร่วมด้วย

4. อนาคตจะมีการตรวจ AF มากขึ้นและประเมินให้ยามากขึ้น ยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะถูกใช้มากขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าหากท่านได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาก็ไม่ต้องกลัว หากใช้ยาและควบคุมอย่างดี ประโยชน์มากกว่าโทษชัดเจนครับ เนื่องจากยาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวใหม่ ๆ ยังไม่บรรจุในบัญชียาหลัก แต่ยา warfarin ก็ยังทำหน้าที่ของมันได้ดี ขอแค่ติดตามการรักษา ปฏิบัติตามข้อแนะนำการใช้ยา และเจาะเลือดสม่ำเสมอ

5. การใช้ยาควบคุมอาการจะมากขึ้น โดยเฉพาะพกยาติดตัวแล้วหยิบมากินเมื่อมีอาการ หากใครใช้ยาต้องแจ้งแพทย์เวลาเจ็บป่วย ต้องมีบัตรติดตัว คุณหมอทั้งหลายคงต้องอ่านการใช้ยามากขึ้นเพราะจะพบยาในกระเป๋าเสื้อคนไข้มากขึ้น

6. มีการรักษาโดยการแก้ไขจังหวะการเต้นหัวใจให้เป็นปรกติ ไม่ว่าจะใช้ยา จะช็อตไฟฟ้า จะใส่สายสวน จะผ่าตัด แต่ทำเมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น ที่สำคัญคือ ทำเมื่อควบคุมทุกอย่างด้วยยาไม่ได้ หรือมีข้อจำกัดการใช้ยา ... การตรวจจับโรค การประเมิน การใช้ยา การติดตามผล ยังเป็นความสำคัญที่สุดอยู่ดี

7. ว่าง ๆ ให้ลองจับชีพจรเล่นสักหนึ่งนาที ถ้าเต้นด้วยอัตราเร็วไม่เท่ากัน ความแรงก็ไม่เท่ากัน จังหวะก็ไม่สม่ำเสมอ ไปบอกหมอนะครับ และคุณหมอต้องใส่ใจปัญหานี้เช่นกัน เพราะการรักษาและป้องกันตั้งแต่เริ่ม ลดผลแทรกซ้อนลงได้มาก อ้อ.. การวินิจฉัยยังต้องใช้ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมาตรฐานนะครับ จะใช้นาฬิกา **ที่ยืมเพื่อนมา** ไม่ได้

8. ที่ผ่านมาจะเห็นว่าผมเน้นเรื่องของการใช้ยาเป็นหลักครับ เพื่อควบคุมอาการและลดโรคแทรกซ้อนในระยะยาว อย่ากลัวว่ากินยาแล้วจะเป็นอันตราย เรื่องนี้พิสูจน์มาแล้วว่า ถ้าจำเป็นแล้วนั้น กินยาต่อเนื่องได้ประโยชน์และปลอดภัยกว่าแน่นอน

9. แถม .... การดื่มเหล้า เพิ่มโอกาสการเกิด AF และอันตรายจากการรักษา AF แต่การดื่มกาแฟ ปริมาณปรกติ ช่วยลดโอกาสเกิด AF อาการใจสั่นที่เกิดเป็นอาการที่ไม่เกี่ยวกับ AF (ถืกใจข้อยหลาย)

หัวใจสั่นพลิ้วยังพอคุมได้
หัวใจมักง่ายยากจะคอนโทรล

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น