22 มิถุนายน 2563

การลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งตับ

การลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งตับ
จากข่าวการเสียชีวิตของคุณศรัณยู วงษ์กระจ่าง นักแสดงเจ้าบทบาทด้วยโรคมะเร็งตับ ทำให้มีความสนใจเรื่องมะเร็งตับกันอย่างแพร่หลาย
มะเร็งตับยังเป็นมะเร็งที่แทบไม่มีอาการในระยะแรก และเมื่อมีอาการส่วนมากจะเข้าสู่ระยะท้ายของโรคแล้ว หลายคนเมื่อทราบอาการก็อาจจะแพร่กระจายไปแล้วด้วย เทคโนโลยีและการศึกษาในปัจจุบันบอกพวกเราว่า การคัดกรองมะเร็งตับเพื่อตรวจหามะเร็งในระยะแรก ยังไม่คุ้มค่าและไม่มีความไวความจำเพาะมีมากพอ ปัจจุบันจึงมีแนวทางเพื่อลดความทุกข์ทรมานและลดความสูญเสียจากมะเร็งตับคือ
● ลดปัจจัยเสี่ยงที่พึงลดได้
● เฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับในผู้ที่มีความเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่พึงลดได้ในปัจจุบันคือ
1. ไวรัสตับอักเสบบี ควรทราบสถานะไวรัสตับอักเสบของตัวเอง ติดตามและรักษาหากพบว่าติดเชื้อ และสวมถุงยางเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การรักษาไวรัสตับอักเสบบีจะช่วยลดการเกิดตับแข็งได้ดี ตับแข็งและมะเร็งตับคือผลแทรกซ้อนสำคัญของไวรัสตับอักเสบบี
2. ไวรัสตับอักเสบซี ควรทราบสถานะไวรัสตับอักเสบซีของตัวเอง และสนับสนุนให้รักษาหากเข้าเกณฑ์ เพราะผลการรักษาดีมาก ลดการเกิดมะเร็งตับ
3. เลิกเหล้า ลดเหล้า แม้ว่าแอลกอฮอล์จะไม่ใช่สาเหตุอันดับหนึ่งของมะเร็งตับ แต่เนื่องจากปริมาณคนที่ดื่มเหล้ามีมากมาย ปัญหาแอลกอฮอล์จึงสำคัญมาก การลดเหล้าเลิกเหล้าจะช่วยลดการเกิดตับแข็ง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับ
4. รักษาสุขภาพโดยรวม ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ลดของมัน จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคไขมันพอกตับ และตับอักเสบจากไขมัน อันเป็นปัจจัยเสี่ยงอันหนึ่งของการเกิดมะเร็งตับ
5. ระมัดระวังการรับสาร aflatoxin และ aristolochic acid ประเด็นนี้อาจต้องอาศัยนโยบายทางปกครองและข้อกฎหมาย เพราะสารนี้จะพบปนเปื้อนในธัญพืชที่มีความชื้นสูง และน้ำมันธัญพืช มันสำปะหลัง พวกเราอาจจะระมัดระวังได้โดยการเก็บอาหารจากธัญพืชให้แห้ง หลีกเลี่ยงความชื้น
การเฝ้าระวังมะเร็งตับในกลุ่มเสี่ยง (Hepatocellular Carcinoma Surveillance)
ย้ำนะ ... **ไม่ใช่การคัดกรอง เพราะการคัดกรองจะทำกับคนทุกคน แต่นี่คือการเฝ้าระวัง คือเราจะทำเฉพาะในคนที่มีโอกาสเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับ เช่น โรคตับแข็ง โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โรคความผิดปกติจากพันธุกรรมหรือตั้งแต่กำเนิด
โดยการใช้ภาพรังสี ที่ได้รับความนิยมเพราะมีความไว ไม่รุกล้ำ ราคาไม่แพง และทำได้ทุกที่ คือการตรวจอัลตร้าซาวนด์ช่องท้อง ส่วนการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอ็มอาร์ไอ อาจจะเลยจุดคุ้มทุนในกรณีทั่วไป เลือกทำเพียงบางคน
อีกวิธีคือ การตรวจหาสาร AFP ในผู้ที่เสี่ยงเท่านั้น ซึ่งต้องตรวจต่อเนื่องกันทุกปี *** ย้ำอีกครั้งว่า ไม่ใช้ AFP เพื่อคัดกรองมะเร็งตับในคนปรกติอย่างเด็ดขาด และถึงแม้ในคนที่เสี่ยงเป็นมะเร็ง การพบ AFP ในระดับสูงเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถวินิจฉัยมะเร็งได้เช่นกัน ***
ส่วนปัจจัยทางพันธุกรรม โรคแต่กำเนิด ความเสี่ยงทางยีน อันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา และถึงแม้พบจริงก็อาจปรับเปลี่ยนได้ยากครับ
"ทำปัจจุบันขณะให้ดีก่อนเสมอ"
ขออุทิศผลแห่งกรรมดีที่เกิดจากบทความนี้ให้ คุณศรัณยู วงษ์กระจ่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น